“…กรณีการให้กู้แก่สมาชิกที่รวมกันทุกสัญญาแล้วตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป สหกรณ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สำหรับประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบ…”
.........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหา ‘หนี้สินทั้งระบบ’ โดยมอบหมายให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด
โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพตามความจำเป็น
นอกจากนี้ ครม.ยังมอบหมายให้ ‘คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย’ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ ในการประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ตามแต่กรณี เพื่อพิจารณาการดำเนินการลดภาระทางการเงินของลูกหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ของตนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วย ดังนี้
1.การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้จากลูกหนี้ 2.การกำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ และ 3.การใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น (อ่านประกอบ : โชว์มติ‘ครม.เศรษฐา’แก้หนี้‘ขรก-จนท.รัฐ’ กล่อม‘สหกรณ์’ลดดบ.กู้-หักจ่ายหนี้เหลือเงินใช้ 30%)
กระทั่งต่อมาวันที่ 5 ม.ค.2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ออกประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้าไปช่วยเหลือผ่อนปรนภาระหนี้ และช่วยเหลือให้สมาชิกมีรายได้รายเดือนคงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเงินได้รายเดือน โดยมีแนวทาง ดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการ ให้สหกรณ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษภายใต้โครงการฯ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี
(2) ระยะเวลาการชำระหนี ให้สหกรณ์ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ไปจนถึงอายุ 75 ปี
(3) หลักเกณฑ์ในการควบคุมยอดหนี้ ให้สหกรณ์ผู้พิจารณาเงินกู้คำนึงถึงภาระหนี้สินที่สมาชิกต้องชำระให้แก่สินเชื่อสวัสดิการกับสถาบันการเงินอื่นด้วย เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินได้รายเดือนคงเหลือหลัหักส่งชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเงินได้
(4) หลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้ สหกรณ์สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกถืออยู่กับสหกรณ์ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2567 วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ได้ลงนามประกาศ ‘คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิกอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม’ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยกู้ของ ‘สหกรณ์’ ให้แก่สมาชิก มีรายละเอียด ดังนี้
@กู้ทุกสัญญารวมตั้งแต่ 5 แสน ยื่นข้อมูล‘เครดิตบูโร’
สหกรณ์เกิดจากความเชื่อร่วมกันที่ว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคม ซึ่งยึดถือเป็นอุดมการณ์ของสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีหนี้เท่าที่จำเป็น และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ นายทะเบียนสหกรณ์จึงได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์ในการรับผิดชอบการให้เงินกู้แก่สมาชิกอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์การให้เงินกู้ใหม่อย่างมีคุณภาพ
การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิมโดยเฉพาะหนี้เรื้อรั้งและหนี้เสีย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมสมาชิกผู้กู้ ตลอดวงจรหนี้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้สหกรณ์ผู้ให้กู้ ให้กู้อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (1) ประกอบมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิก เพื่อเป็นแนวทางให้สหกรณ์ปฏิบัติ ดังนี้
1.การให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก ควรกำหนดให้เหมาะสมกับความต้องการของสมาชิก ความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิก และไม่กระตุ้นให้สมาชิกก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ให้สอดคล้องกับประเภทของเงินกู้ รวมทั้งเงื่อนไขสัญญาจะต้องมีความเป็นธรรมต่อสมาชิกผู้กู้
2.การประชาสัมพันธ์ สหกรณ์ต้องจัดให้มีการอธิบายข้อมูลรายละเอียดของบริการสมาชิกและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สมาชิกรับทราบและเข้าใจได้ง่ายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ให้เปิดเผยข้อมูลนั้น ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง
ข้อมูลรายละเอียดของบริการเงินให้กู้แก่สมาชิก ต้องมีการแสดงเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจนเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกในการเลือกใช้บริการเงินให้กู้ของสหกรณ์แต่ละประเภท
3.การเสนอเพื่อให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก สหกรณ์ต้องดูแลให้สมาชิกได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอบริการเงินให้กู้แก่สมาชิกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของสมาชิก และไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
@‘ผู้กู้’เหลือเงินสุทธิ หลัง‘หักหนี้’ไม่น้อยกว่า 30%
4.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ สหกรณ์ต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของสมาชิกผู้กู้อย่างเต็มที่เท่าที่สหกรณ์สามารถทำได้
โดยการให้กู้สหกรณ์ควรต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
(2) ความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้
(3) พฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ เช่น ประวัติการชำระหนี้ ประวัติการผิดนัดชำระหนี้ การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น เพื่อให้สหกรณ์มีข้อมูลการเป็นหนี้ของสมาชิกผู้กู้อย่างครบถ้วน สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างถูกต้อง และให้สหกรณ์พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
หรือกรณีการให้กู้แก่สมาชิกที่รวมกันทุกสัญญาแล้วตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป สหกรณ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สำหรับประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบ
(4) การกำหนดจำนวนงวดชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ที่มีอายุสัญญามากกว่า 3 ปี ขึ้นไป ควรกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้แต่ละราย โดยกำหนดชำระงวดสุดท้ายให้แล้วเสร็จ โดยที่สมาชิกผู้กู้ยังมีอายุไม่เกิน 75 ปี เว้นแต่การกู้เงินนั้น เมื่อรวมทุกสัญญาแล้วมีจำนวนไม่เกินค่าหุ้นและเงินฝากที่สมาชิกผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์
(5) เงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ควรมีเงินเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพของสมาชิก สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ควรมีเงินเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา
5.การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ สหกรณ์ต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่สมาชิกผู้กู้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมสมาชิกผู้กู้ เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกผู้ก็มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนีให้เป็นประโยชน์กับตนเอง
6.การให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้กู้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง สหกรณ์ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้สมาชิกผู้กู้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้สมาชิกผู้กู้เห็นทางหมดภาระหนี้สินได้
7.การให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้กู้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ สหกรณ์ต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้โดยเร็ว ตั้งแต่เมื่อมีสัญญาณว่า สมาชิกผู้กู้กำลังประสบปัญหาในการชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว ก่อนที่จะการดำเนินการตามกฎหมาย
8.การดำเนินการตามกฎหมายเมื่อสมาชิกผู้กู้ผิดชำระหนี้ สหกรณ์ต้องเจ้งให้สมาชิกผู้กู้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้สมาชิกผู้กู้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้
วิศิษฐ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ประกาศฉบับนี้ เป็นเพียง ‘คำแนะนำ’ ที่ให้สหกรณ์ถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการให้สินเชื่อที่ดี ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับเด็ดขาด แต่หากประเมินไปอีกระยะหนึ่งแล้ว พบว่าการแก้ปัญหาหนี้สมาชิกสหกรณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องประเมินอีกครั้งว่าหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับเด็ดขาด แต่ถ้าประเมินไปอีกระยะหนึ่ง เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ ยังไม่ดีขึ้น เราอาจจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครึ่งหนึ่งว่า อีก 1-2 ปี หลังจากออกคำแนะนำอันนี้ไป ถ้าไม่ดีขึ้น ก็จะปรับวิธีการ” วิศิษฐ์ กล่าว
วิศิษฐ์ ระบุด้วยว่า คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิกอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ฉบับลงวันที่ 25 ก.ค.2567 กับประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ฉบับลงวันที่ 5 ม.ค.2567 แม้ว่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันบ้างในบางส่วน
“ฉบับก่อนเป็น ‘ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์’ แต่ฉบับล่าสุดเป็น ‘คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์’ และสาเหตุที่ต้องออกเป็นคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ เพราะบางสหกรณ์เขียนในข้อบังคับว่า ให้รับเอาคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับ จึงมีผลต่อสหกรณ์บางแห่ง
ส่วนสหกรณ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ นั้น แม้ว่าจะไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้าไม่ทำ นายทะเบียนอาจสั่งให้แก้ไขได้ เพราะถือเป็นข้อบกพร่อง ซึ่งในการตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์นั้น เราจะมีผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปตรวจในแต่ละปีอยู่แล้วว่า มีการปฏิบัติตามสิ่งที่เราออกคำแนะนำไปหรือไม่” วิศิษฐ์ กล่าว
(วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์)
@ไม่เห็นด้วยกู้ 5 แสน ยื่น‘เครดิตบูโร’-ชี้สร้างภาระ
ขณะที่ รศ.พิเศษ พล.ท.ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า กรณีนายทะเบียนมีคำแนะนำว่า ให้สมาชิกผู้กู้ที่กู้เงินทุกสัญญารวมกันตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป จะต้องนำข้อมูลเครดิตบูโร มายื่นให้สหกรณ์เพื่อพิจารณาประกอบการให้สินเชื่อ นั้น มองได้เป็น 2 มุม คือ
มุมแรก หากผู้กู้มีวินัยการเงินไม่ดี การแสดงข้อมูลเครดิตบูโร จะทำให้ผู้กู้รายนี้กู้เงินเพิ่มไม่ได้ ซึ่งจะลดปัญหาหนี้สินพอกพูนได้ แต่ในมุมที่สอง หากผู้กู้ยังมีรายได้ทางอื่นๆ และยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ การกำหนดให้ต้องยื่นเครดิตบูโร ก็เหมือนเป็นการผูกคอ เพราะผู้กู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ก็จะกู้เงินได้ยาก และต้องหันไปเงินกู้นอกระบบแทน
“บางครั้ง รายได้เขาอาจช็อตไปบ้าง แต่ภาพรวมยังโอเคอยู่ ถ้ากู้สหกรณ์ไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหยิบยืมที่ไหน ถ้าไปกู้ข้างนอก ดอกเบี้ยก็มหาศาล จึงควรให้สหกรณ์เขาพิจารณากันเองว่า ให้หรือไม่ให้ เพราะคนในสหกรณ์เขารู้ว่า ใครเป็นใคร มีพฤติกรรมอย่างไร และการที่กำหนดว่าถ้ากู้ 5 แสนบาทขึ้นไป ต้องยื่นเครดิตบูโร ผมมองว่าน่าจะสร้างภาระเกินไป
เมื่อก่อนเราคิดว่า ถ้ากู้ 2 ล้านขึ้นไป ค่อยยื่นเครดิตบูโร แต่ตอนนี้ลดลงมา 5 แสนบาท ก็เหมือนกับมัดคอ เพราะคนเรา มันไม่แน่นอน และถึงแม้ว่าสหกรณ์จะไม่ห้าม 100% ว่า ไม่ให้ปล่อยกู้ให้คนติดเครดิตบูโร แต่คนก็มองว่า เขาไปเอาข้อมูลเครดิตบูโรมา เขาเสียเงิน 150-200 บาท ซึ่งบางคนกู้บ่อย กู้วนไปวนมา ก็รู้สึกเสียดายเงิน” ประธาน ชสอ. กล่าว
รศ.พิเศษ พล.ท.ดร.วีระ ยังย้ำว่า การให้ผู้กู้ที่กู้เงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป จะต้องแสดงข้อมูลเครดิตบูโรนั้น ไม่น่าจะจำเป็น เพราะข้อมูลเครดิตบูโรไม่ได้แสดงว่า ผู้กู้ยังมีหนี้สินค้างอยู่ที่อื่นๆอีกหรือไม่ แต่เป็นสหกรณ์ต่างหากที่รู้ดีว่า ผู้กู้แต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร และมีการข่าวดี อีกทั้งการกู้เงินดังกล่าวจะต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย
ส่วนการกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้งวดสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในอายุไม่เกิน 75 ปี นั้น รศ.พิเศษ พล.ท.ดร.วีระ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ควรให้แต่ละสหกรณ์พิจารณาเอง เช่น หากเป็นข้าราชการบำนาญ กลุ่มนี้มีความสามารถจ่ายหนี้ได้ตลอดอยู่แล้ว ก็ควรให้จ่ายหนี้ได้เกินอายุ 75 ปีได้ เพราะการจ่ายเงินค่างวดที่น้อยลง จะทำให้เขามีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
แต่หากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการหรือรัฐวิสาหกิจ เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว กลุ่มนี้จะไม่มีเงินรายได้ จึงต้องพิจารณาอีกแบบหนึ่ง เพราะหากให้กลุ่มนี้ผ่อนไปจนถึงอายุ 75 ปี ก็อาจไม่มีเงินมาผ่อนหนี้ก็ได้ และตอนนี้สหกรณ์ทุกแห่งก็ทำอยู่แล้วว่า กลุ่มนี้จะให้กู้จนถึงอายุ 60 ปี และบางแห่งพออายุ 60 ปีแล้ว ก็ให้ออกจากสมาชิกด้วย
(รศ.พิเศษ พล.ท.ดร.วีระ วงศ์สรรค์)
สำหรับคำแนะนำนายทะเบียนที่กำหนดให้ผู้กู้แต่ละรายต้องเหลือเงินสุทธิไม่น้อยกว่า 30% หลังหักชำระหนี้ นั้นประธาน ชสอ. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการไปกำหนดว่า ผู้กู้จะต้องเหลือเงินสุทธิเท่าไหร่ เพราะบางรายนำเงินกู้ไปลงทุน เพื่อสร้างฐานะและรายได้ในอนาคต ดังนั้น ควรให้สหกรณ์แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดตรงนี้จะดีกว่า
อย่างไรก็ดี อยากฝากไปถึงสหกรณ์ว่า ไม่อยากให้สหกรณ์มองตัวเองว่า เป็นองค์กรธุรกิจเหมือนกับธนาคาร เพราะวัตถุประสงค์ใหญ่ของสหกรณ์ คือ ต้องทำให้สมาชิกกินดีอยู่ดี มีความสุข และไม่เป็นหนี้เป็นสินมากเกินไป รวมทั้งอยากให้สหกรณ์แต่ละแห่งจัดทำโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับสมาชิกฯ ไม่ใช่แค่ปล่อยกู้อย่างเดียว
รศ.พิเศษ พล.ท.ดร.วีระ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่สมาชิกผู้กู้ฯผิดนัดชำระหนี้นั้น ตามขั้นตอนปกติแล้ว สหกรณ์แต่ละแห่งจะต้องเรียกผู้กู้มาปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว หากยังไม่ไปไหว ก็จะเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาช่วย จนกระทั่งผู้กู้ไปไม่ไหวจริงๆ หรือเรียกว่าจนตรอก จึงจะฟ้องดำเนินคดี
“ไม่ต้องห่วงเลย การกู้เงินสหกรณ์ กว่าจะฟ้องกันได้ จะต้องมาปรับโครงสร้างก่อน ส่งเท่านี้ไม่ได้ ก็ลดลงมา ขยายเวลาให้ และให้ส่งนิดเดียว ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็เรียกผู้ค้ำประกันมาว่าจะช่วยกันอย่างไร การเป็นสมาชิกสหกรณ์ ดีตรงนี้ ถ้าเป็นแบงก์ ฟ้องทันที ของเรากว่าจะฟ้อง ก็ต้องจนตรอกจริงๆ” ประธาน ชสอ. ระบุ
จากนี้ไปคงต้องตามกันต่อไปว่า ‘คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิกอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม’ ฉบับล่าสุด ที่มีเป้าหมายในการทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯ มี ‘หนี้เท่าที่จำเป็น’ และมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ นั้น จะเป็นไปจุดประสงค์นี้หรือไม่?
อ่านประกอบ :
เปิดร่างกฎกระทรวงฯกำกับสินเชื่อ‘สหกรณ์ฯ’-‘กู้สามัญ’ผ่อนได้ 150 งวด-หักหนี้เหลือเงิน 30%
สกัดกู้เกินตัว! ‘เกษตรฯ’ชง‘ร่างกฎกระทรวงฯ’กำกับสินเชื่อสหกรณ์ 2.3 ล้านล. เข้า ครม.อีกรอบ
รอชงครม.ไฟเขียว! ดันร่างกฎกระทรวงกำกับ'สหกรณ์ฯ'ปล่อยกู้-คุมเพดาน'ดอกเบี้ย'รับฝาก
ห้ามคนนอกค้ำ-ลดต้นทุนเงินกู้! ‘กสส.’ แจงร่างกฎกระทรวงกำกับการเงิน ‘สหกรณ์ฯ’ ฉบับใหม่
เครดิตบูโรแจง ไม่มีการบังคับสหกรณ์ที่มีธุรกรรมสินเชื่อต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร
'บิ๊กตู่'เซ็นตั้ง‘คกก.แก้ปัญหาทุจริตสหกรณ์’-เร่ง'ติดตาม-ยึดทรัพย์'ที่ถูกยักยอก 5 พันล.
ป้องกันทุจริต! ‘มนัญญา’สั่งสอบทาน‘เงินฝาก’สหกรณ์ออมทรัพย์ฯทั่วปท. ให้เสร็จใน 3 เดือน