“…พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม’…”
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเปิดคำร้องฉบับเต็มของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้รับคำร้องไว้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความยาว 65 หน้า ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ไปแล้วนั้น นี่คือคำร้องฉบับเต็ม ‘ตอนที่สาม’ และเป็น ‘ตอนจบ-ตอนสุดท้าย’
อ่านประกอบข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 7 โมงเช้า 10 ตุลา ไพบูลย์ เฉลย คำร้อง ธีรยุทธ ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
- เปิดคำร้องศาลรัฐธรรมนูญฉบับย่อ สั่ง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ เลิกล้มล้างการปกครองฯ
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม (1)
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ฯ ฉบับเต็ม (2)
ทั้งนี้ คำร้องฉบับเต็ม ตอน 1 กับตอน 2 จะเป็นคำร้องใน ข้อ 1 ซึ่งหมายถึง เรื่องหรือการกระทำทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ต้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ตอนที่ 3 หรือ ตอนจบ จะเป็น ข้อที่ 2 หมายถึง มาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง และ ข้อที่ 3 หมายถึง รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง
@ ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 - มาตรา 45 วรรคสอง
ข้อ 2 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองดังที่กราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เพื่อกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ เป็นการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการกระทำฝ่าฝืนล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้” และมาตรา 45 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
“กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกําหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นําโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า
“ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”
และ มาตรา 29 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ข้อ 3 ก่อนมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฉบับนี้ เมื่อผู้ร้องได้ทราบการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เรื่อง ขออัยการสูงสุดส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโปรดวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ซึ่งครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้”
ผู้ร้องจึงยื่นยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
@ ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 6 พฤติการณ์
คำขอให้พิจารณาวินิจฉัย
ด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวมาข้างต้น การกระทำของผู้ถูกทั้งสองมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไป สรุปได้ดังนี้
ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งสาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปเรียกการกระทำดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกร้องทั้งสองว่า “ระบอบทักษิณ”
ผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง
และผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
@ เจ้าของ-ครอบครอง-ครอบงำ-สั่งการ ทางตรง-ทางอ้อม
โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการดังกล่าว และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการกระทำร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 45
และกระทำการแทรกแซง บ่อนทำลาย ระบบพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น เป็นช่องทางให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจครอบงำพรรคการเมืองโดยไม่มีสมาชิกพรรคโต้แย้งคัดค้าน ทำให้พรรคการเมืองสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และ มาตรา 29 อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองไม่ส่งต่อเจตจำนงของประชาชนไปสู่การบริหารประเทศ แต่กลับส่งต่อเจตจำนงของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศแทน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการบั่นทอนระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมหรือต้องสิ้นสลายไป จึงต้องมีกลไกปกป้องระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของผู้ถูกร้องที่ 1 และ ผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองดังที่กราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เพื่อกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ เป็นการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการกระทำฝ่าฝืนล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้”
และมาตรา 45 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกําหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นําโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”
และ มาตรา 29 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
@ อ้างดับไฟกองใหญ่ตั้งแต่ต้นลม
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้รับคำร้องและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เพื่อให้มีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สุดท้ายขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและจะมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่