"...คาดว่า ‘เพื่อไทย’ จะเสนอชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ‘ตัวจริงเสียงจริง’ เข้าชิง ในการโหวตรอบที่ 4 และคราวนี้คะแนนเสียงอาจจะผ่านฉลุย เพราะบรรดา ส.ว. และฝ่ายอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ ‘กลับลำ’ มาหนุนตระกูล ‘ชินวัตร’ กันแล้ว โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า ‘ชินวัตร’ ยังไม่น่ากลัวเท่า ‘พลพรรคสีส้ม’..."
เป็นอันว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มิได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ค่อนข้างแน่นอนแล้ว
หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากโหวตไม่ให้มีการเสนอชื่อ ‘พิธา’ กลับเข้ามาชิงนายกฯได้อีก โดยอ้างว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ แต่สามารถยื่นเสนอชื่อได้อีกครั้งในสมัยประชุมหน้า
ขณะที่คดีส่วนตัวก็กำลังเดินหน้า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมกับมีคำสั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ จากการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ไอทีวี’ โดยศาลมีคำสั่งให้เขาเข้าไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
เท่ากับว่าแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ ‘ส้มหล่น’ มาที่ ‘เพื่อไทย’
หากจะว่ากันด้วยเรื่องแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ขณะนี้มีอยู่ 3 คน ได้แก่ เศรษฐา ทวีสิน อดีตบิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เมืองไทย, อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวหัวแก้วหัวแหวน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ, ชัยเกษม นิติศิริ มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย
แต่ใน 3 คน มีเพียง 2 คนที่กำลังถูกส่งขึ้นชิงเก้าอี้เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าคือ ‘เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง’
กลหมากในสภาเวลานี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยกำลัง ‘รุกฆาต’ กินทั้งกระดาน
การแก้เกมตอนนี้เหลือเพียง ‘เพื่อไทย’ ต้องโดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ ฉีกตัวออกมาจัดตั้งรัฐบาลเอง
เงื่อนไขนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ‘หมอชลน่าน’ เคยบอกตอนศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯยังคุกรุ่นว่า เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไปไม่ได้ เน้นนะครับ เราออกไปไม่ได้ แม้เป็นสิทธิของเราในการออกไปด้วย แต่ถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้านเสียงมัดเรากับก้าวไกลให้ติดกัน เปรียบเสมือนพ่อแม่จับเราที่เป็นลูกคลุมถุงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธ ฉะนั้นเสียงของประชาชน 25 ล้านคนสำคัญที่สุด เราคำนึงถึงจุดนี้เป็นหลักในการเจรจาพูดคุย และการนำเสนอทุกเรื่อง
แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ‘เพื่อไทย’ พร้อมสละเรือ 8 พรรคร่วมไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองได้ทุกเมื่อ
แม้ตอนนี้ฉากหน้าแกนนำพรรคเพื่อไทย จะให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีประคับประคองว่า ยังคงจับมือกับ ‘ก้าวไกล’ พยายามจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันให้ได้ก็ตาม
ดังนั้นกลหมากแรกที่ ‘เพื่อไทย’ จะพยายามทำก็คือ ยังคงเกาะเกี่ยวกับ ‘ก้าวไกล’ ในการเสนอชื่อนายกฯ รอบที่ 3 โดยจะเสนอ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เข้าชิง เนื่องจากเขามีเงื่อนไขว่า ต้องมี ‘ก้าวไกล’ มาร่วมด้วย เพราะหวั่นเกรง ‘ด้อมส้ม’ จะทัวร์ลง
ภาพเศรษฐา ทวีสิน จาก https://bangkok-today.com/
แต่ค่อนข้างแน่นอนว่า การเสนอชื่อ ‘เศรษฐา’ ในขณะที่ยังมี ‘ก้าวไกล’ รวมอยู่ใน 8 พรรคร่วม เป็นเรื่องยากที่จะผ่านเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือเกิน 375 เสียง จากที่ประชุมร่วม 479 คน (ส.ส. 500 คน ส.ว. 249 คน)
หากชื่อ ‘เศรษฐา’ ไม่ผ่านมติเสียงข้างมาก ก็ย่อมไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้อีก ตามเกมที่เดินเอาไว้กับ ‘พิธา’ ก่อนหน้านี้ว่า การเสนอชื่อนายกฯถือเป็น ‘ญัตติ’ ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41
อาจถูกอกถูกใจ ส.ส.ภูธร ภายในพรรคเพื่อไทย ที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับ ‘เศรษฐา’ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหลักการทางการเมือง
แน่นอนว่า หากเกมเดินถึงตอนนั้น ‘เพื่อไทย’ ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการสลัด ‘ก้าวไกล’ ในทันที โดยอ้างว่า จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ที่สำคัญเป็นลำดับแรก และเป็นนโยบายหลักของ ‘เพื่อไทย’
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
หลังจากนั้นคาดว่า ‘เพื่อไทย’ จะเสนอชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ‘ตัวจริงเสียงจริง’ เข้าชิง ในการโหวตรอบที่ 4 และคราวนี้คะแนนเสียงอาจจะผ่านฉลุย เพราะบรรดา ส.ว. และฝ่ายอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ ‘กลับลำ’ มาหนุนตระกูล ‘ชินวัตร’ กันแล้ว
โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า ‘ชินวัตร’ ยังไม่น่ากลัวเท่า ‘พลพรรคสีส้ม’
สมกับภาษิตโบราณว่า เกมการเมือง ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร
แต่ต้องไม่ลืมว่า สมการการเมืองสามารถปรับเปลี่ยนสูตรได้ตลอดเวลา ดังนั้นเงื่อนไขมิใช่แค่สลัด ‘ก้าวไกล’ แต่ต้องดึงบางพรรคจากขั้ว 188 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเดิมมาเข้าร่วมด้วย
ตรงนี้คือสิ่งที่ ‘เพื่อไทย’ อาจตัดสินใจได้ยากลำบาก เพราะหากเลือกพรรค 2 ลุง อย่าง พลังประชารัฐ (พปชร.) หรือรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้ามาร่วม จะทำให้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจหดหาย หรือถึงขั้นสูญพันธุ์ เพราะเคยป่าวประกาศไว้ตอนหาเสียงว่า จะไม่ผสมพันธุ์กับพรรค 2 ลุง
ดังนั้นตัวเลือกแรก และดูมีภาษีที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ภูมิใจไทย’ พรรคที่มีลักษณะประนีประนอมเข้าร่วมได้กับทุกฝ่าย รวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ก็เช่นเดียวกัน
หากถึงจุดนั้น เราคงได้เห็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเมืองไทยอีกรอบ
ที่พรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 แต่มิได้จัดตั้งรัฐบาล ต้องกลับมาเป็นฝ่ายค้าน
เหมือนละครฉากเดิม ๆ ฉายซ้ำแบบปี 2562 ซึ่ง ‘เพื่อไทย’ เคยประสบมาแล้ว!
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน