"...ว่ากันว่าตอนนี้ ‘ทักษิณ’ เคาะสูตรการจัดตั้งรัฐบาลไว้เรียบร้อย พร้อมกับเริ่มแบ่งเค้กเก้าอี้ ครม.จำนวนหนึ่งไว้แล้วเช่นกัน โดยในสูตรนี้มีแนวโน้มสูงมาก ที่ไม่มี ‘ก้าวไกล’ รวมอยู่ในพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ ‘เพื่อไทย’ คงไม่ทำแบบกระโตกกระตาก แต่รอชิงจังหวะให้เกมในสภาฯพาไป ผลัก ‘ก้าวไกล’ ให้จนแต้ม จนสุดท้ายต้องยอมถอนตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านด้วยตัวเอง..."
ศึกชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.2566 นี้
เลื่อนจากกำหนดนัดหมายเดิม 27 ส.ค.2566 ตามที่ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เปิดเผยไว้ เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯนั้น เป็นญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ และเป็นการเสนอญัตติซ้ำขัดกับข้อบังคับฯข้อที่ 41 ตามมติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่
ท่ามกลางสูตรการจับขั้วตั้งรัฐบาล เปลี่ยนแปลงไปแทบจะรายวัน หลังจาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เตรียมกำหนดการกลับไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ โดยมีฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาความเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น
บรรดา ‘บิ๊กเนมการเมือง’ ต่างทยอยบินไปฮ่องกง เพื่อหวังเจรจาสูตรการจัดตั้งรัฐบาลกับ ‘ทักษิณ’ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ศาสดาทางความคิด’ ของค่ายสีส้ม
ว่ากันว่าตอนนี้ ‘ทักษิณ’ เคาะสูตรการจัดตั้งรัฐบาลไว้เรียบร้อย พร้อมกับเริ่มแบ่งเค้กเก้าอี้ ครม.จำนวนหนึ่งไว้แล้วเช่นกัน
โดยในสูตรนี้มีแนวโน้มสูงมาก ที่ไม่มี ‘ก้าวไกล’ รวมอยู่ในพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด
แต่ ‘เพื่อไทย’ คงไม่ทำแบบกระโตกกระตาก แต่รอชิงจังหวะให้เกมในสภาฯพาไป ผลัก ‘ก้าวไกล’ ให้จนแต้ม จนสุดท้ายต้องยอมถอนตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านด้วยตัวเอง
@ ทักษิณ ชินวัตร
สูตรแรก โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ รัฐบาล 316 เสียง
ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง อดีตคนเคยรัก ปิดฉากความขัดแย้ง ‘มันจบแล้วครับนาย’ ที่แทงใจดำ ‘นายใหญ่’ มานานกว่า 15 ปี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง ที่มีคีย์แมนเป็น ‘ผู้กองคนดัง’ และ ‘บิ๊กตำรวจหลังม่าน’ คุมเกมอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง ตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลืนเลือดพลิกขั้ว
หลังจาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกฯ วางมือปิดฉากการเมืองไปแล้ว
ส่วนพรรคอื่น ๆ ที่เหลือและคาดว่าจะเข้ามาร่วมด้วย เช่น พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และพรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีพรรคเล็กอีกอย่างน้อย 4 พรรคที่ยังไม่ประกาศเข้าข้างฝ่ายใด ได้แก่ พรรคใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง ซึ่งมีแนวโน้มสูงจะมาร่วม ‘รัฐนาวาเพื่อไทย’
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง ต้องรอเคาะหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก่อน ถึงจะรู้ ‘จุดยืน’ ว่าจะอยู่กับ ‘ค่ายสีแดง’ หรือ ‘ค่ายสีส้ม’
หากสูตรนี้เกิดขึ้น แน่นอนว่ามีอย่างน้อย 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล 151 เสียง พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน
สูตรไม่เอา ‘2 ลุง’ 237+151 เสียง
สูตรนี้ถูกโยนมาจาก ‘ศาสดาทางความคิด’ ของค่ายสีส้ม ที่มีกระแสข่าวว่าบินไปเจรจาลับการจัดตั้งรัฐบาลกับ ‘นายใหญ่’ ที่ฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้ โดยต่อรองให้ ‘เพื่อไทย’ จับมือกับขั้ว 8 พรรคเดิม และสามารถเพิ่มเติมพรรคภูมิใจไทย กับพรรคเล็กเข้ามาได้ แต่ไม่เอา ‘2 ลุง’ คือ พปชร. และ รทสช. โดย ‘ก้าวไกล’ ยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้านให้ แต่จะช่วยยกมือโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
สูตรสาม 8 พรรคร่วมลุยตั้ง 312 เสียงตามเดิม
สูตรนี้คือการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงนาม MOU หลังการเลือกตั้งคือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคเป็นธรรม และพรรคเพื่อไทรวมพลัง รวม 312 เสียงเหมือนเดิม แต่อาจมีการแก้ไข MOU เช่น ยืนกรานไม่เอาการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลดแรงกดดันจาก สว.ลง
นอกจากนี้ยังต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนักวิชาการ และ สส.ก้าวไกล ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯซ้ำได้หรือไม่ ในรายของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถูกเสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภาขวางไม่ให้เสนอชื่อ โดยอ้างว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมฯข้อที่ 41 โดยศาลจะนัดประชุมรับหรือไม่รับคำร้อง 3 ส.ค.นี้ ก่อนวันโหวตนายกฯรอบ 3 เพียง 1 วัน
โดยสูตรนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเดิน ‘เกมยื้อ’ ของ ‘ก้าวไกล’ ตามยุทธศาสตร์ ‘ด้านกว่า’ ไม่ยอมปล่อยมือจาก ‘เพื่อไทย’ จนกว่าจะถูกผลักออกไปเอง เพื่อจะได้เดินแต้มต่อมวลชนว่า ทำเต็มที่แล้ว แต่กลับถูก ‘ค่ายสีแดง’ หักหลัง สามารถนำไปปลุกมวลชนให้กลับมาเลือกพรรคตัวเองได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘เป็นคุณ’ กับพิธา และพรรคก้าวไกล สูตรนี้ยังเป็นไปได้ที่อาจจะถูกโยนไปสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถึงแม้จะมีโอกาสน้อยมากก็ตาม
ขณะที่แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกระบุว่าจะมีการเสนอชื่อในขณะนี้ มีชื่อเดียว คือ เศรษฐา ทวีสิน อดีตบิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เมืองไทย
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
โฉมหน้าการเมืองไทย ยุคใหม่ จะออกมาเป็นอย่างไร สูตรไหนจะเข้าวิน การโหวตนายกฯ จะยื้อต่อไปหรือไม่
4 ก.ค.2566 นี้ น่าจะพอมีคำตอบที่ชัดเจนกัน
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- เปิดเกม สลับขั้ว! นับหนึ่ง ‘เพื่อไทย’ จัดทัพตั้ง รบ. บีบ 8 พรรคร่วมแพแตก?
- รีวิว! ประวัติ-หลังฉากการเมือง ปธ.สภาฯ-2 รอง ก่อนคุมเกมโหวตว่าที่นายกฯ 'พิธา'
- เจาะเบื้องหลัง! ศึกชิง เก้าอี้ปธ.สภาฯ ‘คนแดนไกล’ ไฟเขียว ‘เพื่อไทย’ ชน 'ก้าวไกล'?
- จับตาศึกชิงนายกฯ รอบใหม่ กลหมาก ‘เพื่อไทย’ : ‘เศรษฐา’ ตัวหลอก ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตัวจริง?