การตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลลุงตู่ เป็นไปตามรายงานการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายความมั่นคง ที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.
ปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขนำมาสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็คือระดับความรุนแรงของการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีองค์ประกอบต่างๆ ครบเกือบทั้งหมดว่าเป็นการระบาดในระดับ "รุนแรง" ได้แก่
- ติดเชื้อจากคนในประเทศ และไม่สามารถสืบสวนโรคได้ ซึ่งแม้ในทางการแพทย์จะยังเป็นที่ถกเถียง แต่ในความรู้สึกของประชาชนรู้สึกว่ามีการติดเชื้อกันเองจากคนในประเทศ และไม่สามารถสืบสวนโรคได้แล้ว
- มีการระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
- มีข้อจำกัดด้านการรักษา เช่น จำนวนเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย หรือบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดก็เกิดปรากฏการณ์นี้แล้วในประเทศไทย
- มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
- เกิดปรากฏการณ์กักตุนสินค้าและเวชภัณฑ์
- มีเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอม
ทั้งหมดนี้คือเหตุปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราอยู่ในระดับ "รุนแรง" แล้ว และนี่คือเหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับมาตรการที่จะออกตามมา (ในทางกฎหมายเรียกว่า "ข้อกำหนด" ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ก็คือ
1. ประกาศเขตควบคุม อาจจะเป็นพื้นที่ที่ห้ามเดินทางเข้า-ออก ห้ามเคลื่อนย้ายคน หรืออพยพคน และห้ามออกจากบ้าน
2. ปิดกั้นช่องทางเข้า-ออกการเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง เป็นมาตรการต่อเนื่องจากข้อ 1
3. ปิดสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน 100% หรือเกือบ 100% โดยให้เรียนออนไลน์ และทำงานที่บ้าน หรือ work at home / work from home
4. ทุกส่วนราชการใช้แผนเผชิญเหตุ
ล่าสุดทาง ศอฉ. หรือศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินได้ออก "ข้อกำหนด" ฉบับที่ 1 ออกมาแล้ว มีทั้งสิ้น 16 มาตรการ
สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เท่าที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินเอาไว้ ก็คือ
- กระแสแตกตื่นของประชาชน อาจมีความพยายามเดินทางหรือกักตุนสินค้า
- กระแส Social Distancing หรือระยะห่างทางสังคม ที่อาจลุกลามเป็นการรังเกียจกันเอง
- การทำงานที่บ้านที่อาจยังไม่มีความพร้อม
- การเตรียมแผนเยียวยา หรือฟื้นฟูไม่ครอบคลุมมากพอ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหากต้องปิดเมืองยาวเพื่อรอวัคซีนป้องกันโควิด
รายงานของ สมช. และ กอ.รมน.ยังได้ประเมินความเป็นไปได้จากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นกว่าปัจจุบัน โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าประชาชนต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังด้วย ผลก็คืออัตราการแพร่เชื่อสู่ผู้อื่นจะลดลงเหลือ 1 : 1.6 คน สุดท้ายจะมีผู้ติดเชื้อแสดงอาการราว 4 แสนคนในระยะเวลา 2 ปี และโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ระบาดตามฤดูกาล
แต่หากไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่มีมาตรการพิเศษ หรือประชาชนไม่ร่วมมือ คาดการณ์ว่าการระบาดจะยาวถึง 2 ปี มีผู้ติดเชื้อแสดงอาการมากถึง 9.9 ล้านคนใน 2 ปี
ดูเหมือนประเทศไทยจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด?