“...ได้มี พยานบุคคล (ขอสงวนชื่อ) ยืนยันว่า เมื่อเข้าไปในบริเวณบ้านจันทร์ส่องหล้าได้เข้าไปยังห้องประชุมภายในบ้านฯ พบผู้ถูกร้องที่ 1 นั่งอยู่หัวโต๊ะ ทำหน้าที่สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่...”
ต่อเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ถึงคำร้องฉบับเต็มความยาว 65 หน้า ตอนที่ 1 ของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้รับคำร้องไว้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปแล้วนั้น นี่คือคำร้องฉบับเต็ม ‘ตอนที่สอง’
อ่านประกอบข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 7 โมงเช้า 10 ตุลา ไพบูลย์ เฉลย คำร้อง ธีรยุทธ ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
- เปิดคำร้องศาลรัฐธรรมนูญฉบับย่อ สั่ง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ เลิกล้มล้างการปกครองฯ
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม (1)
@ ฝักใฝ่-คบหา-ร่วมคิด ‘ฮุน เซน’
กรณีที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่ คบหา ร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับ สมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
ด้วยปรากฏหลักฐานว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จฯฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศกัมพูชาพร้อมคณะได้เดินทางไปพบผู้ถูกร้องที่ 1 และหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า (บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) ภายหลังเข้าเยี่ยมและรับประทานอาหารร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยใช้เวลาอยู่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า ประมาณ 2 ชม.โดยสมเด็จฯฮุน เซน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยภาพถ่ายคู่กับ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พร้อมข้อความโดยสรุปว่า
ได้มาเยี่ยมบ้านของทักษิณ ชินวัตร ที่กรุงเทพฯ แม้ว่าท่านจะเจ็บป่วย แต่ยังมีความเป็นพี่น้อง โดยมีอุ๊งอิ๊งลูกสาวคนเล็กและเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ยังได้เชิญอิ๊งไปเยือนกัมพูชา ในวันที่ 14-15 มีนาคม 2024 (พ.ศ.2567) เมื่อ 2 อดีตนายกฯได้พบกัน ไม่คุยเรื่องการเมือง แต่ชวนให้นึกถึง 32 ปีแห่งมิตรภาพ ที่อยู่มาด้วยกันตั้งแต่ปี (ค.ศ.) 1992 ขอบคุณพี่ชายและหลานสาวที่ต้อนรับ”ปรากฎตามภาพข่าวมติชนออนไลน์ เรื่อง ฮุนเซน เผยภาพคู่ ‘ทักษิณ’ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เปิดบทสนทนา เชิญ ‘อิ๊ง’ ไปเยือนกัมพูชา...เผยแพร่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข7
โดยปรากฎข่าวว่า ก่อนสมเด็จฯฮุน เซน พร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สมเด็จฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีและทายาทสมเด็จฮุนเซน เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อ 7 ก.พ.2567 ได้พบและเจรจากับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย พร้อมลงนาม MOU 5 ฉบับ เช่น การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) ความเป็นไปได้ที่เรื่องก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลที่จะถูกนำขึ้นมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้น ปรากฏตามภาพข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ เรื่อง เบื้องลึกเบื้องหลัง "ฮุนเซน" พบ "ทักษิณ" เผยแพร่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 8
ต่อมา วันที่ 18 มีนาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา ตามคำเชิญ สมเด็จฮุน เซน โดย นายฮุน มานี รองนายกฯ กัมพูชา ต้อนรับ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ Pheuthai Lux โพสต์ภาพ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอยู่บนเครื่องบินส่วนตัว ระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาตามคำเชิญของสมเด็จฮุน เซน วันที่ 18-19 มี.ค.2567 ในภาพมีกรรมการบริหารพรรคฯ เช่น รองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นายพงศ์กวิน กวินจึงรุ่งเรืองกิจ, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล, น.ส.จิราพร สินธุไพร รวมทั้ง น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรค และ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร กรรมการบริหารพรรค
ขณะเดียวกันแอปพลิเคชันอินสตาแกรมของพรรคเพื่อไทย pheuthai.party ได้มีความเคลื่อนไหวในการอัป IG Stories ภาพถ่ายระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยเยือนกัมพูชา โดยมีฮุน มานี รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย โดยมีรายงานว่าในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. มีการพบและพูดคุยกับสมเด็จฮุน เซน ปรากฏตามภาพข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ เรื่อง “แพทองธาร” นำ กก.บห.พรรคเพื่อไทย เยือนกัมพูชา เผยแพร่วันที่ 18 มีนาคม 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 9
ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่สมคบคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ดังปรากฏข้อมูลประเทศกัมพูชาในระบบวิกิพีเดีย เรื่อง การสืบราชสันตติวงศ์มีความว่า “ระบบกษัตริย์ของกัมพูชาไม่เหมือนกับระบบกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่น ๆ ที่ราชบัลลังก์จะตกไปสู่ผู้มีลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ลำดับถัดไป (ผู้ที่มีศักดิ์สูงสุดในราชวงศ์ หรือพระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์พระองค์ก่อน เป็นต้น) และพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่นั้นคือ กรมปรึกษาราชบัลลังก์ (Royal Council of the Throne) ซึ่งมีสมาชิก ดังนี้
กรมปรึกษาราชบัลลังก์จะจัดการประชุมในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์สวรรคตหรือไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ต่อไป และเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ และเป็นสมาชิกราชวงศ์” ปรากฏตามภาพถ่ายข้อมูลประเทศกัมพูชาในระบบวิกิพีเดีย เรื่อง การสืบราชสันตติวงศ์ เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 10
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น กรมปรึกษาราชบัลลังก์ (Royal Council of the Throne) มีสมาชิกมาจากฝ่ายการเมือง 7 คนใน 9 คน การที่พระมหากษัตริย์ประเทศกัมพูชาไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง แต่อยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมือง ดังนั้น ประเทศกัมพูชาจึงมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์ฝักใฝ่สมคบคิดกับสมเด็จฮุนเซน ผู้นำการเมืองประเทศกัมพูชา
และ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้แสดงวิสัยทัศน์ในงานเนชั่นทีวีดินเนอร์ทอล์ค “วิชั่น ฟอร์ ไทยแลนด์ 2024” “ทักษิณ ชินวัตร" โชว์วิชั่นเศรษฐกิจประเทศไทย” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 มีความบางตอนว่า “อีกอันหนึ่งที่อดพูดไม่ได้ เรื่องของเขตทับซ้อนทางทะเล ความจริงเขตทับซ้อนทางทะเลนี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องเส้นเขตแดนหลักมันก็คือว่า ประเทศเราอยู่ตรงนี้มีไหล่ทวีปอยู่ตรงนี้ลากไป 200 ไมล์ทะเล อันนี้ตามหลักกฎหมายสากลประเทศเพื่อนบ้านสมมุติกัมพูชาไหล่ทวีปอยู่ตรงนู้นลากมา 200 ไมล์ทะเล เกยกันตรงไหนเราถือว่าเป็นเขตทับซ้อน เขตทับซ้อนตรงนั้นถ้ามีทรัพยากรอยู่ ก็ถือว่าแบ่งคนละ 50 เหมือนสิ่งที่เราทำกับมาเลเซียมาแล้ว”
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา ในเรื่องการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่ประเทศกัมพูชา ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปโดยสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างมากมาย ปรากฏตัวอย่างบทความจากสื่อมวลชน ดังนี้
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวในกรณีที่ 2 ข้างต้น จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาในเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่ประเทศกัมพูชา และผู้ถูกร้องที่ 1 ยังได้มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับผู้นำการเมืองประเทศกัมพูชาซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาในเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่ประเทศกัมพูชา
@ ร่วมมือพรรคประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก ด้วยปรากฏหลักฐานตามข่าวว่า “เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 พรรคเพื่อไทย (พท.) มอบหมายเจ้าหน้าที่ของพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตรา แก่เจ้าหน้าที่ส่วนงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคประชาชน (ปชน.) ก็ได้มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วเช่นกัน
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปโดยสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างมากมาย ปรากฏตัวอย่างบทความจากสื่อมวลชน ดังนี้
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
@ เบิกความ ‘พยานบุคคล’ ทักษิณ สั่งการ ‘พรรคร่วม’
กรณีที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 474 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 แยก 13 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เวลาเย็น ซึ่งเป็นบ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 ปรากฏตามภาพข่าวสแตนด์ดาร์ดออนไลน์ เรื่อง สำรวจบ้านจันทร์ส่องหล้าก่อนทักษิณพักโทษ 18 ก.พ.นี้ เผยแพร่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 14
ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ประสานงานเชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ เข้ามาพบผู้ถูกร้องที่ 1 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า) ได้มี พยานบุคคล (ขอสงวนชื่อ) ยืนยันว่าเมื่อเข้าไปในบริเวณบ้านจันทร์ส่องหล้าได้เข้าไปยังห้องประชุมภายในบ้านฯ พบผู้ถูกร้องที่ 1 นั่งอยู่หัวโต๊ะ ทำหน้าที่สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ขอให้แกนนำของพรรคการเมืองอื่นสนับสนุนรายชื่อบุคคลแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนายกรัฐมนตรี
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ทำหน้าที่สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจาดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
และปรากฎในวันถัดมาวันที่ 15 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีการประชุมและมีมติให้เสนอบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นไปตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้กระทำการสั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจาที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า) คืนวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ปรากฏตามภาพข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เรื่อง ด่วน! กก.บห.เพื่อไทยเสนอชื่อ 'แพทองธาร ชินวัตร' นั่งนายกฯ เผยแพร่วันที่ 15 สิงหาคม 2567
และภาพข่าวจากเฟสบุ๊คพรรคเพื่อไทย เรื่อง มติพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เผยแพร่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 สิ่งที่ส่งมาด้วยหมายเลข 15 และ 16 ซึ่งปรากฎตามข่าวสื่อสารมวลชนที่เผยแพร่ทั่วประเทศ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ แทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 ปรากฎตามภาพข่าวมติชนออนไลน์ เรื่อง แกนนำรัฐบาลทยอยออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้าฯ เผยแพร่วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 17 และ ปรากฎตามหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์บทความสื่อสารมวลชนอาวุโส เปลวสีเงิน เรื่อง ยิ่งกว่า “สีดาลุยไฟ” วันที่ 19 สิงหาคม 2567 ความบางตอนว่า
ผู้ร้องขอกราบเรียนว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
“กรณีตามคำร้องกรณีที่ 4 นี้ ในชั้นไต่สวนผู้ร้องมีความประสงค์ขอนำพยานบุคคล (ที่ขอสงวนชื่อไว้) หรือขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดเรียกพยานบุคคลดังกล่าว ที่เห็นเหตุการณ์เมื่อเข้าไปในบริเวณบ้านจันทร์ส่องหล้าได้เข้าไปยังห้องประชุมภายในบ้านฯพบผู้ถูกร้องที่ 1 มาให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ”
@ สั่งการพรรคเพื่อไทยขับพรรคพลังประชารัฐ
กรณีที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
เหตุเกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 ส.ค.2567 ที่อาคารชินวัตร 3 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โทรศัพท์เคลียร์ใจว่า ยังไม่เคยได้ยินเสียง พล.อ.ประวิตรเลย ได้ยินจากที่ลอดจากโทรศัพท์หัวหน้าพรรคอื่น แต่ไม่ได้ยินจากตน
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้คุยพล.อ.ประวิตร หรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า เป็นเรื่องภายในแต่ละพรรค แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ใครทำอะไรก็ต้องรู้ตัว
เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้าหรือไม่ นายทักษิณ เผยว่า ไม่เป็นไร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อสกรีนทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยที่สุด
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ 2 ฝ่ายระหว่างพล.อ.ประวิตร และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ใครจะเข้ามาร่วม นายทักษิณกล่าวว่า ฝ่ายที่ทุ่มเทให้กับรัฐบาลมาตลอด ก็น่าเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ยืนยันว่าพล.อ.ประวิตรไม่ได้โทรหา ไม่ทราบอาจมีคนรอบข้างท่านเล่าให้ฟัง
ส่วนที่มีการระบุว่าไม่มีตระกูลวงษ์สุวรรณใน ครม.นั้น นายทักษิณกล่าวว่า แล้วแต่กรรมการ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง อยากจะร้องเพลงอัสนี ว่า ถ้าจะมาก็มาทั้งตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังผูกใจเจ็บกับพล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตนเองโดนเยอะที่สุด แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร อยู่กับวันนี้ และวันพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ใครทำอะไรไปก็ควรจะรู้ตัว แค่นั้นเอง
เมื่อถามว่ามีโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า เป็นธรรมชาติว่าต้องมีเสียงให้มีเสถียรภาพ เรามีปัญหามาก ต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องแก้กฎหมาย ต้องได้รับสนับสนุนจากสภา ต้องให้มีเสียงพอได้รับความเชื่อมั่น โดยในวันที่ 22 ส.ค. ตนจะพูดเรื่องความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนประเทศไทยอีกครั้ง
ส่วนกรณีคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส ที่อาจจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้น นายทักษิณ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกติกา เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาบอกว่าเป็นอย่างไร ถ้าผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็คือ ไม่ผ่าน แต่จะให้สถานะนายกรัฐมนตรีอยู่แบบคราวที่แล้วก็ไม่ดี ย้ำว่าคนที่สุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรที่จะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ทุกคนควรจะเสียสละเพื่อให้การเมืองต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ บอกว่าคนที่เหมาะสมจะมาร่วมรัฐบาล จะต้องช่วยงานรัฐบาลมาก่อน แต่พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้มาโหวตเลือกน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ผ่านมา ควรเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ ถามย้อนว่า “นั่นสิ ต้องลองถามท่านดูว่า ทำไมไม่มาโหวต”
ปรากฎตามภาพข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ เรื่อง ทักษิณ ตอบแล้ว รัฐบาลเลือก พปชร.กลุ่มไหน ย้ำชัด บิ๊กป้อม ไม่เคยโทรมาหา เผยแพร่วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 19
หลักฐานดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เปิดเผยว่าผู้ถูกร้องที่ 1 มีความคิดที่ไม่ต้องการให้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยนำพรรคพลังประชารัฐที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการให้นำเฉพาะ สส.พรรคพลังประชารัฐกลุ่มร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น
ซึ่งต่อมาอีก 7 วัน ปรากฎข่าวว่า “ที่อาคารชินวัตร 3 วันที่ 27 ส.ค.67 วันนี้พรรคเพื่อไทยมีการประชุม สส.พรรค ซึ่งจะมีการหารือกันในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยที่ประชุม สส.พิจารณาถึงความชัดเจนในการยังร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
ล่าสุด นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น ว่า ที่ประชุมมีการนำข้อห่วงใยและความไม่สบายใจของสส.พรรคเพื่อไทยเข้าสู่การพูดคุยในคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีความเห็นว่า เราไม่สามารถที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐได้ ส่วนจะไปทาบทามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดมาเป็นพรรคร่วมในอนาคตขอให้เป็นขั้นตอนต่อไป
เมื่อถามถึงกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะมีการไปเทียบเชิญหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะที่ผ่านมา ก็ให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็เช่นเดียวกันที่จะต้องมีการพูดคุย อย่างที่ตนบอกเป็นหน้าที่ที่ต้องหาเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล
นายสรวงศ์ ระบุถึงกรณีที่อาจจะถูกครหาว่า เป็นรัฐบาลงูเห่า ว่าเป็นการรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนข้อบังคับพรรคพรรคอื่นพรรคใดจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่พรรคการเมืองนั้นๆ ตนไม่ขอก้าวล่วง แต่ขอให้การทำงานในสภาฯ ราบรื่นที่สุด
เมื่อถามต่อว่าที่บอกจะเดินหน้าให้เร็วที่สุดหมายถึง จะเริ่มเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เลยใช่หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เริ่มได้ในทันที ซึ่งจะมีการพูดคุยกัน และยืนยันว่าอำนาจการแต่งตั้งรัฐมนตรีและเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ส่วนขณะนี้มีการพูดคุยเป็นการภายในกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วหรือไม่ นายสรวงศ์ ปฏิเสธว่า ส่วนตัวยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่คงจะในเร็วๆนี้ที่จะเสนอ และทำเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่าจะต้องมีหนังสืออย่างเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรค พร้อมย้ำว่าจะต้องเชิญทุกกลุ่มที่คิดว่าจะสามารถร่วมงานกันได้
ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคมีการพูดคุยถึงรายชื่อที่มีการเสนอมา มีเรื่องมาตรฐานจริยธรรมด้วยหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดคุยพูด เนื่องจากเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี มีการเตรียมรับมือหรือไม่หากมีคนไปร้องเรียน นายสรวงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย ในการที่จะรับมือเรื่องร้องเรียนต่างๆ จึงขอวิงวอนขอให้การทำงานเกิดขึ้น แล้วหากทำอะไรผิดก็ไปร้อง เพราะไม่เช่นนั้นประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ ตนจึงขอโอกาสนี้วิงวอนผู้ที่เป็นนักร้องทั้งหลาย ขอโอกาสให้นายกฯได้ทำงาน ให้รัฐบาลได้ทำงาน เพราะประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไปจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะไปต่อไม่ได้ เวลาผ่านไปแต่ละวันความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ จึงอยากขอโอกาสในการทำงาน”
ปรากฎตามภาพข่าวอมรินทร์ทีวีออนไลน์ เรื่อง มติพรรคเพื่อไทยไม่เอาพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล เผยแพร่วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 20
จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ปฎิบัติตามผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปโดยสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างมากมาย ปรากฏตัวอย่างบทความจากสื่อมวลชน ดังนี้
ผู้ร้องขอกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
@ วิชั่น ‘ทักษิณ’ - นโยบาย ‘เพื่อไทย’
กรณีที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้แสดงวิสัยทัศน์ “ทักษิณ ชินวัตร” โชว์วิชั่นเศรษฐกิจประเทศไทย ในงานเนชั่นทีวีดินเนอร์ทอล์ค “วิชั่น ฟอร์ ไทยแลนด์ 2024” ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ศูนย์การค้าสยามพารากอน ปรากฎตามซีดีบันทึกคลิปวีดีโอพร้อมคำถอดคลิปการแสดงวิสัยทัศน์“ทักษิณ ชินวัตร” จำนวน 38 แผ่น เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข22
ซึ่งสรุปสถานีโทรทัศน์ พีพีทีวีออนไลน์ได้สรุปวิสัยทัศน์ทักษิณ 14 นโยบายเศรษฐกิจส่งต่อรัฐบาล "แพทองธาร" กางนโยบายเศรษฐกิจ 14 ประเด็น "ทักษิณ ชินวัตร" ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่อาจส่งต่อถึงมือรัฐบาล "แพทองธาร" ในการบริหารประเทศอีก 3 ปีหลังจากนี้ปรากฏตามภาพข่าวพีพีทีวีออนไลน์ เรื่อง สรุปวิสัยทัศน์ "ทักษิณ" 14 นโยบายเศรษฐกิจส่งต่อรัฐบาล "แพทองธาร" เผยแพร่วันที่ 23 สิงหาคม 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 23
และ ผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง “เทียบให้เห็นกันชัดๆ ข้อเสนอฟื้นฟู ทักษิณ VS 10 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ตามเอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 24 ซึ่งบทความดังกล่าวได้เปรียบเทียบ
จากหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฎดังกล่าวมาข้างต้น ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปว่าเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 ปรากฎตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธารชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 25
ทั้งนี้ สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปโดยสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างมากมาย ปรากฏตัวอย่างบทความจากสื่อมวลชน ดังนี้
ด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
@ ขมวดพฤติการณ์เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของผู้ถูกทั้งสองมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไป ปรากฎตามรายละเอียดที่กล่าวมาทั้ง 6 กรณีข้างต้น สรุปได้ดังนี้
ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
และ ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาซึ่งสาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปเรียกการกระทำดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกร้องทั้งสองว่า “ระบอบทักษิณ”
ผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง
และผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการดังกล่าว และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการกระทำร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 และกระทำการแทรกแซง บ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น เป็นช่องทางให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจครอบงำพรรคการเมือง โดยไม่มีสมาชิกพรรคโต้แย้งคัดค้าน ทำให้พรรคการเมืองสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45
อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองไม่ส่งต่อเจตจำนงของประชาชนไปสู่การบริหารประเทศ แต่กลับส่งต่อเจตจำนงของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศแทน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการบั่นทอนระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมหรือต้องสิ้นสลายไป จึงต้องมีกลไกปกป้องระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของผู้ถูกร้องที่ 1 และ ผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
ทั้งหมด คือ คำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ฉบับเต็มตอนที่ 2 พรุ่งนี้ สำนักข่าวอิศราจะเสนอฉบับเต็มเป็นตอนสุดท้าย-ตอนจบ