"...เมื่อปี 2557 ผู้เสียหายเคยเรียก นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวว่าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) และ จีที 200 (GT 200) ทั่วโลกใช้การไม่ได้ ....แต่เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายแจ้งแก่นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ว่า ยังใช้งานเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) อยู่ และจะไม่ดําเนินคดีกับ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2..."
.............................................
ประเด็นตรวจสอบกรณีกลุ่มบริษัทเอกชนขายเครื่องจีที 200 และเครื่องอัลฟ่า 6 ที่ถูกหน่วยงานราชการคู่สัญญาฟ้องร้องดำเนินคดีความอาญาในข้อหาฉ้อโกง และยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้รับงาน หากแต่ยังปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญารับงานว่าจ้างจากหน่วยงานราชการหลายแห่งในปัจจุบัน ที่ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว จากการที่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่มีการมอบหมายให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ได้มีมติให้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานราชการจำนวนนับ 10 แห่ง ที่ทำสัญญาซื้อขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 กับกลุ่มเอกชนที่มีคดีฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกง ซึ่งเข้าข่ายเป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐ ที่มีลักษณะเป็นการกระทําการโดยไม่สุจริต ตามมาตรา 109 (3) ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้ยื่นเรื่องพร้อมความเห็นเสนอกลับมายังปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาสั่งการให้เป็นผู้ทิ้งงานตามขั้นตอนทางกฎหมาย
(อ่านประกอบ : ปิดฉากคดีขึ้นบัญชีดำบ.ขายจีที-อัลฟ่า! คกก.วินิจฉัย ประเดิมแจ้ง 'กองทัพ' ชงชื่อผู้ทิ้งงาน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลใหม่มาเสนอไปแล้วว่า ได้สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 เพิ่มเติม พบว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2561 ศาลแขวงดุสิต ได้มีคำพิพากษาคดีความอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีฉ้อโกง ในการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 เพิ่มเติมอีก 1 คดี จากข้อมูลเดิมที่ตรวจสอบพบไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 16 คดี
โดยสำหรับคดีนี้ ฝ่ายโจทก์คือ พนักงานอัยการสํานักงาน สํานักงานอัยการสูงสุด ฟ้องจำเลย คือ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 จากการขายเครื่องอัลฟ่า 6 ให้กับ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะผู้เสียหาย จำนวน 2 ครั้ง จำนวน 15 เครื่อง ราคาเครื่องละ 424,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,372,000 บาท
ทำให้ยอดรวมคดีส่วนนี้ที่ตรวจสอบพบไปแล้ว จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 17 คดี
(อ่านประกอบ : เปิดข้อมูลคดีที่ 17! ศาลฯ สั่ง ปรับ-จำคุก บ.แจ๊คสันฯ ฉ้อโกงขายอัลฟ่า ป.ป.ส. 6.3 ล้าน, เช็คชื่อ 15 หน่วยงานรัฐ-6 เอกชน คดีฉ้อโกงจีที-อัลฟ่า วัดใจ คกก.วินิจฉัยฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ)
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาคดีฉ้อโกง ในการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ระหว่าง บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 กับ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะผู้เสียหาย จำนวน 15 เครื่อง ราคาเครื่องละ 424,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,372,000 บาท ซึ่งมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า บริษัทเอ วิ เอ เซทคอม จํากัด ผู้ขายเครื่องจีที 200 เคยปรากฎชื่อเข้าร่วมแข่งขันประกวดราคาด้วย
@ โจทก์นําสืบคดี - บ.เอ วิ เอ ขายจีที 200 ร่วมแข่งงาน
ในคดีนี้ พนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์นําสืบว่า ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้มีอํานาจ กระทําการแทน
นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดยมี น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
เมื่อปี 2551 ผู้เสียหายได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นเงินประมาณ 6,600,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพาเพื่อใช้ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยสํานักงานเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้จัดซื้อ
ต่อมามีการเสนอขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการกําหนดร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารประกวดราคาซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพา จํานวน 10 ชุด จากนั้นมีการประกาศประกวดราคาซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพาจํานวน 10 ชุด ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
มีบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดย นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทน และ บริษัทเอ วิ เอ เซทคอม จํากัด เข้าร่วมประกวดราคา
ซึ่งบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดย นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ได้นําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) เข้ารับการทดสอบหาสารเสพติดและผ่านการทดสอบดังกล่าว
ในการประกวดราคาบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เสนอราคาจํานวน 4,248,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุด คณะกรรมการประกวดราคาซื้อจึงมีความเห็นควรซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพาจํานวน 10 ชุด จากบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1
ผู้เสียหายได้ทําสัญญาซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Aloha 6) จํานวน 10 ชุด พร้อมชําระเงินจํานวน 4,848,000 บาท
โดยตรวจรับเครื่องตรวจพิสูจน์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 แก่บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1
ต่อมาผู้เสียหายได้อนุมัติซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) เพิ่มเติมอีก 5 เครื่อง จากบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดยวิธีพิเศษ
ต่อมาบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ได้นําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) จํานวน 5 เครื่อง มาส่งมอบให้ผู้เสียหายตรวจรับไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 โดยผู้เสียหายได้ชําระเงินให้แก่บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายนําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ส่งมอบให้หน่วยงานภายในไปใช้งาน
@ ครม.สั่งทุกหน่วยงานตรวจสอบ
ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2553 สํานักงานรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมีหนังสือแจ้งคณะมติรัฐมนตรีซึ่งระบุให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดําเนินการจัดทํารายงานสรุปข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 และเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะเดียวกัน (เช่น เครื่องอัลฟ่า 6 เป็นต้น) เช่น เหตุผลในการจัดซื้อ จํานวนเครื่อง งบประมาณที่ใช้ กระบวนการจัดซื้อ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) สังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทํารายงานผลการทดสอบการตรวจวัดประสิทธิภาพการทํางานของเครื่องจีที 200 และเครื่องอัลฟ่า 6
@ ผลทดสอบชี้ชัดเครื่องไม่มีประสิทธิภาพ
สรุปผลการทดสอบได้ว่า ไม่พบมีการแผ่สนามไฟฟ้า (Electric Field) จากเครื่องจีที 200 และอัลฟา 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสมบนพื้นผิวของเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ
ไม่พบการแผ่คลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic Emission) จากตัวเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ
ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางของเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ที่ทํางานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีสนามแม่เหล็กรบกวน
และไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทางของเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6
ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ผู้เสียหายได้รับหนังสือจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งว่า หากมีความเห็นว่าหน่วยงานของท่านได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกบริษัทเอกชนดังกล่าวข้างตนหลอกลวงให้ซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ที่ไม่มีประสิทธิภาพและราคาแพงเกินจริง ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อจะได้ดําเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้เสียหายจึงแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดที่ได้รับเครื่องอัลฟ่า 6 รายงานผลการใช้งาน ซึ่งต่อมามีหน่วยงานหลายแห่งแจ้งว่าเครื่องอัลฟา 6 ไม่สามารถชี้นําหรือตรวจหาสารเสพติดได้
ต่อมาผู้เสียหายได้รับหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2555 แจ้งให้ไปร้องทุกข์ดําเนินคดี ผู้เสียหายจึงตั้งคณะทํางานเพื่อหาแนวทางในการดําเนินคดี
ต่อมาคณะทํางานดังกล่าวได้ทํารายงานผลการดําเนินการหาแนวทางการดําเนินคดีกับบริษัทผู้จัดจําหน่ายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) โดยมีความเห็นให้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับบริษัทผู้ผลิต ผู้จัดจําหน่าย และบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนจําหน่ายหรือได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจําหน่าย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556
ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้รับมอบอํานาจผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนชั้นสอบสวน
จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
@ อ้างเป็นแค่ตัวแทนนำเข้า -จนท.รับรองตรวจเจอยาเสพติดจริง
จําเลยทั้งสามนําสืบว่า เครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) เป็นสินค้าที่บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นําเข้าจากประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งมีคอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited) โดยนายไซม่อน เจอร์ราด ตัวแทนจําหน่ายในประเทศสหราชอาณาจักร
บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจจําหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับความมั่นคงแก่หน่วยงานราชการมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยเคยจําหน่ายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha6) จํานวน 12 เครื่อง ให้แก่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองทัพไทย มาก่อนแล้ว
เมื่อปี 2551 บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายว่ามีเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพาจําหน่ายหรือไม่
นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 จึงนําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ไปสาธิตให้เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายดู
โดย นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายเป็นผู้ใช้เครื่องและสามารถค้นหายาเสพติดพบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2551 ผู้เสียหายจึงได้เรียก บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 และบริษัทเอกชนอื่นเข้าร่วมการทดสอบซึ่งมีเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) ของ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 และเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา จีที 200 (GT 200 ) ของบริษัทเอ วี เอ แซทคอม จํากัด ผ่านการ
ทดสอบ
ต่อมา บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ชนะการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และได้เข้าทําสัญญากับผู้เสียหาย แล้ว บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ส่งมอบเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟา 6 (Alpha 6) ชุดแรกแก่ผู้เสียหายโดยมีเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายตรวจรับว่าสินค้ามีคุณภาพดีตรงตามคุณลักษณะ
ตามสัญญาแล้ว
ต่อมาผู้เสียหายสั่งซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟา 6 (Alpha 6 ) จาก บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เพิ่มอีกจํานวน 5 เครื่อง โดยเป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ
หลังส่งมอบผู้เสียหายไม่เคยแจ้งปัญหาการใช้งานแก่ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เลย
ทั้งนี้ หากมีปัญหาเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพาอัลฟา 6 (Alpha 6 ใช้การไม่ได้ จะต้องส่งคืนให้แก่ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เพื่อดําเนินการซ่อมแซม หากซ่อมแซมไม่ได้จึงจะคืนเงินแก่ผู้เสียหาย จากนั้นจึงจะส่งคืนไปยังคอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited) ประเทศสหราชอาณาจักร
นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 ไม่รู้จักโรงงานผู้ผลิตเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6)
ขณะเข้าทําสัญญากับผู้เสียหาย จําเลยทั้งสามไม่ทราบว่า เครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ไม่สามารถใช้งานตรวจหายาเสพติดได้จริง
โดยขณะที่มีการเสนอขายได้สาธิตให้เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ จากนั้นบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 จึงจะสั่งซื้อจากคอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited)
เมื่อปี 2557 ผู้เสียหายเคยเรียก นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวว่าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) และ จีที 200 (GT 200) ทั่วโลกใช้การไม่ได้
@ แฉ จนท.อ้างจะไม่ดำเนินคดี
แต่เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายแจ้งแก่นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ว่า ยังใช้งานเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) อยู่ และจะไม่ดําเนินคดีกับ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2
ผู้เสียหายได้คืนหนังสือค้ำประกันตามสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ให้แก่บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 แล้ว
น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลของบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เท่านั้น
ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจําเลยทั้งสามโดยตลอดแล้ว เห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
เห็นว่า คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จําเลยทั้งสามร่วมกันกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์มีนาย ส. (อักษรย่อ) กรรมการในคณะกรรมการกําหนดร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารประกวดราคาในการจัดซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์สารเสพติดชนิดพกพา เป็นพยานเบิกความมีใจความว่า พยานและคณะกรรมการได้ประชุมและร่างขอบเขตงาน (Term of Reference - TOR) โดยกําหนดคุณสมบัติเฉพาะรวม 4 ข้อ โดยเครื่องตรวจพิสูจน์สารเสพติดชนิดพกพาจะต้องผ่านการทดสอบการค้นหายาเสพติดชนิดต่างๆ ที่ซุกซ่อนในสถานที่ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 3 สถานี จากสถานีทดสอบทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่ ซุกซ่อนในตัวบุคคล ซุกซ่อนในกระเป๋าหรือสัมภาระ ซุกซ่อนในยานพาหนะ และซุกซ่อนในอาคารสถานที่ ภายในเวลาที่กําหนด จึงจะมีสิทธิได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการประกวดราคา
พยานโจทก์ปาก นาง พ. (อักษรย่อ) ประธานกรรมการใน คณะกรรมการประกวดราคาซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์สารเสพติดชนิดพกพา เบิกความมีใจความว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 ได้ยื่นเอกสารเข้าร่วมการประกวดราคาซึ่งรวมถึงแคตตาล็อกแบบรูปรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ
ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 พยานแจ้งให้ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) มาเข้าร่วมการทดสอบการค้นหายาเสพติด
เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 จะต้องเข้ารวมการประกวดราคาในวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ซึ่ง บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชนะในการประกวดเสนอราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากเสนอราคาต่ำที่สุด
พยานจึงทํารายงานเสนอเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้เสียหายจึงอนุมัติสั่งซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ครั้งแรกจํานวน 10 เครื่อง รวมเป็นเงิน 4,248,000 บาท
ต่อมาผู้เสียหายได้อนุมัติให้ซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพาอัลฟ่า 6 (Alpha 6) จาก บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ด้วยวิธีพิเศษเพิ่มเติมอีกจํานวน 5 เครื่อง รวมเป็นเงิน 2,124,000 บาท
และพยานโจทก์ปาก นาย ท. กรรมการในคณะกรรมการตรวจรับพัสดุเบิกความมีใจความว่า มีการนําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ส่งมอบแก่ผู้เสียหายครั้งแรกจํานวน 10 ชุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 พยานตรวจรับตามร่างขอบเขตงาน(Term of Reference - TOR) โดยการนับจํานวน ตรวจดูสภาพทางกายภาพว่าเป็นของใหม่ ไม่ผ่าน
การใช้งาน ไม่ชํารุดเสียหาย เสาอากาศสามารถดึงเข้าและออกได้ และมีน้ำหนักในเกณฑ์ที่กําหนด
ต่อมาพยานได้ตรวจรับเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) เพิ่มเติมอีกจํานวน 5 ชุด เห็นว่า การกระทําอันเป็นองค์ประกอบสําคัญประการหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 คือ “หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง" และการกระทําดังกล่าว ผู้กระทําจะต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคหนึ่ง
โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ต้องนําสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าขณะเข้าทําสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟา 6 (Alpha 6 ) ทั้งสองครั้งกับผู้เสียหาย
จําเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยมีเจตนาหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
โจทก์นําสืบว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ยื่นเอกสารเข้าร่วมการประกวดราคาซึ่งรวมถึงแคตตาล็อกแบบรูปรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว มีการลงลายมือชื่อของ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 และประทับตราของ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ไว้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแก่ผู้เสียหายว่า เครื่องตรวจรายงานการพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟา 6 (Alpha 6) มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติในการตรวจหายาเสพติดได้
เมื่อพิจารณาเอกสารในส่วนของสําเนาแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.90 ได้ความว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดยนายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าและหรือบริการของกิจการที่ประกอบเป็นส่วนใหญ่ตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
จากเดิม คือ “นําเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์และอะไหล่สินค้า" มาเป็น “จําหน่ายเครื่องยุทธภัณฑ์ประตูตรวจจับโลหะและซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าว"
ซึ่งสอดคล้องกับที่นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจําเลยทั้งสามถามว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจจําหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับความมั่นคงให้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศไทย มาประมาณ 20 ปี แล้ว
แม้จําเลยทั้งสามจะนําสืบว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) นําเข้าจากคอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited) ประเทศสหราชอาณาจักร มิได้เป็นผู้ผลิตเองก็ตาม
แต่เมื่อ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดยนายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนําเข้ายุทธภัณฑ์และสินค้าประเภทเดียวกันนี้มาจําหน่ายให้แก่หน่วยงานราชการเป็นเวลานาน ย่อมจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสินค้าที่ตนนําเข้ามาจําหน่ายเป็นอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่าจะนําเข้าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) มาจําหน่ายให้แก่ผู้เสียหายโดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติและประสิทธิภาพให้ถี่ถ้วนว่าเครื่องดังกล่าวมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพใช้การได้จริงหรือไม่ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจมาเป็นเวลานาน
ทั้งนายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจําเลยทั้งสามถามว่า นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้นําเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดอัลฟา 6 (Alpha 6 ) ไปแสดงให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายดู และ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 สามารถใช้เครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) ค้นพบยาเสพติดที่ซุกซ่อนไว้ได้
เมื่อเครื่องมือดังกล่าวแท้จริงไม่มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติในการตรวจหายาเสพติดตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 กลับสามารถใช้ค้นหายาเสพติดที่ซุกซ่อนไว้จนพบ
แสดงว่า นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 จะต้องใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งจึงสามารถค้นหายาเสพติดที่ซุกซ่อนไว้จนพบโดยมิได้อาศัยประสิทธิภาพของเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟา 6 (Alpha 6 )
ประกอบกับ นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจําเลยทั้งสามถามว่า ในกรณีที่เครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) ใช้การไม่ได้และส่งคืนมา จะดําเนินการซ่อมแซมเสียก่อน หากซ่อมแซมไม่ได้จึงจะคืนเงินแก่ผู้เสียหาย จากนั้นส่งเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) ดังกล่าวไปยัง คอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited) ประเทศสหราชอาณาจักร
หากบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 สามารถซ่อมแซมเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ได้ แสดงว่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบและกลไกการทํางานของเครื่องมือดังกล่าวเป็นอย่างดี
@ ศาลฯ เชื่อจำเลยรู้ดีอยู่แล้วเครื่องไม่มีประสิทธิภาพ
กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 โดย นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 นําเข้าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) มาจําหน่ายแก่ผู้เสียหายโดยไม่ทราบถึงกลไกการทํางานและไม่ทราบว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติในการตรวจหายาเสพติดตามหลักวิทยาศาสตร์ได้
ส่วนที่จําเลยทั้งสามนําสืบว่า แคตตาล็อกแบบรูปรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 จัดทําเป็นภาษาไทยโดยแปลจากแคตตาล็อกภาษาอังกฤษของคอมส์ แทร็ค จํากัด (ComsTrac Limited) ประเทศสหราซอาณาจักร นั้น ก็เป็นเพียงคําเบิกความของบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ลอยๆ โดยมิได้นําต้นฉบับแคตตาล็อกภาษาอังกฤษดังที่กล่าวอ้างมาแสดง
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ขณะเข้าทําสัญญากับผู้เสียหายทั้งสองครั้ง นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ไม่มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติในการตรวจหายาเสพติดตามหลักวิทยาศาสตร์ได้จริง
ฟังได้ว่า นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
สําหรับบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 นั้น เมื่อการเสนอขายและทําสัญญาขายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6 ) ให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการกระทําภายในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 กระทําโดย นายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทน
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 ร่วมกับจําเลยที่ 2 กระทําผิดตามฟ้องด้วย
@ ไม่มีลายมือเอี่ยว ยกฟ้องจำเลยที่ 3
สําหรับ น.ส.จิราพร เชาวน์เฉียบ จำเลยที่ 3 เมื่อพิจารณาเอกสารที่บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ยื่นแก่ผู้เสียหายเพื่อเสนอเข้าร่วมการประกวดราคา เอกสารดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแคตตาล็อกแบบรูปรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะมีเพียงลายมือชื่อของนายหยาง เซียะ เชียง หรือหย่ง เจี้ย เฉียว จำเลยที่ 2 ประทับตราบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จํากัด จำเลยที่ 1 ไว้ โดยไม่ปรากฏลายมือชื่อของจําเลยที่ 3
เช่นเดียวกับสําเนาใบลงทะเบียนเข้าเสนอราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สําเนาแบบยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา และแบบใบยื่นข้อเสนอการประมูลซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สําเนาใบเสนอราคา (Quotation) ของการเสนอขายเครื่องตรวจพิสูจน์หายาเสพติดชนิดพกพา อัลฟ่า 6 (Alpha 6) ชุดที่ 2 จํานวน 5 เครื่อง และสําเนาหนังสือมอบอํานาจของ จําเลยที่ 1 สําเนาสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจพิสูจน์สารเสพติดชนิดพกพา จํานวน 10 ชุด พร้อมเอกสารแนบท้าย สําเนาใบส่งสินค้า/ใบกํากับภาษี สําเนาหนังสือขอส่งมอบสินค้าเครื่องพิสูจน์สารเสพติดชนิดพกพา จํานวน 10 เครื่อง พร้อมสําเนาใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ สําเนาหนังสือแจ้งการส่งมอบสินค้า พร้อมสําเนาใบวางบิลใบแจ้งหนี้ และสําเนาใบส่งสินค้า/ใบกํากับภาษี มีเพียงลายมือชื่อของจําเลยที่ ๒ ลงไว้โดยไม่ปรากฏลายมือชื่อของจําเลยที่ 3 เช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับจําเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายจําเลยทั้งสามถามว่า จําเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานด้านทรัพยากรบุคคลของจําเลยที่ 1 เท่านั้น
พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยที่ 3 ร่วมกับจําเลยที่ 1 และที่ 2 กระทําความผิดตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จําเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดคืนหรือชดใช้เงินในส่วนที่ยังไม่ได้คืน จํานวน 6,372,000 บาท แก่ผู้เสียหายหรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทําความผิดตามฟ้องต่อผู้เสียหาย และผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินจํานวน 6,372,000 บาท ดังกล่าวคืน
จําเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจํานวนดังกล่าวคืนแก่ผู้เสียหายด้วย
แต่สําหรับจําเลยที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าร่วมกับจําเลยที่ 1 และที่ 2 กระทําผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
@พิพากษา ปรับ 9 หมื่น จําคุก 4 ปี 6 เดือน คืนเงิน 6,372,000 บาท
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทําของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
สําหรับจําเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 60,000 บาท
สําหรับจําเลยที่ 2 จําคุกกระทงละ 3 ปี ทางนําสืบของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลงโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สําหรับจําเลยที่ 1 คงปรับกระทงละ 45,000 บาท รวม 2 กระทง คงปรับ 90,000 บาท
สําหรับจําเลยที่ 2 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี 3 เดือน รวม 2 กระทง คงจําคุก 4 ปี 6 เดือน
กับให้จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงิน 6,372,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ยกฟ้องจําเลยที่ 3
อ่านประกอบ:
@ คดีฉ้อโกงขายอัลฟ่า บ.เอ เอส แอลเอ็มฯ
ผ่าเครื่องเจอแค่กระดาษสีดํา4แผ่น! เปิดคำพิพากษาคดีฉ้อโกงขายอัลฟ่าสถาบันนิติฯ 8.9 แสน
เปิดตัว 'บ.เอ เอส แอลเอ็มฯ' ผู้ขายต่อเครื่องอัลฟ่า ให้ 2 เอกชนคดีฉ้อโกงหน่วยงานรัฐ
หลังแพ้คดีฉ้อโกงอัลฟ่า! บ.เอเอสแอลฯ ได้งาน 45 สัญญา 245 ล.- 'สตช.' จ้างมากสุด
เจาะกองทัพไทย ผูกซื้อกล้องจับรังสีความร้อน บ.คดีฉ้อโกงอัลฟ่า 2 สัญญา 48 ล.
@ ซื้อเครื่องบิน บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด
แห่งที่ 3! บ.เอ็ม-แลนดาร์ช แพ้คดีฉ้อโกงอัลฟ่า 6 แต่ยังได้งานขายเครื่องบิน ทบ. 326 ล.
เบื้องลึก! ทบ.ซื้อเครื่องบิน 326 ล. บ.คดีอัลฟ่า มีปัญหาเปลี่ยนแปลงงบไม่ผ่าน ครม.ด้วย?
บ.เอ็ม-แลนดาร์ช เปิดเบื้องหลังข้อหาฉ้อโกงอัลฟ่า 6 เป็นห่วงโซ่ลำดับท้ายๆ-ชดใช้ครบแล้ว
@ ซื้อเครื่องตรวจ 3 จชต. กองทัพบก
สัญญาล่าสุด! ทบ.ซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย 3 จชต. จาก บ.คดีฉ้อโกงอัลฟ่าอีก 3.2 ล.
ไส้ใน ทบ.ซื้อเครื่องตรวจวัตถุฯ 3 จชต. อ้างอิง บ.คดีฉ้อโกงอัลฟ่า สืบราคากลางด้วย
พบหลักฐาน 'ผู้ชนะ-คู่เทียบ' ขายเครื่องตรวจวัตถุฯ ทบ. แจ้งเบอร์โทรฯ-อีเมล์ เดียวกัน
หลักฐานใหม่! ทบ.ซื้อเครื่องตรวจวัตถุฯ อดีต กก.-หุ้นใหญ่ 'คู่เทียบ' เคยรับมอบอำนาจ 'ผู้ชนะ'
รู้จักเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยชนิดเสา ทบ.จ่อส่งลงใต้ ผู้ขายเจ้าเก่า "อัลฟ่า6"
เปิดคำชี้แจง บ.กัญจน์ณพัฒน์ ปมบัญชีดำคดีอัลฟ่า-เอาเครื่องตรวจชนิดเสาที่ไหนมาขาย ทบ.?
@ ขึ้นบัญชีดำ บ.ขายจีที-อัลฟ่า
ไฉนกองทัพไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทขาย ‘จีที200 - อัลฟ่า6’
ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล.
กางกฎหมายถาม! ทำไม กองทัพบก ไม่ขึ้นบัญชีดำ บ.ขายจีที 200
'บิ๊กตู่'สั่ง ทอ.-ทร.ตรวจสอบปม บ.เอวิเอฯแพ้คดีจีที 200 แต่ยังได้งานกองทัพ
ยังไม่ขึ้นบัญชีดำ -ตัวแทนเจ้าเดียวในไทย! ทร.แจงซื้อจ้าง บ.เอวิเอฯ คู่กรณีจีที200 กองทัพ
สอบยัน! คำชี้แจง ทร.ปมซื้อจ้างคู่กรณีจีที 200 กองทัพ - ข้อมูล 'SAAB' ในมืออิศรา
ข้อมูลใหม่! คดีจีที200 'ทร.' โดนหลอกซื้อ 8 เครื่อง 9.1 ล. แต่ไม่ขึ้นบัญชีดำ บ.เอวิเอฯ
ผูกซื้อสินค้า บ.SAAB ด้วย! ล้วงเหตุผล ทอ. ทำไมจัดจ้าง บ.คู่กรณีฉ้อโกงจีที 200 กองทัพ
เตรียมแจ้งทิ้งงานโดยทุจริต! คกก.วินิจฉัยฯ นัดเคลียร์ปมขึ้นบัญชีดำ บ.ฉ้อโกงขายจีที200
คกก.วินิจฉัยฯสั่งทำหนังสือจี้ 15 หน่วยงานรัฐ-เอกชน แจงคืบหน้าคดีโกงจีที200
รอคำตอบ SAAB! 'อิศรา' ส่งอีเมล์ถาม ปมตั้งบ.แพ้คดีฉ้อโกงจีที200 ตัวแทนจำหน่ายไทย
ไม่เคยระบุเจาะจงให้จัดซื้ออย่างไร! ฟังคำตอบ SAAB แจงปมตั้ง บ.คดีฉ้อโกงจีทีตัวแทน
เช็คชื่อ 15 หน่วยงานรัฐ-6 เอกชน คดีฉ้อโกงจีที-อัลฟ่า วัดใจ คกก.วินิจฉัยฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ
ปิดฉากคดีขึ้นบัญชีดำบ.ขายจีที-อัลฟ่า! คกก.วินิจฉัย ประเดิมแจ้ง 'กองทัพ' ชงชื่อผู้ทิ้งงาน
@ ตามคืนเงินค่าจีที-อัลฟ่า
รายได้ 113 ล.! สถานะธุรกิจล่าสุด บ.อดีตคู่สัญญาขายอัลฟา 6 ปค. 33 ล้าน
อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟาฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง'
ปค.382 ล.-เพชรบุรี 8.5 แสน! ชนะคดีโกงอัลฟา 6 ยังไม่ได้เงินคืน-อัยการตามสืบทรัพย์แล้ว
เจาะลึก บ.เปโตรฯ ก่อนขายอัลฟา 6 ปค. 349 ล.-คนตระกูล 'รัชกิจประการ' เป็นกก.เพียบ!
กก.คนสุดท้าย บ.เปโตรฯ ขายอัลฟา 6 ปค. 349 ล. คือ น้องชาย 'นาที รัชกิจประการ'?
พลิกปูมคดีฮั้ว-ผู้เกี่ยวข้อง จัดซื้ออัลฟาฯ ปค. 2 สัญญา 382 ล. -ก่อนขาดอายุความปริศนา!
ขายไปก่อนแล้ว! 'พิพัฒน์' แจงสัมพันธ์ธุรกิจ 'รัชกิจประการ'- บ.คู่สัญญาอัลฟ่าฯ ปค. 349 ล.
@ ทุจริตจัดซื้อเครื่องจีที-อัลฟ่า
ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
บ.ขายอัลฟา349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/