"...พันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน (จากความเร็วเฉลี่ย 177 กม.ต่อชั่วโมง) มากขึ้นหรือน้อยลง ประมาณ 17 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร ( 80 กม.ต่อชั่วโมง )...ต่อมา พันตำรวจตรีธนสิทธิได้ให้การอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2559 ระบุว่าจากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ ประมาณ 79.23 กม.ต่อชั่วโมง..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในรายละเอียดสำนวนที่อัยการไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส บุตรชายผู้บริหารเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่ได้มีการสอบปากคำพยานใหม่ 2 รายช่วงเดือน ธ.ค.62 หลังเหตุการณ์ผ่านไปนาน 7 ปี ระบุว่าเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของนายวรยุทธ แต่เกิดจากความประมาท ปราศจากความระมัดระวังของผู้เสียชีวิต (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! สำนวนลับอัยการสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ พยาน 2 รายใหม่ อ้างขับรถแค่ 50-60กม. )
โดยเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ จำนวน 4 หน้านี้ มีการระบุถึงคำให้การของพยาน รวม 6 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจ 3 นาย , ทหาร 1 นาย , นักวิชาการ 1 ราย และประชาชน 1 ราย โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
@ พันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ยืนยัน ‘บอส’ ขับรถเร็วมากกว่า 100 กม./ชม. ก่อนกลับคำให้การ-คำนวณใหม่เหลือไม่ถึง 80 กม./ชม.
จากเอกสารสรุปสำนวนของอัยการที่มีทั้งสิ้น 4 หน้า ข้อมูลในหน้าที่ 3 มีใจความตอนหนึ่งระบุข้อมูลของพยานรายแรกคือ พันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ว่า เหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 (โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 (นายวรยุทธ) ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 เนื่องจากได้ความจากพันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ ว่าขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับ แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กม.ต่อชั่วโมง
โดย พันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน (จากความเร็วเฉลี่ย 177 กม.ต่อชั่วโมง) มากขึ้นหรือน้อยลง ประมาณ 17 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80 กม.ต่อชั่วโมง) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (3) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 , 67 วรรคแรก การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ
ต่อมา พันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ซึ่งต่อมามียศเป็นพันตำรวจโทได้ให้การอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2559 ระบุว่าจากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ ประมาณ 79.23 กม.ต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าไม่ปรากฎข้อมูลการคำนวณความเร็วรถยนต์ของนายวรยุทธ ที่ผลการคำนวณระบุความเร็ว 177 กม./ชม.ปรากฎในสำนวนของอัยการแต่อย่างใด
@ พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม และ พันตำรวจโทสุรพล เดชรัตนวิชัย เปรียบเทียบความเสียหายรถจากคดีเฉี่ยวชนอื่น ยืนยันไม่ใช่ความเร็ว 170 กม./ชม.
ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวนพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม และพันตำรวจโทสุรพล เดชรัตนวิชัย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคัน เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่น แล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กม.ต่อชั่วโมง
@ รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ชี้ ความเร็วรถประมาณ 76.175 กม./ชม.
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 มีการสอบสวน รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็ว ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็วประมาณ 76.175 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของพันตำรวจโทสมยศ ที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคันแล่นนำ จะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
@ พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และ นายจารุชาติ มาดทอง ให้การปี 62 อ้างเห็นเหตุการณ์
ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ จึงได้มีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พลอากาศโทจักกฤชถนอม กุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ทั้งคู่จึงนับเป็นพยานรายที่ 5 และ 6 ที่ปรากฎรายชื่อในคดีนี้
ในสรุปสำนวนของอัยการ หน้าที่ 3 มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ได้ความว่าพยานทั้ง 2 ขับรถยนต์แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 (หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : ผู้ต้องหาที่ 2 ในสำนวนของอัยการหมายถึง ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ถูกนายวรยุทธขับรถชนเสียชีวิต) ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด) พยานให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กม.ต่อชั่วโมง
เมื่อพยานสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุ ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมา ในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนน ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง โดยนายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมา ในช่องทางเดินรถที่ 2 ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาช่องทางเดินที่ 1 ด้านซ้าย แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติ ขับรถมา
นายจารุชาติ ชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนตร์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนตร์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถแล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย
เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนตร์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินรถในระยะกระชั้นชิด
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่มีความผิด ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแต่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 6 วรรคท้าย
เหล่านี้ คือข้อมูลจากสำนวนคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการที่มีความยาวทั้งหมด 4 หน้า โดยมีคำให้การจากพยาน 6 ราย ที่ระบุว่า เป็นผู้ตรวจสอบความเร็ว เป็นพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ และเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุ ที่ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถเฟอร์รารี่ที่มีนายวรยุทธเป็นผู้ขับขี่ แล่นมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง กระทั่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในที่สุด
(ภาพประกอบ : ไทยรัฐออนไลน์)
อ่านประกอบ :
โชว์คำสั่ง อสส.ตั้งคณะทำงานสอบปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ - 'ปรเมศว์' ร่วมทีมด้วย
วงศ์สกุล'ตั้งทีม อสส.สอบปมสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’-'บิ๊กตู่'ไม่สบายใจ สั่งเกาะติดคดี
มูลนิธิเมาไม่ขับจี้ อสส.-ผบ.ตร.! ชี้แจงหลักการ-เหตุผลไม่สั่งฟ้อง‘วรยุทธ อยู่วิทยา’
โชว์หนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’ผบ.ตร.ไม่แย้ง-สตช.ยื่นศาลถอนหมายจับ
อสส. แจงอิศรายังไม่ทราบเรื่อง! ซีเอ็นเอ็น ตีข่าว 'อัยการ' ไม่สั่งฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา'
ป.ป.ช.ฟันวินัยไม่ร้ายแรงอดีต‘ผบก.น.5-พวก’ปมช่วยเหลือ-ไม่ออกหมายจับ‘บอส กระทิงแดง’
ทายาทกระทิงแดงขอสอบพยานเพิ่มทำคดีขับชน ตร.ตายช้า! อสส.เร่งส่งฟ้องศาล
ไทม์ไลน์ทายาท‘กระทิงแดง’ขอเลื่อนพบอัยการ 7 ครั้งก่อนจ่อถูกหมายจับ?
เจาะอาณาจักรธุรกิจหมื่นล.‘อยู่วิทยา’ -‘วรยุทธ’กก. 3 บริษัทรายได้รวม 914 ล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage