"...สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ขอเรียนว่า ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว เป็นประเด็นเดียวกับที่ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 มีหนังสือขอความเป็นธรรม ฉบับลงวันที่ 23 ธ.ค.2559 กล่าวคือ ขอให้สอบสวนเพิ่มเติมรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เกี่ยวกับเรื่องความเร็วของรถขณะเกิดเหตุ ซึ่งได้สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เป็นพยานแล้ว ต่อมาได้พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า ปรากฏตามข้อจริงใหม่เพิ่มเติมซึ่งมีเหตุให้รับฟังได้ และได้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม..."
"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ จึงใคร่ขอนำความเห็นของข้าพเจ้าตามบันทึกนี้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย"
คือ ประโยคปิดท้ายในหนังสือบันทึกข้อความฉบับสอง ที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ส่งแจ้งถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องการแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นว่าในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย น่าจะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีอีกครั้งได้ภายในกำหนดอายุความ และควรมีการแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมด้วย ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งคดี ควรพิจารณาดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อไป และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นนั้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ได้ทำบันทึกข้อความฉบับแรก ส่งแจ้งถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อเสนอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส คดีขับรถชนข้าราชการตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 และขอให้มีการการชี้แจงประชาชนให้รับทราบเป็นระยะๆ ถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเหตุผลว่าทำไมถึงมีการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้โดยให้ดูว่ามีช่องทางใดที่สามารถดำเนินการได้บ้างมาแล้ว
(อ่านประกอบ : ต้องดูสำนวนทุกขั้นตอน-ตอบ ปชช.ได้! โชว์หนังสือ ปธ.ก.อ.ชง อสส.สอบคดี‘บอส อยู่วิทยา’)
สถานการณ์ล่าสุด ภายหลังจากที่ หนังสือบันทึกข้อความฉบับสอง ที่ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ส่งแจ้งถึง อัยการสูงสุด (อสส.) ดังกล่าว ส่งผลทำให้ถูกสังคมจับตามองอย่างมาก ถึงความขัดแย้งเรื่องแนวทางปฏิบัติในการฟ้องร้องคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ระหว่าง ก.อ. และ อสส. ที่เริ่มจะปรากฏให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
เพราะถ้าจับประเด็นสำคัญ ในหนังสือบันทึกข้อความ ทั้ง 2 ฉบับ ที่ ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ส่งแจ้งถึง อัยการสูงสุด (อสส.) จะพบว่า มีลักษณะของการชี้จุดอ่อนและข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่และการปฏิบัติงานตามข้อกฎหมายอย่างชัดเจน แสดงรายละเอียดประกอบดังต่อไปนี้
หนังสือบันทึกข้อความฉบับแรก
มีสาระสำคัญอยู่ที่การคำแนะนำแนวทางแก้ไขสถานการณ์ต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมต่อกรณีนี้ ที่กำลังก่อให้เกิดความคลางแคลงใจ และความไม่เชื่อมั่นในในการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และมีผลเสียหายอย่างมาต่อองค์กรอัยการ
ประธาน ก.อ. ระบุว่า อัยการสูงสุด ควรดำเนินการดังนี้
1.สำนักงาน อสส. ตรวจสอบการดำเนินคดีของสำนวนดังกล่าวทุกขั้นตอน ทั้งอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย และหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ให้แล้วเสร็จได้โดยเร็วที่สุด
2.ระหว่างดำเนินการตาม 1. ควรมีกลไกที่เหมาะสมให้การอธิบายทำความเข้าใจให้สาธารณชนทราบทุกระยะ เพื่อป้องกันการสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความจริง
3.เมื่อได้ผลการตรวจสอบตาม 1. ต้องจัดให้มีการแถลงข่าวหรืออธิบายที่กระชับ แก้ได้ตรงประเด็นต่าง ๆ ที่สาธารณชนตั้งข้อสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ได้อย่างถูกต้องตามหลักกฎหมาย และหลักการอำนวยความยุติธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งชัดต่อสาธารณชนในทันที ในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาทันทีภายใต้กรอบกฎหมาย ในกรณีหากพบปัญหาหรือข้อคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนใดเกี่ยวกับการสั่งคดีดังกล่าวด้วย (ดูหนังสือบันทึกข้อความประกอบ)
หนังสือบันทึกข้อความฉบับสอง
มีสาระสำคัญอยู่ที่การตั้งข้อสังเกตในการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีนี้ ที่มีประเด็นอันควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ในการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการ กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องและผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพิ่มเติม
ประธาน ก.อ. ระบุว่า อัยการสูงสุด ควรดำเนินการดังนี้
1. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งที่ไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
คำสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคำสั่งโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ในกรณีที่เดิมพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้ว แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม ให้เสนอตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดีให้เสนออัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่ง”
2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48 (การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 กำหนดว่า “คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งกรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ 6 วรรคท้าย หรือข้อ 128 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
3. กรณีตามคดีนี้ได้ความว่า ในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลังที่มีประเด็นพิจารณาถึงคำให้การรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย อัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อนไม่น่าจะกระทำได้ และจะมีผลการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ ทำให้คำสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้องไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้
5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด (นายเนตร นาคสุข -ขยายความโดยสำนักข่าวอิศรา) หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว จึงมีนัยสำคัญที่ควรพิจารณาว่าเกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่ หากเป็นผลต้องถือว่าคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่ง ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่ายังมิได้ถูกกลับ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่
6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว ดังนั้น พนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีกก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทนไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าว หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งใด คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง อัยการสูงสุดก็มีอำนาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมหรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคำสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ตามดุลพินิจที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสำนวน
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ยังย้ำชัดเจนในท้ายบันทึกว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ จึงใคร่ขอนำความเห็นของข้าพเจ้าตามบันทึกนี้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย” (ดูหนังสือบันทึกข้อความประกอบ)
อย่างไรก็ดี ในหนังสือบันทึกข้อความฉบับสอง ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการนั้น
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด คือ กรณีอัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นทางการไปแล้ว คำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น พนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีกก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทนไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าว
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเอกสารยืนยันข้อมูลเรื่องนี้ พบว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2561 นายนิวิษฐ์ ประสิทธิ์วิเศษ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เคยทำหนังสือตอบประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนยันคำสั่งอัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ที่ให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเป็นทางการ
ระบุเนื้อหาสำคัญว่า สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ขอเรียนว่า ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว เป็นประเด็นเดียวกับที่ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 มีหนังสือขอความเป็นธรรม ฉบับลงวันที่ 23 ธ.ค.2559 กล่าวคือ ขอให้สอบสวนเพิ่มเติมรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เกี่ยวกับเรื่องความเร็วของรถขณะเกิดเหตุ ซึ่งได้สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เป็นพยานแล้ว ต่อมาได้พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า ปรากฎตามข้อจริงใหม่เพิ่มเติมซึ่งมีเหตุให้รับฟังได้ และได้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม (ดูหนังสือประกอบ)
ข้อมูลส่วนนี้ จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ ของ อัยการสูงสุด (อสส.) ต่อการพิจารณาคดีอย่างชัดเจน ขณะที่รองอัยการสูงสุด เป็นผู้หักล้างคำสั่งคดีของ อัยการสูงสุด (อสส.) ก็คือ นายเนตร นาคสุข
การตัดสินใจและการปฏิบัติหน้าที่ ของ อัยการสูงสุด (อสส.) เกี่ยวกับคดีนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร นายเนตร นาคสุข จะมีคำอธิบายชี้แจงต่อสังคมอย่างไร
นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากถึงมากที่สุด ในการพิจารณาคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่กำลังถูกจับตามองจากสังคม เขย่าความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการทั้งระบบเป็นเดิมพัน อยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
ละเอียด!แกะ 3 ปมคณะทำงานอัยการฯชง อสส.สอบต่อคดี‘บอส’-เบื้องหลัง‘เนตร’สั่งไม่ฟ้อง?
มีหลักฐานใหม่ชง อสส.สอบเพิ่มคดี‘บอส’! คณะทำงานอัยการฯขอไม่ก้าวล่วง‘เนตร’สั่งไม่ฟ้อง
ใครเป็นใคร? เปิดชื่อ-หน้าที่ 3 คณะทำงาน-4 กมธ.2 สภาลุยสอบปมไม่ฟ้องคดี‘บอส อยู่วิทยา’
พบช่องสั่งฟ้องคดี’บอส’ใหม่! คณะทำงานชง อสส.สอบเพิ่ม 2ประเด็น 'ความเร็ว-โคเคน'
ทางการ! 'บิ๊กตู่'สั่งอายัดศพ'จารุชาติ'พยานคดี'บอส'ชันสูตรหาสาเหตุเสียชีวิตใหม่แล้ว
'บวรศักดิ์'จี้ชันสูตรศพพยานคดี’บอส’ให้ชัดเจน ก่อนญาติฌาปนกิจพรุ่งนี้
ตายเพราะอุบัติเหตุกะทันหัน! ‘จารุชาติ มาดทอง’ พยานปากเอก พลิกคดี ’บอส อยู่วิทยา’
ข้อมูลลับที่มา 'จารุชาติ' พยานคดี 'บอส' เคยเข้าให้การตั้งแต่ 3 วันแรกหลังเกิดเหตุแล้ว
ฉบับเต็ม! สำนวนลับอัยการสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ พยาน 2 รายใหม่ อ้างขับรถแค่ 50-60กม.
เปิดตัว 6 พยาน อัยการ-ตร.อ้างเป็นเหตุกลับคำสั่งไม่ฟ้อง 'บอส กระทิงแดง'
ตามหาพยาน 6 ปาก คดี'บอส'! อิศรา ได้คุย'สมยศ' แล้ว ยังไม่ขอตอบปมคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่
ปฏิเสธให้สัมภาษณ์! เปิดตัว พ.ต.ท.ธนสิทธิ พยานคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่ 177 กม./ชม. คดี 'บอส'
ให้การก่อนไปไต้หวัน! แม่ ‘จารุชาติ’ ยันลูกเป็นพยานคดี‘บอส’ เพื่อนบ้านเผยมีอาชีพขับรถรับจ้าง
ธุรกิจ 'พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร' พยานคดี 'บอส อยู่วิทยา' เคยได้งานรัฐ 188 ล.!
เปิดอาณาจักร 62 บ.‘อยู่วิทยา’ ปี 62 ‘ที.ซี.ฟาร์มาฯ-กระทิงแดง’รายได้ 4 หมื่นล.
คำสั่งชอบหรือไม่-เหตุผลอะไร!คณะทำงานฯอัยการตั้ง 3 ประเด็นสอบปมไม่สั่งฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’
โชว์คำสั่ง อสส.ตั้งคณะทำงานสอบปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ - 'ปรเมศว์' ร่วมทีมด้วย
วงศ์สกุล'ตั้งทีม อสส.สอบปมสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’-'บิ๊กตู่'ไม่สบายใจ สั่งเกาะติดคดี
มูลนิธิเมาไม่ขับจี้ อสส.-ผบ.ตร.! ชี้แจงหลักการ-เหตุผลไม่สั่งฟ้อง‘วรยุทธ อยู่วิทยา’
โชว์หนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’ผบ.ตร.ไม่แย้ง-สตช.ยื่นศาลถอนหมายจับ
อสส. แจงอิศรายังไม่ทราบเรื่อง! ซีเอ็นเอ็น ตีข่าว 'อัยการ' ไม่สั่งฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา'
ป.ป.ช.ฟันวินัยไม่ร้ายแรงอดีต‘ผบก.น.5-พวก’ปมช่วยเหลือ-ไม่ออกหมายจับ‘บอส กระทิงแดง’
ทายาทกระทิงแดงขอสอบพยานเพิ่มทำคดีขับชน ตร.ตายช้า! อสส.เร่งส่งฟ้องศาล
ไทม์ไลน์ทายาท‘กระทิงแดง’ขอเลื่อนพบอัยการ 7 ครั้งก่อนจ่อถูกหมายจับ?
เจาะอาณาจักรธุรกิจหมื่นล.‘อยู่วิทยา’ -‘วรยุทธ’กก. 3 บริษัทรายได้รวม 914 ล
'วิชา' คอนเฟิร์มหมายจับ 'บอส' ยังอยู่! กก.ชุดสางคดีเรียก ผบ.ตร.เข้าพบสัปดาห์หน้า
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage