‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ มีคำสั่ง ‘ประทับฟ้อง’ คดีกล่าวหา ‘กรรมการ กสทช.’ มีพฤติการณ์ส่อกลั่นแกล้ง ‘ทรู’ ปมมีหนังสือถึง ‘ผู้รับอนุญาตฯ’ 127 ราย ทำให้เข้าใจว่า 'ทรู' ทำผิดกฎหมาย ด้าน 'พิรงรอง' ยันเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งบริษัทฯ
............................................
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบกิจการ OTT (over the top) หรือธุรกิจการให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตฯเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยศาลฯมีคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ว่า ทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT ซึ่งเป็นบริการสื่อที่นําเสนอโดยตรงกับผู้รับบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต โอทีทีข้ามแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เป็นการให้บริการที่ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดู และจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า การให้บริการของโจทก์ แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์
ทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลย เป็นผู้สั่งการให้ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศ
พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ คดีโจทก์มีมูลจึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำ อท.167/2566
ทั้งนี้ หลังจากศาลฯมีคำสั่งให้ประทับฟ้องแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการสอบคำให้การ และนัดตรวจหลักฐานต่อไป
สำหรับคดีนี้ โจทก์ (บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป) ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้บริการแพลตฟอร์มมือถือ มีรายการหนัง เเละเพลงรวมทั้งถ่ายทอดรายการทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์นักการเมือง ซึ่ง กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดู และจำเลย (ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง) ทราบดีอยู่แล้วว่า การให้บริการของโจทก์ เป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงยังไม่ยื่นขออนุญาต
ต่อมา กสทช.ประกาศว่า การประกอบกิจการดังกล่าว ต้องผ่านการอนุญาตฯก่อน ซึ่งทรู ไม่ขัดข้อง เพียงแต่เมื่อเข้ากระบวนการอนุญาตก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น มีการตรวจเซ็นเซอร์เนื้อหา
เเต่จำเลย กลับสั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่ต้องมีการขอใบอนุญาต อีกทั้งมีการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่เป็นเหตุบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงนำคดีฟ้องต่อศาลฯ
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งประทับรับฟ้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษให้บุคคลใดต้องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งคดีนี้ตนมองว่าฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรูดิจิทัล อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนาจากข้อมูลที่ได้รับ ทั้งนี้ ตนพร้อมชี้แจงในขั้นตอนของการไต่สวนคดี และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการทำหน้าที่ต่อไป
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยังกล่าวถึงมูลเหตุในคดีนี้ว่า สืบเนื่องมาจากการที่ สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลผ่าน Internet TV Box และแอพพลิเคชั่น True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลาขณะเปลี่ยนช่องรายการ ทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีตนเป็นประธานพิจารณา และให้ความเห็นตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯในกรณีนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. มอบหมาย และถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ทุกประการ
โดยกรณีนี้คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ True ID นั้น อาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอิสระก่อนจะมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิตอลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เนื่องจาก True ID ยังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายประเภท IPTV จากกสทช. ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิตามประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิตอลไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับ True ID อีกหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับโจทก์
“การทำหน้าที่ของดิฉัน และคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ การพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช.
คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการแต่อย่างใด การที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเวียนผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.” ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว