"...ครั้งแรก จัดซื้อในปี 2551 จำนวน 63 เครื่อง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวงเงิน 33.56 ล้านบาท มีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุดได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปสั่งซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้ มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน...ครั้งที่สอง จัดซื้อในปี 2552 จำนวน 479 เครื่อง ภายในวงเงิน 369.02 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษมีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด ได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาเช่นกัน ...."
..................................
คดีฮั้วในการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ของ กรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด จำนวน 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท (เฉลี่ยราคาเครื่องละ 729,500 บาท)
ปัจจุบันได้ขาดอายุความไปหมดแล้ว ทั้ง 2 สัญญา
คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบล่าสุด ต่อกรณี กรมการปกครอง (ปค.) ทำสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ หรือ อัลฟ่า 6 กับเอกชน 2 ราย คือ 1. บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด จำนวน 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท และ 2. บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท (เฉลี่ยราคาเครื่องละ 729,500 บาท) รวมวงเงิน 2 สัญญากว่า 382 ล้านบาท ในช่วงปี 2552 ที่ปัจจุบันกรมการปกครอง อยู่ระหว่างการติดตามเงินค่าสินค้าคืน หลังจากศาลแขวงดอนเมืองได้มีคำพิพากษาให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง แพ้คดีฉ้อโกงขายเครื่องอัลฟ่าต่อกรมการปกครอง และศาลได้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยัดอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในขณะนี้
(อ่านประกอบ : ข้อมูลลับ! จัดซื้ออัลฟ่า 6 ปค. 2 สัญญา 382 ล. คดีฮั้วขาดอายุความหมดแล้ว)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุผลเบื้องลึกว่า ทำไมคดีฮั้วการจัดซื้อเครื่อง อัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา ถึงขาดอายุความได้ ?
แต่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อหาตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นการเอาเปรียบต่อหน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ในกรณีการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา
เคยปรากฎชัดเจนในรายงานการสอบสวนของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาแล้ว
มีรายละเอียดดังนี้
@ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดราคา
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า กรมการปกครอง ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 จำนวน 2 ครั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงโดยสรุป ดังนี้
ครั้งแรก จัดซื้อในปี 2551 จำนวน 63 เครื่อง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวงเงิน 33.56 ล้านบาท มีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุดได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปสั่งซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้ มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน
ครั้งที่สอง จัดซื้อในปี 2552 จำนวน 479 เครื่อง ภายในวงเงิน 369.02 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษมีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด ได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพบว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2552 กรมการปกครอง ได้ทำสัญญาเลขที่ 118/2552 ซื้อเครื่องตรวจหาเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติด พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 63 เครื่องจาก บ.ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,450,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 กรมการปกครอง ได้ทำสัญญาเลขที่ 6/2552 จัดซื้อเครืองตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยากเสพติดแบบมือถือ(พร้อมอุปกรณ์บอกชนิดการตรวจของยาเสพติด จำนวน 3 สาร) ผลิตภัณฑ์จากสหราชอาณาจักร(อังกฤษ)จำนวน 479 เครื่อง จาก บ.เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด วงเงิน 349,430,500.00 บาท
โดยในการตรวจสอบการจัดซื้ออัลฟา 6 จำนวน 63 ชุด ของ กรมการปกครอง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) นั้น มี 2 บริษัทเข้าร่วมเสนอราคา คือ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูจีซี ฯ เสนอราคา 33,500,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 530,952 บาท ส่วน บริษัท แจ๊คสัน ฯ เสนอราคา 33,508,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 531,873 บาท ทั้งนี้ บริษัท ยูจีซี ฯ ลดราคาเหลือ 33,450,000 บาท จึงได้รับการคัดเลือก ส่วนการจัดซื้อสัญญาของ บ.เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ยังไม่พบข้อมูลเป็นทางการ
@ เส้นทางการนำเข้าเครื่อง ALPHA 6
สตง. ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากรพบว่า เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนของเครื่อง ALPHA 6 มาจากต่างประเทศ โดยนำเข้ามาเป็นถุงเมล์ด่วน ซึ่งเป็นการนำเข้าของเร่งด่วนประเภทที่ 3 ที่ต้องชำระอากรแต่ละใบตราส่งมีราคา F.O.B. ไม่เกิน 40,000 บาท แล้วมาประกอบเป็นตัวเครื่อง ALPHA 6 ในประเทศไทย โดยกรรมการผู้จัดการบริษัท รับว่าเป็นผู้ประกอบเอง ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศกรณีการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6ดังกล่าวถือว่าเป็นพัสดุที่ผลิตในประเทศไทยและเมื่อนำราคาของที่นำเข้าที่สำแดงต่อกรมศุลกากรมาคำนวณเป็นตัวเครื่อง 1 ชุด หรือ 1 เครื่อง
น่าจะมีราคาเป็นต้นทุนทางวัตถุดิบแต่ไม่รวมค่าดำเนินการอื่น ๆ ประมาณ 1,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง
@ ผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง
ในด้านประสิทธิภาพของเครื่อง ALPHA 6 นั้น สตง. ระบุว่า ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 82/2553 ลงวันที่ 1 เมษายน 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 โดยคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบและทำรายงานผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT 200 และเครื่อง ALPHA 6 ด้วย
ผลปรากฏว่า ไม่พบว่ามีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสม และไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่อง ALPHA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ
ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ หรือ ALPHA 6 ไม่มีการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ตามคุณสมบัติของเครื่องที่ผู้ขายแสดงไว้และที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ
เบื้องต้น สตง. ได้ชี้มูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุและดำเนินการหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ในความเสียหายจากการจัดซื้อทั้งสองครั้ง และแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินการทางแพ่ง และทางวินัยอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมการปกครอง สำหรับการดำเนินการทางอาญา กรมการปกครองได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงต่อดีเอสไอ และ ดีเอสไอ ได้รับเป็นคดีพิเศษไว้แล้ว
@ ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4 ขรก.- จัดซื้อเครื่อง อัลฟ่า 6
ต่อมาในช่วงเดือนกันยายน 2561 สตง. ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อแจ้งติดตามความคืบหน้าผลตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจหาระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถืออัลฟ่า 6
ระบุสาระสำคัญว่า ก่อนหน้านี้ สตง. ได้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของกรมการปกครอง และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ดำเนินการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัท แจ็คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง
เบื้องต้น กรมการปกครอง แจ้งตอบกลับว่า ได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ว รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้างแรงกับข้าราชการจำนวน 4 ราย
บัดนี้ ระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว สตง.ยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินการทางละเมิดแต่อย่างใด จึงขอให้กรมการปกครองพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สตง.ทราบโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร อธิบดีกรมการปกครอง อาจถูกลงโทษทางปกครอง ตามมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ด้วย
จากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป
@ ข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง
สำหรับข้อมูลข้าราชการของกรมการปกครอง จำนวน 4 ราย ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการ
แต่ในส่วนของเอกชนที่เกี่ยวข้องนั้น ในหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ที่แจ้งถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ในส่วนสัญญาสอง กับ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท
ระบุรายชื่อผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย ไว้ชัดเจน คือ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายหยาง เซียะ เซียง กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 1, นายหยาง เซียะเซียง ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 2 , บริษัท เอ เอส แอล เอ็มเทรดดิ้ง จำกัด โดย นายสุเมธ เมธเศรษฐ กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 3 , นายสุเมธ เมธเศรษฐ ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 4 , บริษัท เปโตร กรุงเทพฯ จำกัด โดย นายประทีป มนตรี กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 7 และนายประทีป มนตรี ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 8
ส่วนการจัดซื้อสัญญาแรก กับ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด จำนวน 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท รายชื่อผู้ต้องหาส่วนใหญ่ชุดเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวจาก บริษัท เปโตร กรุงเทพฯ จำกัด และนายประทีป มนตรี กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะส่วนตัว มาเป็น บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือบริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด และนายณธกร หรือรัชกฤติ ภูชัชวนิชกุล และในสถานะส่วนตัว เท่านั้น
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนทั้ง 4 ราย จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลดังนี้
@ บริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2548 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 36/67 ซอยเพชรเกษม 68 ถนนเพชรเกษม แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายเครื่องตรวจจับ
ปรากฎชื่อ นายสุเมธ เมธเศรษฐ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ ( ณ 30 เมษายน 2560)
@ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 19 มิถุนายน 2539 ทุนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 437 ซอยบางนา-ตราด 27 แขวงบางนาเหนือ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องตรวจหา กล้องตรวจการ
ปรากฎชื่อ นาย หยาง เซียะ เซียง และนางสาว จิราพร เชาว์เฉียบ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ น.ส.จิราพร เชาว์เฉียบ ถือหุ้นใหญ่สุด ( ณ 31 กรกฎาคม 2563)
@ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ประกอบธุรกิจ จำหน่ายเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ไฟฟ้า ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 151/135 หมู่ 9 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพ ฯ
นายศิริพงษ์ บวรวัฒนะ และ นายวรวิทย์ บวรรัตนะ ถือหุ้นใหญ่ในช่วงก่อตั้ง
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 8 พฤศจิกายน 2551 (ก่อนทำสัญญาจัดซื้อครั้งแรก) นายณธกร ภูชัชวนิชกุล ถือหุ้นใหญ่ 29,750 หุ้น นายวรวิทย์ บวนรัตนะ 5,875 หุ้น นายชูเกียรติ ภูชัชวนิชกุล 24,275 หุ้น นายคำนึง สุพรรณ์ 15,000 หุ้น นายเฉลิมพล กาญจนากร 15,000 หุ้น นายชาญเดช ภูชัชวนิชกุล 10,000 หุ้น และนายสนิตย์ ลหายเจริญ 100 หุ้น มี นายชูเกียรติ ภูชัชวนิชกุล เป็นกรรมการ
ปัจจุบัน นาย รัชกฤต ภูชัชวนิชกุล ปรากฎชื่อเป็นกรรมการ และถือหุ้นใหญ่ ( ณ 31 กรกฎาคม 2563)
@ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ก่อตั้งวันที่ 18 ตุลาคม 2536 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 580/1 ซอยรามคำแหง 39 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพ ฯ เดิม บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับ นายดำรงค์ รัตนลีลาศ , นายอดุลย์ ฉายรัตน์ และ นายสมศักดิ์ เอกเอื้อมณี
ปัจจุบัน มี นายประทีป มนตรี เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ แจ้งจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 และขณะนี้ ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
โดยก่อนแจ้งเลิกกิจการ แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจ ขายรังนกนางแอ่น ด้วย
ขณะที่ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เปโตรกรุงเทพ ฯ จำกัด มีความเชื่อมโยงผ่านคนนามสกุล ภูชัชวนิชกุล ที่เคยเข้ามาถือหุ้นและเป็นกรรมการ บริษัททฯ ทั้ง 2 แห่ง ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง 2 บริษัท
และล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นพบข้อมูลใหม่ว่า ก่อนหน้าที่ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จะทำสัญญาซื้อขายเครื่องอัลฟ่า จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท กับกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2552 มีคนในตระกูล รัชกิจประการ ของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย และคนในตระกูล รัชกิจประการ ก็แจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการทั้งหมด ก่อนหน้าที่ บริษัท เปโตรฯ จะทำสัญญาซื้อขายเครื่องอัลฟ่า 6 จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท กับกรมการปกครองดังกล่าว ประมาณ 5 เดือน
ส่วน นายประทีป มนตรี กรรมการคนเดียวที่เหลืออยู่ของบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ในช่วงหลังการขายเครื่องอัลฟ่า จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท ให้กับกรมการปกครอง และเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558
จากการตรวจสอบพบว่า นายประทีป มนตรี มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ ของ นาง นาที รัชกิจประการ คู่สมรสของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
มีชื่อนามสกุลเหมือนกับ น้องชาย นาง นาที รัชกิจประการ ด้วย
(อ่านประกอบ : เจาะลึก บ.เปโตรฯ ก่อนขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล.-คนตระกูล 'รัชกิจประการ' เป็นกก.เพียบ!, กก.คนสุดท้าย บ.เปโตรฯ ขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล. คือ น้องชาย 'นาที รัชกิจประการ'?)
ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีฮั้วในการจัดซื้อ อัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะสืบค้นได้ในขณะนี้
ส่วนเหตุผลเบื้องลึกว่า ทำไมคดีถึงขาดอายุความได้นั้น คงยังต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการอีกครั้ง (เช่นเดิม)
อ่านประกอบ :
ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
บ.ขายอัลฟ่า349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
รายได้ 113 ล.! สถานะธุรกิจล่าสุด บ.อดีตคู่สัญญาขายอัลฟ่า 6 ปค. 33 ล้าน
อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟ่าฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง'
ปค.382 ล.-เพชรบุรี 8.5 แสน! ชนะคดีโกงอัลฟ่า 6 ยังไม่ได้เงินคืน-อัยการตามสืบทรัพย์แล้ว
เจาะลึก บ.เปโตรฯ ก่อนขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล.-คนตระกูล 'รัชกิจประการ' เป็นกก.เพียบ!
กก.คนสุดท้าย บ.เปโตรฯ ขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล. คือ น้องชาย 'นาที รัชกิจประการ'?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage