“...รวมทั้งหมดมีคณะกรรมการ/คณะทำงานอย่างน้อย 3 คณะที่ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และมี กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อีก 4 คณะ ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา เรียกได้ว่าเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ประชาชนรอดูบทสรุปกันอย่างใจดจ่อ?...”
“กำลังให้คณะกรรมการฯศึกษาอยู่ ดูว่าสามารถรื้อได้หรือไม่ วันนี้อยู่ในขั้นตอนการทำให้เกิดข้อเท็จจริงว่าอยู่ในขั้นตอนไหน และดูว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อำนาจมันคนละอำนาจกัน”
เป็นคำยืนยันจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจสั่งรื้อคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไม่เห็นแย้งกรณีดังกล่าว
สำหรับคณะกรรมการฯในคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานฯ
ประเด็นนี้กำลังกลายเป็นเรื่อง ‘ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์’ ของทุกองคาพยพในสังคม มีหลายบุคคลออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการ-คณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอัยการ ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่างหยิบยกประเด็นนี้มาดำเนินการด้วย
ตกลงแล้วคณะกรรมการ-คณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้มีกี่ชุด และมีบทบาทอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สารธารณชนรับทราบ ดังนี้
@คณะทำงาน/คณะกรรมการสอบอย่างเป็นทางการ 3 คณะ
หนึ่ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรวม 10 ราย ได้แก่ 1.นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายสภาทนายความ 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และมี 10.ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ : ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใด โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว โดยมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการฯได้
ระยะเวลาดำเนินการ : ภายใน 30 วัน แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการฯรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 10 วัน
ความคืบหน้า : เริ่มประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยตั้งประเด็นจากข้อสังเกตและข้อสงสัยจากประชาชนและสังคม โดยเป็นกรอบทำงานหนึ่งของคณะกรรมการฯ ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
สอง คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)
อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานรวม 7 ราย ได้แก่ 1.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รอง อสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2.นายสิงห์ชัย ทนินช้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา 3.นายชาติพงศ์ วีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 4.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5.นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน 6.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และ 7.นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ : ดำเนินการตรวจสอบว่า การพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าว เป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร และให้มีอำนาจหน้าที่เรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการให้เร็วที่สุด
ระยะเวลาดำเนินการ : นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อสส. ระบุว่า อสส. มีกรอบการทำงานให้ดำเนินการภายใน 7 วันในการสรุปประเด็น
ความคืบหน้า : คณะทำงานฯพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักที่ อสส. สั่งการ ได้แก่ ประเด็นแรก คือ คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่ 2 การพิจารณาสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ และประเด็นสุดท้าย คณะทำงานฯจะพิจารณาว่ามีเหตุและผลการพิจารณาอย่างไรที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ
มีรายงานว่า ในวันที่ 4 ส.ค. 2563 เวลา 10.00 น. คณะทำงานฯเตรียมแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ที่สำนักงาน อสส. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
สาม คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แย้งความเห็นอัยการ กรณีไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯรวม 10 ราย แต่มีการเปิดเผยชื่อและตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธานกรรมการฯ
อำนาจหน้าที่ : ดำเนินการสอบสวนความเห็นในชั้นพนักงานสอบสวน ตร. และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามความเห็นของสำนักงาน อสส. รวมถึงตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะทำงานฯผู้ลงความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
ระยะเวลาดำเนินการ : พล.ต.อ.ศตวรรษ ในฐานะประธานกรรมการฯ เคยระบุว่า ใช้เวลาประมาณ 15 วัน
ความคืบหน้า : อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยลงลึกในรายละเอียด แต่มิได้เปิดเผยความคืบหน้าแก่สื่อมวลชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. แถลงข่าวยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับคนในครอบครัวอยู่วิทยาเป็นการส่วนตัว ขณะที่การไม่ทำความเห็นแย้งนั้นไม่เคยทราบเรื่อง เพราะมอบหมายงานให้กับรอง ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. ดำเนินการไปหมดแล้ว
(พล.ต.อ.ศตวรรษ และทีมงาน แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา)
@กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา หยิบยกขึ้นมาพิจารณา รวม 4 คณะ
หนึ่ง กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
มีรายชื่อ กมธ. ดังนี้ 1.นายสิระ เจนจาคะ ประธาน กมธ. 2.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง 3.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ รองประธาน กมธ.คนที่สอง 4.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธาน กมธ.คนที่สาม 5.นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ รองประธาน กมธ.คนที่สี่ 6.ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี รองประธาน กมธ.คนที่ห้า 7.นายคมเดช ไชยศิวามงคล รองประธาน กมธ.คนที่หก 8.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ประธานที่ปรึกษา กมธ. 9.นายศาสตรา ศรีปาน โฆษก กมธ. 10.นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. 11.นายนิรมิต สุจารี โฆษก กมธ. 12.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขานุการ กมธ. 13.นายสิงหภณ ดีนาง 14.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และ 15.นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เป็น กมธ.
สอง กมธ.การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร
มีรายชื่อ กมธ. ดังนี้ 1.นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธาน กมธ. 2.นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม รองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง 3.นายสัญญา นิลสุพรรณ รองประธาน กมธ.คนที่สอง 4.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา รองประธาน กมธ.คนที่สาม 5.นายสมชาติ ประดิษฐพร รองประธาน กมธ.คนที่สี่ 6.น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองประธาน กมธ.คนที่ห้า 7.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่ปรึกษา กมธ. 8.นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ที่ปรึกษา กมธ. 9.พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี ที่ปรึกษา กมธ. 10.นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี โฆษก กมธ. 11.นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษก กมธ. 12.นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร 13.นายกิตติ สมทรัพย์ กมธ. 14.นายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ เลขานุการ กมธ. และ 15.นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ผู้ช่วยเลขานุการ กมธ.
สาม กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร
มีรายชื่อ กมธ.ดังนี้ 1.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธาน กมธ. 2.นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ รองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง 3.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา รองประธาน กมธ.คนที่สอง 4.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองประธาน กมธ.คนที่สาม 5.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองประธาน กมธ.คนที่สี่ 6.นายรุ่งโรจน์ ทองศรี รองประธาน กมธ.คนที่ห้า 7.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่ปรึกษา กมธ. 8.นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ที่ปรึกษา กมธ. 9.นายสงวน พงษ์มณี ที่ปรึกษา กมธ. 10.นายเรวัต วิศรุตเวช ที่ปรึกษา กมธ. 11.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ โฆษก กมธ. 12.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ โฆษก กมธ. 13.น.ส.กุลวลี นพอมรบดี โฆษก กมธ. 14.นายณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี เลขานุการ กมธ. และ 15.นายซูการ์โน มะทา กมธ.
ความคืบหน้า : เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร มีการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดี รวมถึงฝ่ายอัยการ มาชี้แจงแล้ว อย่างไรก็ดีฝ่ายตำรวจยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล จึงยังไม่ได้นำเอกสารมาชี้แจง ต่อมาที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ เห็นด้วยที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง 3 กมธ. ได้แก่ กมธ.กฎหมายฯ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน และ กมธ.การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้
โดยวันที่ 5 ส.ค. 2562 ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง โดยจะเชิญ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธาน กมธ.กฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็น กมธ.ที่เคยรับเรื่องร้องเรียนของนายวรยุทธ อยู่วิทยา มาชี้แจงด้วย
อย่างไรก็ดีมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 นายชวน หลีกภัย ในฐานประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือถึงการพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนในกรณีดังกล่าวของ กมธ. 3 คณะ เห็นว่าสามารถให้ กมธ. ทั้ง 3 คณะดำเนินการร่วมกันได้ โดยต้องมี กมธ.ชุดใดชุดหนึ่งเป็นเจ้าภาพของเรื่องนั้น ๆ เพื่อมาประชุมร่วมกัน
(นายชวน ประชุมร่วมกับประธาน กมธ.ทั้ง 3 คณะ เรื่องความซ้ำซ้อนในการพิจารณาประเด็นของนายวรยุทธ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา)
สี่ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
มีรายชื่อ กมธ.ดังนี้ 1.นายสมชาย แสวงการ ประธาน กมธ. 2.นายมณเฑียร บุญตัน รองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง 3.นายอนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธาน กมธ.คนที่สอง 4.นายถนัด มานะพันธุ์นิยม เลขานุการ กมธ. 5.นายนิพนธ์ นาคสมภพ โฆษก กมธ. 6.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานที่ปรึกษา กมธ. 7.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ที่ปรึกษา กมธ. 8.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่ปรึกษา กมธ. 9.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่ปรึกษา กมธ. 10.นายคำนูณ สิทธิสมาน ที่ปรึกษา กมธ. 11.นายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่ปรึกษา กมธ. 12.พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล 13.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล 14.นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ 15.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 16.นายจัตุรงค์ เสริมสุข เป็น กมธ. 17.น.ส.ศิริพร ภิญโญศิริธร เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กมธ. และ 18.นางศศิธร ธรรมธิโน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กมธ.
ความคืบหน้า : เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2563 นายสมชาย แสวงการ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 จะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการ ในประเด็นการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญคดีนายวรยุทธ
รวมทั้งหมดมีคณะกรรมการ/คณะทำงานอย่างน้อย 3 คณะที่ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และมี กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อีก 4 คณะ ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา
เรียกได้ว่าเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ประชาชนรอดูบทสรุปกันอย่างใจดจ่อ?
อ่านประกอบ :
'วิชา' ลั่นยังไม่มีใครพูดว่าคดี 'บอส' สิ้นสุด - คณะทำงาน อสส.แถลงผลสอบพรุ่งนี้
ทางการ! 'บิ๊กตู่'สั่งอายัดศพ'จารุชาติ'พยานคดี'บอส'ชันสูตรหาสาเหตุเสียชีวิตใหม่แล้ว
'บวรศักดิ์'จี้ชันสูตรศพพยานคดี’บอส’ให้ชัดเจน ก่อนญาติฌาปนกิจพรุ่งนี้
ตายเพราะอุบัติเหตุกะทันหัน! ‘จารุชาติ มาดทอง’ พยานปากเอก พลิกคดี ’บอส อยู่วิทยา’
ข้อมูลลับที่มา 'จารุชาติ' พยานคดี 'บอส' เคยเข้าให้การตั้งแต่ 3 วันแรกหลังเกิดเหตุแล้ว
ฉบับเต็ม! สำนวนลับอัยการสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ พยาน 2 รายใหม่ อ้างขับรถแค่ 50-60กม.
เปิดตัว 6 พยาน อัยการ-ตร.อ้างเป็นเหตุกลับคำสั่งไม่ฟ้อง 'บอส กระทิงแดง'
ตามหาพยาน 6 ปาก คดี'บอส'! อิศรา ได้คุย'สมยศ' แล้ว ยังไม่ขอตอบปมคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่
ปฏิเสธให้สัมภาษณ์! เปิดตัว พ.ต.ท.ธนสิทธิ พยานคำนวณความเร็วเฟอร์รารี่ 177 กม./ชม. คดี 'บอส'
ให้การก่อนไปไต้หวัน! แม่ ‘จารุชาติ’ ยันลูกเป็นพยานคดี‘บอส’ เพื่อนบ้านเผยมีอาชีพขับรถรับจ้าง
ธุรกิจ 'พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร' พยานคดี 'บอส อยู่วิทยา' เคยได้งานรัฐ 188 ล.!
เปิดอาณาจักร 62 บ.‘อยู่วิทยา’ ปี 62 ‘ที.ซี.ฟาร์มาฯ-กระทิงแดง’รายได้ 4 หมื่นล.
คำสั่งชอบหรือไม่-เหตุผลอะไร!คณะทำงานฯอัยการตั้ง 3 ประเด็นสอบปมไม่สั่งฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’
โชว์คำสั่ง อสส.ตั้งคณะทำงานสอบปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ - 'ปรเมศว์' ร่วมทีมด้วย
วงศ์สกุล'ตั้งทีม อสส.สอบปมสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’-'บิ๊กตู่'ไม่สบายใจ สั่งเกาะติดคดี
มูลนิธิเมาไม่ขับจี้ อสส.-ผบ.ตร.! ชี้แจงหลักการ-เหตุผลไม่สั่งฟ้อง‘วรยุทธ อยู่วิทยา’
โชว์หนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’ผบ.ตร.ไม่แย้ง-สตช.ยื่นศาลถอนหมายจับ
อสส. แจงอิศรายังไม่ทราบเรื่อง! ซีเอ็นเอ็น ตีข่าว 'อัยการ' ไม่สั่งฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา'
ป.ป.ช.ฟันวินัยไม่ร้ายแรงอดีต‘ผบก.น.5-พวก’ปมช่วยเหลือ-ไม่ออกหมายจับ‘บอส กระทิงแดง’
ทายาทกระทิงแดงขอสอบพยานเพิ่มทำคดีขับชน ตร.ตายช้า! อสส.เร่งส่งฟ้องศาล
ไทม์ไลน์ทายาท‘กระทิงแดง’ขอเลื่อนพบอัยการ 7 ครั้งก่อนจ่อถูกหมายจับ?
เจาะอาณาจักรธุรกิจหมื่นล.‘อยู่วิทยา’ -‘วรยุทธ’กก. 3 บริษัทรายได้รวม 914 ล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage