“...ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ อาจจะส่งผลไปถึงการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีคำสั่ง ‘ยุบพรรค’ ตามมาเป็น ‘ดาบที่สอง’ เหมือนกับกรณีของการยื่นยุบพรรคก้าวไกล...”
ทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย กลับเข้ามาอยู่ใน ‘แดนอันตราย’ อีกครั้ง หลังจาก ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ ‘รับคำร้อง’ ไว้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้ ‘ทักษิณและเพื่อไทย’ เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ อาจจะส่งผลไปถึงการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีคำสั่ง ‘ยุบพรรค’ ตามมาเป็น ‘ดาบที่สอง’ เหมือนกับกรณีของการยื่นยุบพรรคก้าวไกล
ทว่า 7 โมงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม 2567 จากคำบอกเล่า-ขู่คำราม ของ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ที่สวมหมวก ‘เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ’ ที่ออกมา ‘โก่งคันธนู’ ว่าจะเกิด ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ (อีกครั้ง) ระดับความสั่นสะเทือน-แรงกระแทก ‘พรรคแกนนำ’ ถึงขั้น ‘ล่มสลาย’ โดนปรามาสจากคนในรัฐบาลระดับคีย์แมน-บริวารในทำเนียบรัฐบาล ว่า ‘เกินกว่าเหตุ-เลอะเทอะ-ชะชะช่า’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ถึงคำร้องฉบับย่อของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้อง ไปแล้วนั้น นี่คือ ‘คำร้องฉบับเต็ม’ ตอนที่ 1 ความหนา-ความยาว 65 หน้า
อ่านประกอบข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 7 โมงเช้า 10 ตุลา ไพบูลย์ เฉลย คำร้อง ธีรยุทธ ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
- เปิดคำร้องศาลรัฐธรรมนูญฉบับย่อ สั่ง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ เลิกล้มล้างการปกครองฯ
ข้อเท็จจริง
ข้อ 1 ผู้ร้องในฐานะประชาชนผู้มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ก่อนมีคำร้องนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เรื่อง ขออัยการสูงสุดส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโปรดวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ปรากฏตามสำเนาคำร้องขออัยการสูงสุดส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโปรดวินิจฉัยสั่งการฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2567 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 1 ซึ่งครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ
@ ใช้สิทธิยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ว่า
การกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และใช้สิทธิและเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ร้องจึงใช้สิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1860/2567 ของศาลอาญา คดีระหว่างพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ในข้อกล่าวหาฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานความผิดอื่นๆ
และเป็นผู้ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (9)
ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นบุคคลขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 มิให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น และผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้กระทำการใดๆอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือ ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองใดๆ ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ
ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 24 (2) และ มาตรา 29 และ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสอง ผู้ถูกร้องที่ 2 จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ชื่อพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550
@ เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แบ่งได้เป็น 2 ประการ ดังนี้ คือ
ประการที่ 1 ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หน้าที่ 47 ความว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ประการที่ 2 ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
@ ควบคุม-สั่งการ ‘ชั้น 14’
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ในประการที่ 1 ผู้ร้องพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์ที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลงในที่สุด 3 กรณีดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายนายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ปรากฎตามพระบรมราชโองการที่ 1/2566 วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 2
โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องรับโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืน ไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ
การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
@ ครอบงำ พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
กรณีที่ 2 ผู้ร้องพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่ คบหา ร่วมคิด กับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
การกระทำทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการกระทำการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นการกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะอาจเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
@ ช่องทางกลุ่มทุน-ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ในประการที่ 2 ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ด้วยปรากฎหลักฐานเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปว่านายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีพฤติการณ์ในลักษณะเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2565 หน้าที่ 2 ถึงหน้าที่ 3 วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า
“จึงมีหลักการที่สำคัญตรงกันว่าสมาชิกพรรคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของพรรค มิเช่นนั้นย่อมจะเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจครอบงำพรรคการเมือง โดยไม่มีสมาชิกพรรคโต้แย้งคัดค้าน ทำให้พรรคการเมืองสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองไม่ส่งต่อเจตจำนงของประชาชนไปสู่การบริหารประเทศ แต่กลับส่งต่อเจตจำนงของกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศแทน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”
@ อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
เห็นได้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2565 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจในลักษณะเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 โดยสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่สามารถโต้แย้งคัดค้านได้ ทำให้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 สูญเสียความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 อันเป็นเหตุให้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ส่งต่อเจตจำนงของประชาชนไปสู่การบริหารประเทศ
แต่กลับส่งต่อเจตจำนงของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศแทน ทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และ พรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ผู้ถูกร้องที่ 1 กลับได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีพฤติการณ์ในลักษณะเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการดังกล่าว และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการกระทำร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 หน้าที่ 48 และ 49 วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า
“พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับประชาชน
เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ในการหล่อหลอม ความคิดอุดมการณ์ เจตจำนงค์ และความต้องการของประชาชน ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เข้าไว้ด้วยกัน กำหนดเป็นนโยบายของพรรคเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนผ่านผู้แทน พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลจะมีเสรีภาพ ในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้ แต่เสรีภาพดังกล่าว ก็หาใช่เสรีภาพอันไร้ขอบเขต หรือไม่มีเขตแดนจำกัด เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองจะถูกกำกับไว้โดยรัฐธรรมนูญ และวิถีทางทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติเสมอ รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”
@ แทรกแซง ระบบพรรคการเมืองอื่น
และเห็นได้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการในลักษณะเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นการกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันหลักของประเทศไว้ก่อนอันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า
“การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ”และวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานอีกว่า
“บทบัญญัติมาตรา (มาตรา 49) นี้คุ้มครองมิให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมหรือต้องสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้”
จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการเป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมหรือต้องสิ้นสลายไป เป็นการที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้วยมาตรา 49 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
โดยปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีพฤติการณ์แสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 และพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ
การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และกระทำการแทรกแซง บ่อนทำลาย ระบบพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น ซึ่งสาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปเรียกการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องที่ 1 ว่า “ระบอบทักษิณ”
@ 6 ปรากฎการณ์ เจ้าของ-ครอบครอง-ครอบงำ
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทั้ง 2 ประการข้างต้นนั้น มีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไป ปรากฏตามคำร้องนี้ 6 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี
โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ
การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่ คบหา ร่วมคิด กับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์
และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย
โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
@ ข้อเท็จจริง-พยานบุคคล-พยานหลักฐาน
ดังปรากฎข้อเท็จจริง พยานบุคคล และพยานหลักฐานแต่ละกรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปีโดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1
ระหว่างต้องรับโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่เรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ
การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
สืบเนื่องจากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 รายงานผลการตรวจสอบที่ 221/2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยมีเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกร้องที่ 1 โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ถูกร้อง ที่ 2
ปรากฎความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน้าที่ 16 ถึง 17 ความว่า
“3.4 กรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตราย เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวแล้วเห็น ว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น และมีความมุ่งหมายที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตและสุขภาพของนายทักษิณ จึงถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร
3.5 กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพักชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
1) การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 2 ให้ข้อมูลว่า เป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ
จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
@ ขัดต่อหลักเสมอภาค-เลือกปฏิบัติ
2) กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ
ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป
3) ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพและให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ได้โต้แย้ง
จนกระทั่งนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวพักโทษและออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ปรากฏตามสำเนารายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น เอกสารท้ายคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยหมายเลข 3
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวที่สาธารณชนต่างรู้กันทั่วไปโดยสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างมากมาย ปรากฏตัวอย่างบทความจากสื่อมวลชน ดังนี้ (ปรากฎอยู่ในเอกสารคำร้องตั้งแต่หน้าที่ 12 ถึง หน้าที่ 21)
@ อ้างคำให้การ ‘เสรีพิศุทธ์’ ต่อ ป.ป.ช.
เห็นได้ว่าตามที่ปรากฏหลักฐานตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นว่า กรณีโรงพยาบาลตำรวจรับตัวนายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 คดีนี้ไว้รักษาที่ห้องพักชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษานั้น
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากขณะนั้นโรงพยาบาลตำรวจให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ
จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
และจากคำให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ฯ ซึ่งไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ปปช. ไว้แล้วว่าได้ไปพบผู้ถูกร้องที่ 1 ที่โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 2 ครั้ง ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤตแต่อย่างใด
@ ขอศาลรธน.เรียกรายงานกสม.- ป.ป.ช.
กรณีตามคำร้องกรณีที่ 1 นี้ ในชั้นไต่สวนผู้ร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดเรียกข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นพร้อมความเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ เรียกข้อมูลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพิ่มเติม
ผู้ร้องกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวในกรณีที่ 1 ข้างต้น จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว
เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
ทั้งหมดเป็นคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ ตอนที่ 1 ... สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้