‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ แจงร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการ-กำกับดูแลทางการเงินของ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ หลัง 'สันบิบาตสหกรณ์ฯ' ยื่นหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ ขอชะลอเสนอเข้า ครม.
.............................
จากกรณีที่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… เนื่องจากเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีข้อกำหนดบางประการ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ และความเสียหายต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
เช่น การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์กรณีเงินฝากชุมนุมสหกรณ์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ การไม่นำค่าหุ้นมาพิจารณาก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้เงินกู้สงสัยจะสูญหลักเกณฑ์และอัตราการตั้งค่าเผื่อหนี้เงินกู้สงสัยจะสูญของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน การไม่อนุญาตให้บุคคลในครอบครัวสมาชิกเข้าค้ำประกันหนี้เงินกู้สามัญของสมาชิก และการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นร่างฯที่ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด และประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด รับรู้มาโดยตลอด และได้เข้าร่วมประชุมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง
จนกระทั่งในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 ที่ประชุมเห็นพ้องกับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ทุกประเด็นแล้ว กรมฯจึงนำร่างกฎกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สหกรณ์ต่างๆมีระยะเวลาปรับตัว ร่างกฎกระทรวงฯได้ผ่อนคลายการบังคับใช้กฎเกณฑ์บางเรื่องออกไป 5 ปี หรือ 10 ปี
“การจัดทำร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกระบวนการสหกรณ์ต่อร่างกฎกระทรงนั้น กรมได้มีการดำเนินการหารือด้วยกันหลายครั้งต่อเนื่อง ทั้งก่อนยกร่างและภายหลังที่ ครม.เห็นชอบในหลักการ” นายวิศิษฐ์ ระบุ
สำหรับสาระสำคัญและเหตุผลในการกำหนดร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... มีดังนี้
1.การนับเงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง
1.1การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 50 เพราะว่าในระบบเงินฝากระหว่างสหกรณ์นั้นมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในสหกรณ์บางแห่งย่อมกระทบต่อสหกรณ์แห่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยปริยายเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมการเงินเดียวกัน
1.2 การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมชุนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 100 เนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินจะนำเงินมากฝากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯเป็นหลัก โดยมีจำนวนเงินฝากต่อแห่งมีปริมาณไม่สูง และชุมนุมฯไม่ได้นำเงินไปลงทุนแต่ละนำไปให้สมาชิกกู้ยืมเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงต่ำ
1.3 ผ่อนปรนการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ไว้ 5 ปี
2.การไม่นำค่าหุ้นมาพิจารณาก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้น เนื่องจากเงินค่าหุ้นเป็นทุนของสหกรณ์จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เมื่อไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ จึงมาสามารถนำมาหักจากจำนวนหนี้ในการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกพ้นสภาพก็สามารถนำค่าหุ้นของสมาชิกรายดังกล่าวมาหักชำระหนี้ได้
3.หลักเกณฑ์และอัตราการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันการเงิน มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน ดังนั้น วิธีปฏิบัติทางบัญชีควรเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์นั้นๆ ในอนาคตหากไม่ได้รับการชำระหนี้ตามกำหนด ก็จะไม่กระทบต่อ ผลการดำเนินการหรือกำไรในอนาคต
เนื่องจากได้ตัดเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปีปัจจุบันไว้แล้ว ซึ่งเป็นหลักความระมัดระวังให้เพียงพอต่อความเสียหายทางเงินที่เกิดขึ้น และจะเป็นผลดีในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในการบริหารจัดการของสหกรณ์ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้สหกรณ์มีเวลาปรับตัว 10 ปี
4.การไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เกิดจากการดำเนินกิจกรรมระหว่างสมาชิกของสหกรณ์เป็นหลักการ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้น เนื่องจากสหกรณ์จะทราบศักยภาพของสมาชิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมกิจการภายในของสหกรณ์ ดังนั้น ข้อเสนอให้เพิ่มบุคคลภายนอกและบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกัน จึงอาจเกิดความเสี่ยงต่อศักยภาพและการติดตามการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน
5.การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ เพื่อคุ้มครองปริมาณเงินฝากในระบบสหกรณ์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาดการเงิน และเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกผู้กู้ เนื่องจากต้นทุนเงินให้กู้ลดลงส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง
6.การนำข้อมูลเครดิตมาประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้กู้ในการพิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความเหมาะสมในการกำหนดวงเงินให้กู้แก่สมาชิก ทั้งนี้ในการอนุมัติเงินกู้ ยังอยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจให้กู้
7.การไม่อนุญาตให้นำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นหลักประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากหลักประกันด้วยทรัพย์สินนั้นเป็นการเอาทรัพย์สินของตนวางไว้เพื่อเป็นหลักประกันชำระหนี้ จึงต้องมีอยู่ขณะทำสัญญากู้ด้วย เมื่อเงินประกันชีวิตหรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากเสียชีวิตจึงเกิดสิทธิ์เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไข ดังนั้นจึงไม่อาจนำมาเป็นหลักประกันได้