นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มองว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ปัญหาโรคระบาด ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายพิเศษของไทย มั่นใจนานาชาติเข้าใจสถานการณ์
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลว่า ต้องเข้าใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ใช้เฉพาะกับสถานการณ์ความรุนแรงเท่านั้น แต่ใช้กับภัยคุกคามรูปแบบอื่นได้ด้วย ยอมรับว่าไม่เคยใช้กฎหมายนี้กับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ใหม่ ต่างจากที่ผ่านมาเคยประกาศใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมในกรุงเทพฯ และใช้ควบคุมสถานการณ์ในภาคใต้ โดยต่ออายุขยายเวลาการใช้คราาวละ 3 เดือนมาแล้วกว่า 50 ครั้ง
อาจารย์ปณิธาน อธิบายว่า การใช้อำนาจพิเศษในบางช่วงเวลานับว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินในบางสถานการณ์ โดยคณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาร่วมกันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความมั่นคง, ประชาชน หรืออยู่ในภาวะคับขันหรือไม่ สำหรับการประกาศในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องโรคระบาด ก็ต้องมีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เข้าไปนั่งบริหารสถานการณ์ร่วมกับนายกฯด้วย ดังนั้นจึงเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากอดีตที่ใช้ในเรื่องการชุมนุมและแก้ปัญหาภาคใต้
เมื่อประกาศ พ.ร.ก.แล้ว หลังจากนี้จะมี "ข้อกำหนด" เป็นมาตรการออกมา เช่น ห้ามบุคคลเดินทาง, ห้ามการชุมนุมหรือรวมตัวกัน, ห้ามเสนอข่าวบางเรื่อง, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือสั่งอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ต้องดูถึงความเหมาะสม แม้ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะให้อำนาจเต็มกับนายกฯ แต่การใช้ข้อกำหนดก็ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ และต้องมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองคำสั่ง รวมถึงมาตรการต่างๆ พร้อมใช้กำลังทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร เพื่อประกอบการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
อาจารย์ปณิธาน ยกตัวอย่างว่า สมมุติมีการประกาศเคอร์ฟิว (มาตรการห้ามออกจากเคหะสถานในเวลาที่กำหนด) แล้วพบบุคคลฝ่าฝืน เจ้าพนักงานสามารถจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องขอหมายจับจากศาล สามารถคุมตัวได้ 7 วันถึง 30 วัน หรืออาจปล่อยตัวก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าคลี่คลายหรือยุติลงหรือยัง
ส่วนประเด็นที่ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะทำให้เกิดความกังวลในสายตานานาชาติหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ อาจารย์ปณิธาน บอกว่า โควิด-19 ระบาดไปกว่าร้อยประเทศทั่วโลก ดังนั้นเชื่อว่านานาชาติจะเข้าใจ หลายประเทศก็ออกมาตรการห้ามแบบนี้ แต่จะประกาศบนฐานของกฎหมายที่ต่างกันในแต่ละประเทศ
อาจารย์ปณิธาน บอกด้วยว่า การประกาศใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็น "ยาแรง" เกือบขั้นสุดของอำนาจพิเศษที่กฎหมายให้กับฝ่ายบริหาร ซึ่งกฎหมายพิเศษลักษณะนี้มีด้วยกัน 3 ฉบับ คือ
- พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จะให้อำนาจ กอ.รมน.ในการบริหารและแก้ไขสถานการณ์ที่กระทบกับความมั่นคง ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหากรัฐบาลประกาศใช้ ต้องรายงานผลการปฏิบัติต่อสภา เพื่อให้มีการสอบถามตรวจสอบด้วย
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯสามารถดำเนินการได้เอง คือประกาศไปก่อนแล้วขอมติ ครม. หรือประกาศโดยมติ ครม.ก็ได้ อำนาจทั้งหมดจะมาอยู่ที่นายกฯ และนายกฯเป็นผู้บัญชาการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เป็น "เจ้าพนักงาน" ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และเจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา หากกระทำการโดยสุจริตและไม่เกินกว่าเหตุ
- กฎอัยการศึก ให้อำนาจทหาร ใช้เฉพาะกรณีพิเศษจริงๆ เช่น ทำการรบ หรือสงครามกลางเมืองที่ต้องใช้อำนาจทหาร
"จะเห็นได้ว่ากฎหมายแต่ละฉบับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่เรื่องนี้ทราบว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ได้มีการศึกษาเพื่อเชื่อมแผนฉุกเฉินแห่งชาติเข้ากับการทำงานของทุกหน่วยงาน รวมถึงภาคประชาชนและเอกชน เพื่อใช้เป็นยาแรงในการรักษาโรคให้หาย ไม่ใช่แค่ห้ามเลือดเท่านั้น" อดีตที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าว
-------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด?