คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา 'พิรงรอง Effect' ชี้ผลกระทบไกลกว่า กสทช. หวั่น จนท.ลังเล-ละเลยการกำกับดูแล เหตุเสี่ยงถูกฟ้องมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2568 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ โดยเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชันอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดเป็นโจทย์ฟ้องจำเลยคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์วานนี้ (6 ก.พ.) กรณีที่ กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID โดยศาลพิพากษาจำคุกศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ
ก่อนการเริ่มเสวนา รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ได้อ่านแถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช.
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นคดีที่ผิดปกติจากแนวทางปกติที่ควรเป็นเรื่องของศาลปกครอง แต่ยังเปิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับกลไกทางกฎหมายและการใช้อำนาจรัฐอีกด้วย เนื่องจากโดยปกติ หากเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายได้หลายช่องทาง เช่น การอุทธรณ์ภายในหน่วยงาน การฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง หรือการเรียกค่าเสียหายจากรัฐ แต่ในกรณีนี้กลับถูกดำเนินคดีในศาลอาญา ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบได้บ่อย ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคดี
ข้อสังเกตสำคัญ คือ คดีนี้ฟ้องร้องตัว กสทช. ในขณะที่ผู้มีอำนาจเซ็นจดหมายหรือเป็นผู้สั่งการจริงๆ กลับไม่มีความชัดเจนว่าควรเป็นผู้รับผิดหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้เกิดความแปลกประหลาดในทางกฎหมาย เพราะตามหลักความรับผิดทางอาญา ผู้ที่ออกคำสั่งและลงนามในเอกสารทางราชการควรเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง แต่คดีนี้กลับมุ่งเป้าไปที่องค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดข้อกังขาว่าอาจเป็นแนวทางใหม่ในการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่
"ผลกระทบของคดีนี้อาจส่งผลไกลกว่า กสทช. เพราะในอนาคตเจ้าหน้าที่รัฐอาจลังเลที่จะดำเนินงานด้านกำกับดูแลที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หากความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมีมากขึ้น เช่น หน่วยงานที่ควบคุมมลพิษอาจหลีกเลี่ยงการเอาผิดโรงงานที่ปล่อยสารพิษ หรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสื่ออาจไม่กล้าออกมาตรการควบคุมโฆษณาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค" รศ.ดร.ณรงค์เดช ระบุ
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดเห็นผ่านการบันทึกเทปว่า การฟ้องร้องหลาย ๆ คดีผู้นำคดีขึ้นสู่ศาลนอกจากจะหวังผลการแพ้ชนะแล้ว ยังหวังผลข้างเคียงจากการพิจารณา นักกฎหมายไม่ควรตีความเฉพาะตัวบทกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและบริบทเพราะการพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ เป็นการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นต้องไม่ตีความไปในทางที่จะทำให้ตกเป็นเครื่องมือของการแสวงหาประโยชน์ข้างเคียงของการพิจารณาคดี