"...เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และประธานสภาฯ กับรองประธานฯทั้ง 2 คน ได้เข้าร่วมงานรัฐพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯที่รัฐสภาเรียบร้อยแล้ว หน้าที่สำคัญหลังจากนี้ของประธานสภาฯ คือ การคุมเกมการประชุมรัฐสภา ที่นัดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันแรก 13 ก.ค.นี้ หากยังเลือกไม่ได้ จะนัดใหม่ในวันที่ 19-20 ก.ค. 2566..."
พร้อมทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ!
สำหรับ ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ อย่าง ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ แกนนำพรรคประชาชาติ และ 2 รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล รองประธานฯคนที่ 1 ‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รองประธานฯคนที่ 2
หลังจากเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และประธานสภาฯ กับรองประธานฯทั้ง 2 คน ได้เข้าร่วมงานรัฐพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯที่รัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
หน้าที่สำคัญหลังจากนี้ของประธานสภาฯ คือ การคุมเกมการประชุมรัฐสภา ที่นัดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันแรก 13 ก.ค.นี้ หากยังเลือกไม่ได้ จะนัดใหม่ในวันที่ 19-20 ก.ค. 2566
น่าสนใจว่า ก่อนเริ่มต้นภารกิจแรกคุมเกมโหวตว่าที่นายกฯ ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ประธานสภาฯ กับรองประธานฯทั้ง 2 คน มีเส้นทาง และบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาฯ
เป็นนักการเมืองรุ่นลายคราม ผ่านร้อนผ่านหนาวบนถนนการเมืองมายาวนานกว่า 40 ปี จากอดีตข้าราชการครูโรงเรียนสอนศาสนา สู่อาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) หลังจากนั้นขยับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) และขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพครูด้วยตำแหน่งรองอธิการบดีวิทยาลัยครูสงขลาในปี 2521
หลังจากนั้น ‘วันนอร์’ ถูกเชื้อเชิญให้ลงเล่นการเมือง พรรคแรก คือ พรรคกิจสังคม เมื่อปี 2522 และได้รับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นเขา กับ ‘เด่น โต๊ะมีนา’ นักการเมืองชื่อดังใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพรรคพวก ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มเอกภาพ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มวาดะห์’ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเสรีภาพของมุสลิม โดยกลุ่มวาดะห์ มีบทบาทและอิทธิพลค่อนข้างสูงมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
‘วันนอร์’ หอบพลพรรคกลุ่มวาดะห์ไปร่วมก่อร่างสร้าง ‘พรรคความหวังใหม่’ ตามคำเชิญของ ‘บิ๊กจิ๋ว’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผบ.ทบ. ที่อยากลงเล่นการเมืองแบบเต็มตัว โดย ‘วันนอร์’ ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค และถูกขยับเป็นเลขาธิการพรรค
นอกจากนี้ในสมัยรัฐบาล ‘บิ๊กจิ๋ว’ เขาถูกแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก
วันมูหะมัดนอร์ มะทา / ภาพจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาเมื่อปี 2545 กลุ่มวาดะห์ พร้อมกับพรรคความหวังใหม่ เข้ามาควบรวมกับพรรคไทยรักไทย ยิ่งทำให้บทบาทของกลุ่มวาดะห์ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง โดย ‘วันนอร์’ ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค พร้อมกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลังเกิดเหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ และการสร้างความรุนแรงของรัฐแก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา บทบาทของ ‘กลุ่มวาดะห์’ เริ่มลดน้อยถอยลง ประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่น ส่งผลให้ ‘วันนอร์’ สอบตก ส.ส.เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2548 ทั้งที่กุมพื้นที่มายาวนานกว่า 20 ปี
หลังจากนั้น ‘วันนอร์’ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีตามบ้านเลขที่ 111 จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย แม้จะพยายามหอบอดีต ส.ส.ในกลุ่มวาดะห์ไปเข้าร่วมพรรคอื่น เช่น พรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย (กลุ่มวังน้ำยม ของสมศักดิ์ เทพสุทิน) หรือพรรคมาตุภูมิ (ก่อตั้งโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ผู้นำการรัฐประหารปี 2549) ก็ตาม
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มวาดะห์ ลืมเลือนไปตามกาลเวลา
ผ่านมาราว 10 กว่าปี ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ‘วันนอร์’ กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง ผ่านการเชื้อเชิญของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รวบรวมกลุ่มอดีต ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มวาดะห์เดิม ก่อตั้ง พรรคประชาชาติ โดยเปลี่ยนคอนเซปต์จากพรรคเพื่อมุสลิม เป็นพรรคทางพหุวัฒนธรรม ดูแลความหลากหลายของประชากรต่างศาสนา กระทั่งเจ้าตัวได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ และกลับเข้าสภาฯอีกครั้งในรอบกว่า 10 ปี
การกลับมาของ ‘วันนอร์’ ที่นักการเมืองหลายคนให้ความเคารพเรียกว่า ‘อาจารย์’ สร้างแรงกระเพื่อมให้สภาฯไทยอีกครั้ง
หลังการเลือกตั้ง 2566 เนื่องจากการแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯของ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ไม่มีข้อยุติ ทำให้ ‘แกนนำหลังฉาก’ ต้องเชื้อเชิญ ‘วันนอร์’ มาเป็นประธานสภาฯ ‘คนกลาง’ ยุติความขัดแย้งนี้ ทำให้เขาผงาดขึ้นเป็นประธานสภาฯ สมัยที่ 2 แม้ว่าพรรคประชาชาติจะมี ส.ส.แค่ 9 คนเท่านั้น
แต่หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘วันนอร์’ มีความใกล้ชิด และสายสัมพันธ์อันดีกับ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เดิม ดังนั้น การวางตัวให้เขาเป็นประธานสภาฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายเพื่อไทย และทำให้ ‘ก้าวไกล’ ต้องถอยหลบฉาก พ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้
‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาฯ คนที่ 1
‘ปดิพัทธ์’ หรือ ‘หมออ๋อง’ คือ นักการเมืองหน้าใหม่ไฟแรง เคยเป็น ส.ส.มาแล้ว 1 สมัย เมื่อปี 2562 ภายใต้สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ภายหลังพรรคโดนยุบ ได้ย้ายมาร่วมชายคา ‘ก้าวไกล’ โดยเขาได้รับความไว้วางใจอย่างมากจาก ‘โปลิตบูโร’ ในพรรค
ประวัติส่วนตัว อายุปัจจุบัน 41 ปี สำเร็จการศึกษา มัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรีสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์
ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการอย่างน้อย 2 ปี และทำงานด้านพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ตั้งแต่ปี 2548-2561 และการทำงานด้านพัฒนาเยาวชนนี่เอง ทำให้เขามองเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมในหลายมิติ ทำให้เริ่มเบนเข็มมาสนใจงานด้านสังคมการเมือง
ปดิพัทธ์ สันติภาดา /ภาพจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
กระทั่ง ‘ธนาธร-พรรคพวก’ เริ่มก่อร่างสร้างพรรคอนาคตใหม่ช่วงปี 2561 ‘หมออ๋อง’ ก็กระโดดเข้าร่วมแบบไม่ลังเล และล่มหัวจมท้ายมาถึงปัจจุบันในนาม ‘ก้าวไกล’
หลังจากได้ชิมลางเป็น ส.ส.พิษณุโลก สมัยแรกเมื่อปี 2561 ‘หมออ๋อง’ เริ่มทำพื้นที่ ควบคู่ไปกับศึกษานโยบายด้านสาธารณสุข อย่างจริงจัง จนได้รับความไว้วางใจจาก ‘โปลิตบูโร’ ให้อภิปรายปัญหาต่าง ๆ ในสภาฯ และถูกวางบทบาทเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคเหนือ กระทั่งปี 2566 ฝ่าด่านเข้าป้ายเป็น ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 สมัยที่ 2 ได้สำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’ รองประธานสภาฯ คนที่ 2
อีกหนึ่งนักการเมืองวัยเก๋า จ.เชียงราย เติบโตบนเส้นทางการเมืองรุ่นใกล้เคียงกับ ‘หมอชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดย ‘พิเชษฐ์’ เป็นหนึ่งในเชื้อหน่อ ‘แม่โจ้คอนเนคชั่น’ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกับอดีตแกนนำ ส.ส.หลายคนในพรรคเพื่อไทย เช่น วิสุทธิ์ ไชยณรุณ, พายัพ ปั้นเกตุ, สุนัย จุลพงศธร เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำ ‘สายเหยี่ยว’
‘พิเชษฐ์’ เริ่มเดินทางบนนถนนการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2544 อาศัยคอนเนกชั่นกับ ‘คนเดือนตุลา’ สาย จ.เชียงราย เพื่อขอลงสมัคร ส.ส.เขต พรรคไทยรักไทย แต่ยังไม่ถูกส่งลงสมัคร ทำให้เขาไปอาศัยอยู่ใต้ชายคา ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’ นักการเมืองดังภาคเหนือขณะนั้น
พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน /ภาพจากพรรคเพื่อไทย
กระทั่งปี 2544 ถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย แต่กว่าจะได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.ต้องรอถึงปี 2546 เนื่องจาก พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ลาออกจาก ส.ส.
หลังจากนั้นเจ้าตัวเริ่มมีบทบาทเป็น ‘องค์รักษ์พิทักษ์จันทร์ส่องหล้า’ โดยช่วงปี 2549 เขาถูกกล่าวหาจากบางสื่อว่า เป็นหนึ่งในแกนนำที่ปลุกระดมมวลชนต่อต้านม็อบพันธมิตรฯ ที่กำลังมีกระแสสูง
อย่างไรก็ดี ‘พิเชษฐ์’ คือนักการเมืองที่ไม่เคยสอบตก เพราะชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ปี 2544 ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปี 2550-2566 เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต มาโดยตลอด อยู่มาแล้ว 3 พรรคคือ ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย
บทบาทของเขาในสภาฯ โดดเด่น ยอมหักไม่ยอมงอ ตอบโต้ทุกคน โดยเฉพาะสภาฯชุดที่ 25 (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2562) ที่ผ่านมา เขามีบทบาทในการขอให้นับองค์ประชุม จนเป็นชนวนทำให้ประชุมสภาฯล่มหลายครั้ง เนื่องจาก ส.ส.มาไม่ครบ จนถูกแซวว่า คราวนี้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ระวังจะถูกเอาคืนบ้าง
ภาพจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เหล่านี้ คือ บทบาท-ฉากหลังทางการเมืองของ 3 นักการเมืองที่ถูกโหวตเป็น ประธานสภาฯ-รองประธานสภาฯอีก 2 ราย คุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติในสภาชุดที่ 26
กับภารกิจคุมเกมการโหวตเลือกนายกฯครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 2566 จะมีบทสรุปอย่างไร
วันที่ 13 ก.ค.นี้ สาธารณชนคงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน