“...วันนี้พรรคเพื่อไทยเขารวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และเป็นรัฐบาลที่มองแล้วว่าเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือกลุ่มเพื่อนนายเนวิน ชิดชอบ เคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคภูมิใจไทยมาโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เขายังมาสมานฉันท์กันได้ แล้วเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ทั้งหมด ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรจะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ เราถามกันทุกคน ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าขอให้ชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราควรสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯ แต่ตัวพวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือเหตุผลที่เราโหวตให้นายเศรษฐา...”
เป็นอันว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย จากพรรคเพื่อไทย คือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ปิดฉากสงคราม ‘นักเลือกตั้ง’ ที่ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงยุบสภาฯต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน กินเวลายาวกว่า 5 เดือน
ฝ่ายพ่ายแพ้ทั้ง ‘ก้าวไกล’ และพรรคพันธมิตรอีก 3-4 พรรค ต่างเก็บรอยแค้น ไปเปิดกลยุทธ์ดึงคะแนนเสียงเพื่อหาฐานมวลชนไว้สู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เกิน 4 ปีนี้
เป็นไปตามไทม์ไลน์ของ MOU พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ ตามคำประกาศของ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า รัฐบาลใหม่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ฉบับประชาชน’ โดยใช้ สสร.จากการเลือกตั้ง หากจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ จะยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ดี ในฉากสงครามนักเลือกตั้ง 5 เดือนที่ผ่านมา
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สถาบันการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย คืออีกหนึ่งพรรคที่มีความขัดแย้งร้าวลึกภายในมากที่สุดพรรคหนึ่ง
รอยร้าวดังกล่าวมาแตกโพละ ในช่วงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อ ’16 สส.’ ของพรรค ชิงออกเสียง ‘สนับสนุน’ เศรษฐา ทวีสิน สวนทางมติพรรคเมื่อ 21 ส.ค. ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควร ‘งดออกเสียง’ ขณะที่ ‘4 ผู้เฒ่า’ ในพรรคขอสงวนมติพรรค จะโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’
สส.ทั้ง 16 คนดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ในอดีต ที่สร้างความร้าวฉานในพรรคจนทำให้ ‘ค่ายสะตอ’ พังทลายทางการเมืองระหว่างทศวรรษ 2520-2530
ไฉนกงล้อประวัติศาสตร์นำพาพรรค ปชป.ที่ถูกยกย่องว่าเป็น ‘สถาบันการเมืองเก่าแก่’ หวนคืนมาถึงจุดนี้อีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
รอยแตกร้าวใน ‘ค่ายสะตอ’ เกิดขึ้นมายาวนานนับตั้งแต่ ‘พ่ายแพ้’ การเลือกตั้งปี 2562 และ ‘สูญพันธุ์’ ในพื้นที่ กทม.ครั้งแรก โดยคณะกรรมการบริหารพรรค ที่นำโดย ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกฯ หัวหน้าพรรคขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก่อนการเลือกตั้งประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ ‘3 ป.’
หลังจากการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ส่วน ‘เสี่ยต่อ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ผงาดนั่งเลขาธิการพรรค กุมเสียง สส.ส่วนใหญ่ของพรรคไว้เบ็ดเสร็จ และเข้าร่วมรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’
ในช่วงเวลาเกือบ 4 ปีของรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ เกิดรอยร้าวลึกภายใน ปชป.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อครหากินแหนงแคลงใจว่ามี ‘มือมืด’ กุมอำนาจภายในพรรคไม่ให้แตกแถว ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของ ปชป.ที่ให้เอกสิทธิ์ สส. และมีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค
ส่งผลให้ สส.ระดับ ‘หัวกะทิ’ ทยอยออกจากพรรคจำนวนมาก ไล่เรียงมาตั้งแต่ กรณ์ จาติกวณิช (ไปก่อตั้งพรรคกล้า ก่อนรวมกับพรรคชาติไทยพัฒนา ปัจจุบันกรณ์ ลาออกจากพรรคแล้ว) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี (ร่วมกับกรณ์ ก่อตั้งพรรคกล้า ปัจจุบันยังไม่มีบทบาททางการเมือง) นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตนักการเมืองรุ่นเก๋า (ปัจจุบันอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)) พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรค รทสช. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองลายคราม (ปัจจุบันอยู่ รทสช.) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ย้ายไปเป็นเลขาธิการพรรค รทสช. สกลธี ภัททิยกุล ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
นอกจากรายชื่อข้างต้น ยังมีอีกหลายสิบชีวิตที่ลาออกจากพรรคไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ๆ
สาเหตุที่ ปชป. ‘เลือดไหลออก’ จำนวนมากขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารงานภายในพรรคไม่เป็นเอกภาพ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รวมถึงมีกระแสข่าวโชยมาต่อเนื่องว่า กรรมการบริหารพรรค และลูกพรรคบางคน พยายาม ‘เลื่อยขา’ เก้าอี้หัวหน้าพรค และเลขาธิการพรรคมาโดยตลอด แต่ทำไม่สำเร็จ
บ้างว่ามีความพยายามจาก ‘กลุ่มเดอะมาร์ค’ ต้องการกลับเข้ามา เพื่อฟื้นฟูพรรค แต่ ‘อภิสิทธิ์’ ยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งความขัดแย้ง รัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’ ประกาศยุบสภาช่วงเดือน มี.ค. 2566 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 14 พ.ค. 2566
เวลานั้น ‘ค่ายสีฟ้า’ ยังเชื่อว่าจะกู้วิกฤติศรัทธากลับคืนมาได้ ด้วยการส่ง สส.หน้าใหม่ ดีกรีดารา-นักร้องดัง ลง สส.แบบแบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า รทสช. ซึ่งเป็นพรรคใหม่คงไม่น่าสู้ได้ ทว่าไม่เป็นดังคาดเมื่อ รทสช.ผงาดขึ้นมาเบียด ปชป.ตกขอบ เช่นเดียวกับ ‘ก้าวไกล’ ที่กวาด สส.ภูเก็ต ยกจังหวัด ส่งผลให้ ปชป.ได้ สส.ภาคใต้ แค่เพียง 5 จังหวัด 19 คน และไม่มียกจังหวัดแม้แต่แห่งเดียว รวมกับ สส.ภาคอื่น และ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 คน รวมมีจำนวน สส.แค่ 25 คน
ขณะที่เกมการเมืองหลังเลือกตั้งสร้าง ‘เซอร์ไพรส์’ พลันที่ ‘ก้าวไกล’ ผงาดได้ สส. 151 ที่นั่ง (ปัจจุบันเหลือ 150 คน เมื่อ สส.ระยอง ลาออก โดยมีการเลือกตั้งซ่อม 10 ก.ย.นี้) และ ‘เพื่อไทย’ ไม่แลนด์สไลด์ ได้ สส.เพียง 141 คน ทำให้ ‘สมการการเมือง’ ถูกเขย่า ดีลลับทั้งหลายถูกรีเซ็ต ต้องมาเจรจารายละเอียดใหม่ทั้งหมด
ไม่เว้นแม้แต่ ‘ค่ายสีฟ้า’ ที่มีกระแสข่าวหลายครั้งว่า ‘บิ๊กสีฟ้า’ แอบบินไปเจรจาลับกับ ‘คนแดนไกล’ เพื่อหวังพา ปชป.ล่มหัวจมท้ายเป็นรัฐบาลกับ ‘เพื่อไทย’ ซึ่งตอนแรกเป็นกระแสข่าวที่หลายคนเบ้ปาก ใครจะไปคาดคิดว่า ปชป.ที่เป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ กับพรรคเพื่อไทยมายาวนานหลายสิบปี จะมาร่วมรัฐบาลกันได้
ทว่าโค้งสุดท้ายหลังจาก ‘ก้าวไกล’ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ‘เพื่อไทย’ ได้ ‘ส้มหล่น’ เป็นไปตามหมากที่วางไว้ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเอง โดยรวมเสียงพรรคขั้วรัฐบาลประยุทธ์เดิม อ้างว่าเป็น ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ ส่ง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ถึงฝั่งฝันนั่งเก้าอี้นายกฯคนที่ 30 ได้สำเร็จ
แว่วมาว่าช่วงเวลาดังกล่าว ‘บิ๊กเนมสีฟ้า’ บินไปเจรจาลับกับ ‘คนแดนไกล’ อีกรอบ เพื่อหวังนำพา สส.ในมือ ซึ่งมีอยู่ราว 16 คน โหวตหนุน ‘เศรษฐา’ และขอร่วมรัฐบาลด้วย
เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว พปชร.ที่เดิมจะโหวตให้ ‘เพื่อไทย’ เกิดกินแหนงแคลงใจเรื่องแบ่งเค้กรัฐมนตรีกัน ทำให้สุดท้าย สว.สาย ‘บ้านป่ารอยต่อ’ ไม่ยอมโหวตให้ ‘เศรษฐา’ ปชป.เล็งเห็นช่องขัดแย้งตรงนี้ จึงพยายาม ‘เสียบตัว’ เข้าไป พร้อมโหวตให้ ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล
ทว่าตัวแปรสำคัญดันมาจาก สว.สาย ‘ลุงคนเล็ก’ ที่ช่วยพยุงโหวต ‘เศรษฐา’ ถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งเสียงของ สว.สาย ‘บ้านป่ารอยต่อ’ โดยปฏิบัติการนี้ว่ากันว่ามาจาก ‘ลุงคนเล็ก’ เอาคืน ‘พี่ใหญ่ป่ารอยต่อ’ ที่เคยเดินเกมหวังเลื่อยขาเก้าอี้นายกฯช่วงปี 2565
ทำให้การเดินเกมช่วยโหวต ‘เศรษฐา’ คราวนี้เหมือน ‘โหวตฟรี’ เพราะ ‘เพื่อไทย’ ไม่มีความจำเป็นต้องเอา 16 สส.ของ ปชป.มาร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด
จึงไม่แปลกที่ ‘ชวน หลีกภัย’ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ‘ค่ายสะตอ’ ต้องออกมา ‘กรีด’ พวกแหกมติพรรคว่า “ความดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ต้องผ่านพรรค เป็นมติพรรค ไม่ได้เป็นปัญหา อยากร่วมรัฐบาลก็ทำได้ ไม่ใช่แอบไปเจรจาแล้วเค้าไม่รับ”
@ ชวน หลีกภัย
ทำเอา ‘กลุ่ม 16’ ร้อนรนจน ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ออกมาแถลงดับไฟ สวนทันควันถึงบรรดา ‘ผู้เฒ่า’ ในพรรคว่า ปชป.ยุคใหม่ ไม่ขอรับมรดกความแค้นของคนเก่า ยืนยันแม้จะโหวต ‘เศรษฐา’ แต่พร้อมเป็นฝ่ายค้าน
“วันนี้พรรคเพื่อไทยเขารวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และเป็นรัฐบาลที่มองแล้วว่าเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือกลุ่มเพื่อนนายเนวิน ชิดชอบ เคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคภูมิใจไทยมาโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เขายังมาสมานฉันท์กันได้ แล้วเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ทั้งหมด ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรจะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ เราถามกันทุกคน ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าขอให้ชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราควรสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯ แต่ตัวพวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือเหตุผลที่เราโหวตให้นายเศรษฐา” เดชอิศม์ ยืนยัน
@ เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ได้นำคณะ สส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว 24 ส.ค. 66
ทั้งหมดคือชนวนความขัดแย้งของ ปชป.ที่ร้าวหนักยากเกินจะประสานกันได้อีกต่อไป ดังนั้นคงต้องรอดูว่า หลังจากนี้ 16 สส.แหกหักมติพรรค จะมีบทสรุปเป็นอย่างไร จะได้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือสุดท้ายต้องยอมกลับมาเป็นฝ่ายค้าน
แต่ที่แน่ ๆ ปชป.ยุคปัจจุบัน เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นพรรคการเมืองที่มีมนต์ขลังหรือไม่? การเลือกตั้งครั้งหน้าจะกู้วิกฤติศรัทธาประชาชนกลับมาได้อีก?
หรือจะคงเหลือไว้เพียงตำนานพรรคเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- เปิดเกม สลับขั้ว! นับหนึ่ง ‘เพื่อไทย’ จัดทัพตั้ง รบ. บีบ 8 พรรคร่วมแพแตก?
- รีวิว! ประวัติ-หลังฉากการเมือง ปธ.สภาฯ-2 รอง ก่อนคุมเกมโหวตว่าที่นายกฯ 'พิธา'
- เจาะเบื้องหลัง! ศึกชิง เก้าอี้ปธ.สภาฯ ‘คนแดนไกล’ ไฟเขียว ‘เพื่อไทย’ ชน 'ก้าวไกล'?
- จับตาศึกชิงนายกฯ รอบใหม่ กลหมาก ‘เพื่อไทย’ : ‘เศรษฐา’ ตัวหลอก ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตัวจริง?
- ผ่า 3 สูตร! เปิดแผนชิงนายกฯ รอบ3‘เพื่อไทย’ เร่งเกม (ทักษิณกลับบ้าน?) -‘ก้าวไกล’ ขอยื้อ
- เปิดแผนเพื่อไทย ตั้ง‘รัฐบาลสลายขั้ว’ เริ่มภารกิจดูด ‘งูเห่า’ 2+1 ลุง ถอย ‘หลังฉาก'
- ย้อน 17 ปี ‘รบ.แห่งชาติ’ สู่ ‘รบ.สลายขั้ว’ บทพิสูจน์แคมเปญ 'พท.' โหวตเลือกนายกฯ รอบ 3