"...คำชี้แจงของ โฆษกกองทัพเรือ ที่ระบุว่า "ในช่วงที่ทำสัญญาจัดซื้อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังไม่ได้ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กองทัพเรือจึงสามารถทำสัญญากับบริษัทตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้..จึงยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขั้นตอนกระบวนการดำเนินการของ กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ที่มีต่อการยื่นเรื่องพร้อมความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้ขึ้นบัญชีดำ สั่งให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นผู้ทิ้งงานอย่างชัดเจน ..."
..........................................
"กรณีการทำสัญญาจัดซื้ออะไหล่และพัสดุตามการรายงานข่าวนั้น เป็นการจัดซื้ออะไหล่สำหรับระบบเรดาร์ ระบบสื่อสารและระบบควบคุมการยิง ตราอักษร SAAB จากบริษัท SAAB ประเทศสวีเดน ที่กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2563 โดยระบบเรดาร์ ระบบสื่อสารและระบบควบคุมการยิงนี้ กองทัพเรือได้จัดหามาจากบริษัท SAAB และติดตั้งไว้ใช้ในราชการในเรือรบอยู่แล้ว ทำให้การจัดหาอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงจำเป็นต้องจัดหาจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของระบบหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตรายอื่นได้ ซึ่งบริษัท SAAB ได้แต่งตั้งบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายอะไหล่ประเภทดังกล่าวให้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงรายเดียวภายในประเทศไทย การจัดซื้ออะไหล่นี้ทำโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นการจัดซื้อผ่านตัวแทน"
"นอกจากนี้ ในขณะที่ทำสัญญานั้น บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังไม่ได้ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กองทัพเรือจึงสามารถทำสัญญากับบริษัทตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้"
คือ คำชี้แจงล่าสุดจาก พลเรือโทเชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ต่อกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้กองทัพเรือ และกองทัพอากาศได้ดำเนินการตรวจสอบ หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวว่าบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด คู่สัญญาขายเครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 ให้กับหน่วยงานราชการไทย ซึ่งบริษัทนี้มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาล และแพ้คดีไปแล้ว โดยผู้บริหารบริษัทถูกตัดสินจำคุกหลายปี แต่ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าว ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงาน (Blacklist) และยังขายสินค้าจำนวนมากให้กับ กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564
(อ่านประกอบ : ยังไม่ขึ้นบัญชีดำ -ตัวแทนเจ้าเดียวในไทย! ทร.แจงซื้อจ้าง บ.เอวิเอฯ คู่กรณีจีที200 กองทัพ)
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาคำชี้แจงของ โฆษกกองทัพเรือดังกล่าว จะพบข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง
- คำชี้แจงการทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ในช่วงปี 64 ที่ขาดหายไป?
กล่าวคือ ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่าง กองทัพเรือ และบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบไปก่อนหน้านี้ มีจำนวน 6 สัญญา
แยกเป็นปี 2563 จำนวน 4 สัญญา จัดซื้อสินค้าที่มีตราอักษร SAAB ทั้งหมด
ส่วนอีก 2 สัญญา เกิดขึ้นในปี 2564 เป็นการจัดซื้อะไหล่ระบบการควบคุมการยิง CEROS 200 จำนวน 4 รายการ และ EOS 500 จำนวน 22 รายการ สินค้าทั้ง 2 สัญญา ไม่ได้ระบุ ตราอักษร SAAB เอาไว้ (ดูข้อมูลประกอบ)
จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้าทั้ง 2 สัญญาในปี 2564 นี้ โฆษกกองทัพเรือ ยังไม่ได้มีการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
หรือ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ก็เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าชนิดนี้รายเดียวในประเทศไทยด้วย?
ประเด็นที่สอง
คำชี้แจงที่ระบุว่า "ในช่วงที่ทำสัญญาจัดซื้อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังไม่ได้ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กองทัพเรือจึงสามารถทำสัญญากับบริษัทตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้"
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ตั้งข้อสังเกตตามระเบียบข้อกฎหมายไปแล้วว่า เรื่องนี้มีข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วนคือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 และ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560
หากพิจารณาข้อกำหนดในกฎหมายและระเบียบ ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะพบว่า กรณีของ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด คู่สัญญาขายเครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 ให้กับหน่วยงานราชการไทย ที่มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาล และแพ้คดีไปแล้ว ในช่วงปี 2561 น่าจะเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (3) ที่ว่าด้วยคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการโดยไม่สุจริต
ตามกระบวนการทางกฎหมายควรจะต้องมีการเสนอเรื่องให้เป็นผู้ทิ้งงาน และยังมีผลไปถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลด้วย
โดยหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่ทำสัญญาด้วยจะต้องยื่นเรื่องพร้อมความเห็นของตนเสนอไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานโดยเร็ว ซึ่งถ้าหากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 120 ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ด้วย
เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับคดีความการจัดซื้อเครื่องจีที 200 จะพบว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 ศาลมีคำพิพากษาให้ กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ชนะคดีฉ้อโกงต่อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ไปแล้ว
พฤติการณ์เข้าข่ายมีความไม่สุจริตชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากชนะ คดีแล้ว กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในการเสนอชื่อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด หรือผู้บริหารที่ถูกตัดสินลงโทษ ให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่
ดังนั้น คำชี้แจงของ โฆษกกองทัพเรือ ที่ระบุว่า "ในช่วงที่ทำสัญญาจัดซื้อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังไม่ได้ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กองทัพเรือจึงสามารถทำสัญญากับบริษัทตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้"
จึงยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขั้นตอนกระบวนการดำเนินการของ กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ที่มีต่อการยื่นเรื่องพร้อมความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้ขึ้นบัญชีดำ สั่งให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นผู้ทิ้งงานอย่างชัดเจน
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า ทำไม กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ถึงไม่รีบดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายดังกล่าว
คงต้องรอฟังคำชี้แจงที่ชัดเจนอีกครั้ง!
ประเด็นสาม
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท SAAB นั้น ในฐานข้อมูลข่าวของสำนักข่าวอิศรา เคยปรากฎข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังนี้
ในช่วงปี 2555 สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า กลุ่มบริษัท Saab AB (publ) จากประเทศสวีเดน ผู้ค้าอาวุธยุทธภัณฑ์ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานในกองทัพกว่า 2.8 พันล้านบาท
ก่อนหน้านี้กลุ่มบริษัท ซาบ จากประเทศสวีเดนเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องบนกริฟเพ่นให้กองทัพอากาศ เป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO.,LTD.) ผู้ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด (เครื่อง GT 200) ให้หน่วยงานในกองทัพและอื่นๆเป็นเงินทั้งสิ้น 1,365,770,213 ในจำนวนนี้เป็นกองทัพอากาศถึง 818,526,636 บาท ที่เหลือเป็นกองทัพบก และกองทัพเรือ
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 ประเด็นหนึ่งที่ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีอนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างกลุ่มบริษัท SAAB ในการเปลี่ยนแปลงติดตั้งอุปกรณ์เรือรบหลวงนเรศวรว่าส่อทุจริต
(อ่านประกอบ : ผ่าขุมทรัพย์“Saab AB”ยักษ์ค้าอาวุธสวีเดนรวบ 7 โครงการในกองทัพ 2.8 พันล.)
ในช่วงเดือนก.ย.2561 ภายหลังจากที่ นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ถูกศาลตัดสินโทษจำคุกคนเดียวในคดีอาญาขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 จากการฟ้องร้องของ 2 หน่วยงาน คือ กรมราชองครักษ์ และ กรมสรรพาวุธทหารบก รวมจำนวน 19 ปี ส่วนบริษัท เอวิเอ แซทคอม จากัด เสียค่าปรับคดีอาญาและแพ่งชดใช้เงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 9,090,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงการซื้อขายเครื่องจีที 200 และแนวทางการต่อสู้คดี แต่ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ จึงเดินทางไปติดต่อที่บริษัท เอวิเอ แซทคอม ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ เลขที่ 19 ถนนพหลโยธิน แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า ที่อยู่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งอาคารสูงประมาณ 6 ชั้น ที่บริเวณหน้าอาคารมีเสาขนาดใหญ่มีโลโก้บริษัท SAAB อยู่ มีการติดตั้งประตูเหล็กระบบอัตโนมัติป้องกันเข้มงวด
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระบุว่าไม่รู้จัก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ แต่อย่างใด
และแจ้งว่า ในอาคารหลังนี้ซึ่งชื่อว่าอาคาร 19 มีบริษัทอยู่หลายแห่ง และไม่ทราบรายละเอียดบริษัทอะไรมาก มีหน้าที่แค่รักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ถ้าหากผู้ใดประสงค์จะเข้าไปในตัวอาคารจะต้องนัดก่อนล่วงหน้า
จากนั้น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้โทรศัพท์ติดต่อไปภายในตัวอาคารเพื่อติดต่อประสานงานให้สำนักข่าวอิศรา ก่อนจะแจ้งให้ทราบภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ภายใน ขอให้ฝากข้อมูลไว้แล้วจะติดต่อกลับมาในภายหลัง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการสังเกตป้ายรายชื่อที่ติดอยู่บริเวณป้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พบว่า มีรายการระบุชื่อบริษัทที่ตั้งอยู่ในอาคารแห่งนี้ประกอบไปด้วย บริษัทเอวีเอ แซทคอมจำกัด บริษัท เอวิเอ ซินเนอยี จำกัด บริษัท ลิบราเวย์ จำกัด และ บริษัท วิช-วี จํากัด
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัท ลิบราเวย์ จำกัด
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 2 พ.ค.61 บริษัท ลิบราเวย์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 67.3161% บริษัท ซาบ เอบี จำกัด (มหาชน) สวีเดน ถืออยู่ 25.1000% หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อ นาย พสิษฐ ตงศิริ นาย พีรพล ตระกูลช่าง นาย แมนเฟรด แม็กซิมิเลียน เกอร์ฮาร์ด คาร์เก้ พล.อ. อภิชิต กานตรัตน์ นางสาว อรุณี ธารินเจริญ นาย ณทัต ราชเวชชพิศาล นางสาว นาฎวดี วัฒนกิจ นางสาว พัลลภา ศรีเชียงหวาง นาย พิพัฒน์ ถาวรโลหะ นางสาว สุทธาวรรณ รักษาจันทร์ นาย บรรณกร เพชรทวีธรรม นาย ศรายุทธ ทุมทา นาย สุรัตน์ แจ่มศรี นาย สันติ เกลี้ยงเกิด
อย่างไรก็ดี นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ยังปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ลิบราเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ่นใหญ่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด อยู่
ส่วนบริษัท เอวิเอ ซินเนอยี จำกัด เป็นธุรกิจที่เคยปรากฎชื่อ นาย สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ร่วมเป็นกรรมการ มีบริษัท ลิบราเวย์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลของ บริษัท SAAB ที่อยู่ในมือของสำนักข่าวอิศรา ในขณะนี้
อ่านประกอบ:
'บิ๊กตู่'สั่ง ทอ.-ทร.ตรวจสอบปม บ.เอวิเอฯแพ้คดีจีที 200 แต่ยังได้งานกองทัพ
ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล.
กางกฎหมายถาม! ทำไม กองทัพบก ไม่ขึ้นบัญชีดำ บ.ขายจีที 200
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/