ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องโควิด-19 เพิ่มเติม ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงมีการประชุมด่วนผ่านระบบวีดีโอเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อชัตดาวน์เมือง
ประธานในที่ประชุมคือ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผลการประชุมสรุปว่า ให้ปิดการเดินทางเข้าสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึง 30 เม.ย.
ให้ปิดชายแดนทั้งหมด รวมถึงช่องทางธรรมชาติทุกช่องทาง อนุโลมให้คนไทยที่ตกค้างในประเทศมาเลเซียเดินทางเข้าทางด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่ต้องผ่านการคัดกรอง และกักตัวในบ้านของตนเอง
ส่วนการปิดการเข้า-ออกทางถนน ให้ปิดด่านควนมีด ด่านโต้นนท์ และด่านถาวรทั้ง 23 ด่านในพื้นที่ชายแดนใต้ (หมายถึงปิดไม่ให้รถทุกประเภทผ่าน ยกเว้นรถที่ได้รับอนุญาต) รวมทั้งจุดที่เคยตั้งเป็นจุดให้บริการประชาชนห้วงเทศกาล จุดตรวจหน้าฐานปฏิบัติการ และจุดตรวจบนเส้นทางที่เข้าสู่พื้นที่เมือง
การอนุญาตให้รถคันใดผ่านเข้า-ออก ให้อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ด่านน้ันๆ ซึ่งแต่ละด่านจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมกัน โดยให้ตำรวจเป็นหน่วยหลัก สำหรับรถส่งสินค้า รถส่งอาหาร ให้ผ่านด่านได้โดยมีการคัดกรอง
นอกจากนั้นให้จัดชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ ตั้งจุดตรวจเส้นทางในภูมิประเทศ ซึ่งหมายถึงในระดับหมู่บ้าน ตำบล หรือถนนสายชนบท พร้อมแจ้งประชาชนไม่ให้เดินทางโดยไม่จำเป็น
คำสั่งของที่ประชุม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ระวังป้องกันตนเอง เพราะยังมีปัญหาความไม่สงบซ้อนอยู่ด้วย ขณะที่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการเข้ม ต้องอธิบายให้เห็นว่าในสามจังหวัดชายแดนภารคใต้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูง แต่เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงประชาชนด้วยความละมุนละม่อม ระมัดระวังการกระทบกระทั่งกับประชาชน พร้อมทำความเข้าใจกับผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจต่อไป
ส่วนมาตรการการใช้อาวุธ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ ให้ใช้อาวุธเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น พร้อมจัดชุดระวังป้องกัน รปภ.โดยรอบด่านตรวจทุกด่าน
"ปัตตานี-นราฯ-ยะลา" ผู้ว่าฯปิดเมือง
สำหรับมาตรการเข้มของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกรายจังหวัด
ที่ยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกคำสั่งด่วน "ปิดเมืองยะลา" ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระงับการเดินทางเข้า-ออกโดยยานพาหนะทุกประเภท ยกเว้นรถพยาบาล รถขนส่งสินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องมือทางการแพทย์ และยานพาหนะของส่วนราชการ
ส่วนกรณีประชาชนที่เดินทาง ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นรายกรณีไป
ขณะที่ปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีคำสั่งด่วนโดยอาศัยอำาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งด่านตรวจและจุดสกัดในเส้นทางเข้าพื้นที่จังหวัดปัตตานีทุกอำเภอ ทุกเส้นทาง โดยประกอบกำลัง 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อดูแลการเดินทางข้ามจังหวัด
โดยการตรวจเข้ม เน้นไปที่ 4 เป้าหมายสำคัญ ประกอบด้วย 1. ผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัย 2. ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 3. ผู้เดินทางจากต่างจังหวัด และ 4. ผู้เดินทางใน จ.ปัตตานี ที่มีพฤติกรรมสงสัยหรือเสี่ยงการติดต่อเชื้อโควิด-19
นราธิวาส นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกคำสั่งห้ามเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ พื้นที่ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ พื้นที่ ต.แว้ง อ.แว้ง พื้นที่ ต.มาโมง อ.สุคิริน พื้นที่ ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก และพื้น ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง โดยมีกำหนด 14 วัน ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.ถึงวันที่ 8 เม.ย.63
-----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้
พบ"กลุ่ม 132 คนไทย"ป่วยที่ปัตตานี-ยะลา!
เช็คชื่อ 132 คนไทย สธ.ยันติดเชื้อแล้ว 2 - ทัพ 4 ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน
งดละหมาดศุกร์ในกทม. - คุมเข้มแรงงานต้มยำ - ปัตตานีมีติดโควิด
ปัตตานียอดติดโควิดพุ่ง 7 ราย - สงขลาลุ้นอีก 12
พบโควิดครบ 3 จังหวัดใต้ - ตลาดยังแน่น - จี้ ศอ.บต.รวมศูนย์ให้ข้อมูล
สรุปยอดผู้ป่วยโควิดชายแดนใต้ ศอ.บต.เร่งรับมือ นศ.-แรงงานแห่กลับเพิ่ม
ชายแดนใต้เผชิญวิกฤติ "โควิด-ปิดด่าน-ยางถูกเท"
ปัตตานีชัตดาวน์! หลังผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 26 ราย
รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด?
ปณิธาน : งัด พ.ร.ก.สู้โรคระบาด...ประวัติศาสตร์กฎหมายพิเศษ
เปิดข้อมูลเบื้องหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สู้โควิด