นายกฯ เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์’ ดึง ‘ตำรวจ-ดีเอสไอ-ปปง.’ ร่วมติดตามยึดทรัพย์ที่มีการยักยอกไปจากสหกรณ์ต่างๆกว่า 5 พันล้าน กลับคืนมาโดยเร็ว
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 101/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ ,ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในสหกรณ์ และให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ เป็นต้น
สำหรับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงในปัจจุบันมีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์โดยรวมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และสมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถเบิกถอนเงินฝากหรือกู้ยืมหรือดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ได้ตามปกติ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายกรณีมีผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการของสหกรณ์ เป็นผู้กระทำความผิด โดยใช้วิธีการซับซ้อนเพื่อปกปิดการกระทำความผิด รวมถึงมีการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากการกระทำผิดไปยังบุคคลภายนอก ทำให้การตรวจสอบติดตามทรัพย์สินคืนเป็นไปได้ยาก
เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 จึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหากทุจริตในสหกรณ์ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์) ประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธานกรรมการ, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรรมการ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรรมการ ,อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรรมการ
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรรมการและเลขานุการกรรมการ และรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ส่วนหน้าที่และอำนาจ มีดังนี้ 1.ดำเนินการเข้าตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ 2.ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตาม การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในสหกรณ์ 3.ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 4.แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
5.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือประธานกรรมการมอบหมาย
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า คณะกรรมการฯชุดนี้ จะมีหน้าที่เร่งรัดติดตาม ยึดและอายัดทรัพย์ จากพวกที่ทุจริตและยักยอกทรัพย์สินของสหกรณ์ต่างๆไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ,กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ,สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ และอื่นๆ ซึ่งพบว่ามีทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไปไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
“ที่ผ่านมาการติดตาม ยึด และอายัดทรัพย์ จากพวกทุจริตที่ยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ต่างๆไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีสหกรณ์ฯคลองจั่น สหกรณ์ฯสโมสรรถไฟ และอื่นๆ ยังมีความล่าช้า ท่านมนัญญา (ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ) จึงเสนอให้นายกฯแต่งตั้งคณะทำงานฯ ที่มีตำรวจ ดีเอสไอ และปปง. ให้เข้ามาร่วมในการติดตามทรัพย์ คือ ให้มาช่วยกันดูว่า ทรัพย์อันไหนที่เร่งรัดยึดได้ ก็ให้ยึดกลับมา เพื่อบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ต่างๆ” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ยังมีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามว่า การแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ที่มีปัญหาการทุจริตนั้น สามารถแก้ปัญหาไปถึงไหนแล้ว และจะช่วยกระชับการแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง
นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินกิจการทางเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการสอบทานเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศว่าถูกต้องหรือไม่ โดยนำร่องตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีมูลค่าธุรกิจตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 1,100 แห่ง ว่า ขณะนี้มีรายงานเข้ามาในเบื้องต้นว่า พบสหกรณ์ 3-4 แห่ง ที่มีพนักงานของสหกรณ์แอบถอนเงินสมาชิกฯไป ซึ่งมียอดรวม 1-2 ล้านบาท
“มีรายงานเข้ามาว่า มีสหกรณ์ 3-4 แห่ง ซึ่งพบว่ามีพนักงานแอบถอนเงินของสมาชิกฯไป ซึ่งยอดเงินอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท จึงสั่งการให้หาตัวผู้รับผิดชอบมาดำเนินคดี และเรียกทรัพย์กลับมา เอาเงินมาคืน และมีการแจ้งความดำเนินคดีทุกรายแล้ว ขณะที่คณะกรรมการสหกรณ์เองก็อาจมีความผิด ถ้าคณะกรรมการฯละเว้น หรือละเลยปฏิบัติจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ ก็จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ทั้งแพ่งและอาญา” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้ให้นโยบายกับทางสหกรณ์จังหวัดว่า ขอให้ไปแนะนำสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆให้จัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้าดูและตรวจสอบยอดเงินฝากของตนเองในสหกรณ์ได้ตลอดเวลา โดยตั้งเป้าว่าในปีงบ 2565 จะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวไม่น้อย 50% ของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จากปัจจุบันที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ 300 แห่ง จากทั้งหมด 1,400 แห่ง ที่มีแอปพลิเคชันให้สมาชิกตรวจสอบยอดเงินฝากได้
นายวิศิษฐ์ ยังระบุว่า ปัจจุบันยอดเงินในระบบสหกรณ์ทั่วประเทศอยู่ที่ 3.58 ล้านล้านบาท จากปี 2564 ที่ยอดเงิน 3.2 ล้านล้าน หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท เนื่องจากสมาชิกเพิ่มการถือหุ้นเพื่อรับปันผล และมียอดเงินฝากเพิ่มขึ้น เพราะสหกรณ์ฯให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 2-2.5% ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยเงินของธนาคารที่อยู่ที่ 0.5% ต่อปี ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียน จำเป็นต้องปรับปรุงระเบียบต่างๆ เพื่อให้การกำกับดูแลสหกรณ์มีความรัดกุม
อ่านประกอบ :
ป้องกันทุจริต! ‘มนัญญา’สั่งสอบทาน‘เงินฝาก’สหกรณ์ออมทรัพย์ฯทั่วปท. ให้เสร็จใน 3 เดือน