"....คำถาม คือ หลังจากชนะ คดีแล้ว กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในการเสนอชื่อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด หรือผู้บริหารที่ถูกตัดสินลงโทษ ให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ..."
............................................
นับจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง!
ต่อข้อกังขากรณี บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาขายเครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 ให้กับหน่วยงานราชการไทย ที่มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาลและแพ้คดีไปแล้วเมื่อปี 2561
แต่ในช่วงเวลาต่อมายังคงปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานราชการนับสิบสัญญา รวมวงเงินหลายสิบล้านบาท
อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไม บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่ควรจะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้สามารถเข้าร่วมประกวดราคางานรัฐได้อีกต่อไป แต่ยังสามารถเข้ามาร่วมประมูลงานกับหน่วยงานรัฐได้อีก เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ดังความเห็นของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เขียนระบุไว้ชัดเจนว่า
"น่ากังขามากกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน “กองบัญชาการกองทัพไทย” เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้กองทัพไทยชนะคดีที่เอกชนร่วมกันฉ้อโกงขายเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิด GT200 และ ALPHA6 คดีดำเลขที่ อ284/62 คดีแดงที่ 931/62 วันที่ 23 กันยายน 2562 ซึ่งตามกฎหมายแล้วกองทัพไทยควรเอาเหตุนี้ยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาสั่งให้เอกชนรายนั้นเป็น “ผู้ทิ้งงาน” ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แต่ผ่านมาปีกว่าผู้มีอำนาจในกองทัพไทยกลับนิ่งเฉยไม่ทำอะไร เปิดโอกาสให้บริษัทและบุคคลกลุ่มนี้สามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์และสินค้าอื่นให้แก่สามเหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทยและอีกหลายหน่วยราชการได้เรื่อยมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"
"ทราบกันดีว่าขบวนการต้มตุ๋น GT200 และ ALPHA6 สร้างความเสียหายแก่รัฐราว 1.13 พันล้านบาท เป็นคดีคอร์รัปชันฉาวโฉ่ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องจำนวนมาก ปัจจุบันมีคดีค้างคาใน ป.ป.ช. ดีเอสไอและศาลหลายคดี"
"ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เอกชนรายใดถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ค้าขายกับรัฐได้อีก รวมทั้งคนที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น บทลงโทษนี้ยังโยงไปถึงนิติบุคคลอื่นในกิจการประเภทเดียวกันที่มีชื่อเป็นผู้ทิ้งงานร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย (มาตรา 29(5) มาตรา 109 และ 120 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อ 193 และข้อ 196)"
"การขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน (Blacklist) จึงเป็นมาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ด้วยการปิดโอกาสไม่ให้พวกคนโกงหรือชอบเอาเปรียบเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับรัฐได้อีก มาตรการนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องใส่ใจ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางควบคุมคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้"
ทั้งนี้ เกี่ยวกับความเห็นของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ดังกล่าว นอกจากข้อเท็จจริงการประกวดราคางาน ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบหลักฐานเชิงประจักษ์ไปแล้วว่า ในช่วงปี 2563-2564 บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังคงได้รับงานจัดซื้อสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์จาก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ไปจำนวน 12 สัญญา รวมวงเงิน 54.43 ล้านบาท หลายสัญญาใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงอีกด้วย (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
(่อ่านประกอบ : ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล.)
น่าสนใจว่า แง่มุมทางกฎหมายที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
ข้อกฎหมายที่ ดร.มานะ หยิบยกมาใช้ประกอบ คือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 และ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560
ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ระบุมาตราไว้ดังนี้
มาตรา 29 (5) เป็นการระบุเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัย ในการเสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงการคลังในการพิจารณาสั่งให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญา เป็นผู้ทิ้งงาน และการเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงการคลังและรัฐมนตรี ในการพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงาน
มาตรา 109 อยู่ในหมวด 12 ว่าด้วยการทิ้งงาน ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการ 6 ประการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญานั้นกระทําการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน
โดยใน (3) ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการอันมีลักษณะเป็น การขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทําการโดยไม่สุจริต
มาตรา 120 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่ กําหนดไว้สําหรับความผิดตามวรรคหนึ่ง
(ดูรายละเอียดข้อกฎหมายประกอบ http://www.ops.moc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3918)
ขณะที่ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ระบุข้อไว้ดังนี้
ข้อ 193 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการอันมี ลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามความในมาตรา 109 ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ผู้ยื่นข้อเสนอ คู่สัญญา หรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ หรือที่ปรึกษา หรือผู้ให้บริการ ออกแบบหรือควบคุมงาน เป็นผู้ทิ้งงาน แล้วแต่กรณี พร้อมความเห็นของตนเสนอไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานโดยเร็ว เมื่อปลัดกระทรวงการคลังได้พิจารณาหลังจากที่ได้ฟังความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัย ตามมาตรา 29 (5) แล้ว และเห็นว่าบุคคลดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็ให้ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทิ้งงาน โดยระบุชื่อผู้ทิ้งงานไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อ ผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานรายนั้นทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนด้วย ในกรณีปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ให้แจ้งผลการพิจารณา ไปให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบด้วย
ข้อ 196 ในกรณีที่นิติบุคคลใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ 193 ข้อ 194 หรือข้อ 195 ถ้าการกระทําดังกล่าวเกิดจากหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น ให้ปลัดกระทรวงการคลังสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทิ้งงานด้วย
ในกรณีที่นิติบุคคลรายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ 193 ข้อ 194 หรือข้อ 195 ให้คําสั่งดังกล่าวมีผลไปถึงนิติบุคคลอื่นที่ดําเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งมีหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลเดียวกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลที่ถูกพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานด้วย
ในกรณีที่บุคคลธรรมดารายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ 193 ข้อ 194 หรือข้อ 195 ให้คําสั่งดังกล่าวมีผลไปถึงนิติบุคคลอื่นที่เข้ายื่นข้อเสนอ ซึ่งมีบุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย
(ดูรายละเอียดข้อกฎหมายประกอบ http://www.ops.moc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3926)
หากพิจารณาข้อกำหนดในกฎหมายและระเบียบ ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะพบว่า กรณีของ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด คู่สัญญาขายเครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 ให้กับหน่วยงานราชการไทย ที่มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาล และแพ้คดีไปแล้ว ในช่วงปี 2561 น่าจะเข้าเงื่อนไขมาตรา 109 (3) ที่ว่าด้วยคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการโดยไม่สุจริต
ตามกระบวนการทางกฎหมายควรจะต้องมีการเสนอเรื่องให้เป็นผู้ทิ้งงาน และยังมีผลไปถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลด้วย
โดยหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่ทำสัญญาด้วยจะต้องยื่นเรื่องพร้อมความเห็นของตนเสนอไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานโดยเร็ว ซึ่งถ้าหากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 120 ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ด้วย
ย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับคดีความการจัดซื้อเครื่องจีที 200 จะพบว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 ศาลมีคำพิพากษาให้ กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ชนะคดีฉ้อโกงต่อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ไปแล้ว
พฤติการณ์เข้าข่ายมีความไม่สุจริตชัดเจน
คำถาม คือ หลังจากชนะ คดีแล้ว กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในการเสนอชื่อ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด หรือผู้บริหารที่ถูกตัดสินลงโทษ ให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่
ดำเนินการแล้วตัดขัดปัญหาอะไร หรือถ้าไม่ดำเนินการเป็นเพราะเหตุผลอะไร
กรณีนี้ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานของรัฐ ควรจะต้องมีคำชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชนให้กระจ่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด
เพราะเมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือและศรัทธา
อ่านประกอบ :
ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล.
ไฉนกองทัพไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทขาย ‘จีที200 - อัลฟ่า6’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage