‘อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์’ เผย ‘รมว.เกษตรฯ’ เสนอร่างกฎกระทรวงฯกำกับดูแล ‘สินเชื่อสหกรณ์ฯ’ 2.3 ล้านล้าน เข้า ครม. อีกรอบ หวังสกัด ‘กู้ยืมเกินตัว’-สร้างเสถียรภาพทางการเงินให้ ‘ระบบสหกรณ์’ ในระยะยาว
....................................
จากกรณีที่ในช่วงเดือน ต.ค.2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส). ได้ผลักดันร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำกับดูแลการให้สินเชื่อของสหกรณ์ให้มีความยั่งยืนในระยะยาว แต่ทว่าจนถึงปัจจุบันหรือผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี 8 เดือน ร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เนื่องจากมีการต่อต้านจากองค์กรสหกรณ์ต่างๆ นั้น
ล่าสุดนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ ว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอ ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…ที่มีการปรับปรุงแล้ว ให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เสนอ
อย่างไรก็ตาม กรมฯได้รับทราบว่า จนถึงขณะนี้ สลค. ยังไม่ได้บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม. แต่อย่างใด โดย สลค. ระบุว่า สาเหตุที่ยังไม่เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ให้ ครม.พิจารณา เพราะองค์กรสหกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ,ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ยังมีความเห็นแย้งอยู่ แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐต่างๆจะเห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ ก็ตาม
“เราได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯเข้าไปอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าถูกต่อต้าน โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มหนึ่งบอกว่า ถ้าเอากฎอย่างเข้มข้นมาใช้ สมาชิกสหกรณ์จะไม่มีโอกาสได้หายใจ จะไม่มีหาแหล่งกู้ ทั้งๆที่ทุกวันนี้เรามีปัญหา กู้จนล้น กู้เกินตัว ถ้าไม่มีกติกาใดๆเลย ต่อไปจะยิ่งหนัก จึงอยากฝากไปถึงกลุ่มที่ต่อต้านร่างกฎกระทรวงอยู่ในขณะนี้ว่า ขอให้เห็นแก่ประโยชน์ระยะยาวว่า ร่างกฎกระทรวงฯนี้จะเกิดผลดีกับสหกรณ์ฯ
ไม่ใช่ว่า พอเราบอกว่า เราให้เวลาชำระหนี้ไม่เกิน 240 งวด (20 ปี) แต่ท่านก็ยื่นมาขอเป็น 400 งวด (33 ปี 4 เดือน) เราบอกว่าตอนกู้ให้เอาเครดิตบูโรมาแสดงด้วย แต่ท่านก็บอกว่า เป็นการเพิ่มภาระให้กับสมาชิก เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สมาชิก ซึ่งจริงๆแล้ว การขอข้อมูลเครดิตครั้งหนึ่ง เพียง 100 บาท ต่อการกู้ 1 ครั้ง แล้วก็ไม่เข้าใจว่า ทำไม สลค. จึงไม่เสนอร่างกฎกระทรวงฯให้ ครม. พิจารณา ผมเองก็งงกับ สลค. เหมือนกัน
ส่วนที่ สลค. บอกว่า ยังมีความเห็นแย้งจากกลุ่มผู้เห็นแย้ง จึงไม่เสนอนั้น ก็ในเมื่อเราจะออกกฎไปกำกับเขา (สหกรณ์) ถ้าไปถามสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ไปถามชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปถามชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถูกกำกับ เขาก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เรื่องก็เลยคาอยู่อย่างนี้ และที่เราพยายามทำเรื่องนี้ ก็เพื่อกำกับดูแลการให้กู้ให้เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อระบบสหกรณ์ในระยะยาว” นายวิศิษฐ์ ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ... ฉบับนี้ มีหลักการ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สามารถให้เงินกู้และให้สินเชื่อสอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
2.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สามารถรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน ให้มีความเหมาะสม รัดกุม สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจของสหกรณ์
3.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสภาพคล่องเพียงพอและดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว โดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรองรับการไหลเข้าและไหลออกของกระแสเงินสด
4.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยู่เนียน สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
5.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวของความเสี่ยง (Concentration Risk) ไม่ให้สูงจนเกินไป และสอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ประโยชน์ของร่างกฎกระทรวงฯ ได้แก่ การกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานทางด้านการเงินของสหกรณ์ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก เนื่องจากหากมีมาตรการในการกำกับแล้วย่อมส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อการกู้เงินเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้คงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ ตลอดจนสร้างเสถียรภาพทางการเงินของระบบสหกรณ์ อันจะเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์และระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนกระทบของร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์สูงและมีแนวโน้มการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างกว้างขวาง แม้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะเป็นสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่ได้อยู่กายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากกำกับดูแลโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“หากมีการออกกฎเกณฑ์การบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะช่วยสร้างเสถียรภาพระบบการเงินสหกรณ์ได้ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เป็นสมาซิกของสหกรณ์ เนื่องจากการกำหนดให้มีมาตรการการกำกับดูแล ทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นต่อระบบสหกรณ์ในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงินของสหกรณ์อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของสมาชิกที่ดีขึ้น” กรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่า ณ ปี 2565 มีจำนวนสหกรณ์ทุกประเภท 7,563 แห่ง และมีจำนวนสมาชิก 11.32 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในจำนวนสหกรณ์ทั้งหมด 7,563 แห่ง เป็นสหกรณ์ที่ยังดำเนินการอยู่ 6,316 แห่ง ในขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2567 พบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ มีการให้กู้ยืมแก่สมาชิกทั้งสิ้น 2,333,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (1/2566) ที่สหกรณ์ออมทรัพย์มีการให้กู้ยืมแก่สมาชิก 2,241,723 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
รอชงครม.ไฟเขียว! ดันร่างกฎกระทรวงกำกับ'สหกรณ์ฯ'ปล่อยกู้-คุมเพดาน'ดอกเบี้ย'รับฝาก
ห้ามคนนอกค้ำ-ลดต้นทุนเงินกู้! ‘กสส.’ แจงร่างกฎกระทรวงกำกับการเงิน ‘สหกรณ์ฯ’ ฉบับใหม่
เครดิตบูโรแจง ไม่มีการบังคับสหกรณ์ที่มีธุรกรรมสินเชื่อต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร
'บิ๊กตู่'เซ็นตั้ง‘คกก.แก้ปัญหาทุจริตสหกรณ์’-เร่ง'ติดตาม-ยึดทรัพย์'ที่ถูกยักยอก 5 พันล.
ป้องกันทุจริต! ‘มนัญญา’สั่งสอบทาน‘เงินฝาก’สหกรณ์ออมทรัพย์ฯทั่วปท. ให้เสร็จใน 3 เดือน