"...ทั้งรัฐบาลสลายขั้ว และรัฐบาลแห่งชาติ ต่างมีจุดประสงค์เหมือนกันเพื่อหาทางออกทางการเมืองที่กำลังวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เกิดความขัดแย้งอย่างร้าวลึกในสังคม หรือมีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นในประเทศ..."
314 คือ จำนวนเสียง สส.ในมือ ‘เพื่อไทย’ ล่าสุด ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แบ่งเป็นการหารืออย่างเป็นทางการกับ 9 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และพรรคท้องที่ไทย 1 เสียง
ขณะที่ตัวแปรสำคัญอย่าง ‘พรรค 2 ลุง’ รวม 76 เสียง คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง ค่อนข้างมีแนวโน้มสูงมากที่จะมาเข้าร่วม ‘รัฐนาวาสีแดง’ ลำนี้ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้อย่างราบรื่น
ท่ามกลางแคมเปญของ ‘เพื่อไทย’ ที่ยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้คือ ‘รัฐบาลสลายขั้ว’
สวนทางกับ ‘ก้าวไกล’ ที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ออกมายืนยันจุดยืนชัดว่าจะไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ พร้อมขนานนามว่าเป็น ‘รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว’
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่อง อยู่ที่การใช้แคมเปญ ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ ที่หมายถึงพร้อมเชิญทุกฝ่ายเป็นรัฐบาลได้ทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นไปตามบริบทการเมืองขณะนั้น เพื่อ ‘ผ่าทางตัน’ ทางการเมือง
แตกต่างกับคำว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ที่รวมทุกพรรคจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีฝ่ายค้าน มีวัตถุประสงค์ตามทฤษฎี เพื่อฝ่าวิกฤติทางการเมือง
แต่ทั้งรัฐบาลสลายขั้ว และรัฐบาลแห่งชาติ ต่างมีจุดประสงค์เหมือนกันเพื่อหาทางออกทางการเมืองที่กำลังวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เกิดความขัดแย้งอย่างร้าวลึกในสังคม หรือมีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นในประเทศ
ย้อนรอยคำว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 17 ปีก่อน และถูกตีพิมพ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ช่วงปี 2549 โดยใช้คำว่า ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ โดยสถานการณ์การเมืองไทยขณะนั้น กำลังคุกรุ่นจากม็อบพันธมิตรฯ ที่รวมตัวออกมาขับไล่รัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จนทำให้ ‘ทักษิณ’ ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549
@ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ที่มารวมกับพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา โยนข้อเสนอไปถึงสาธารณชนเพื่อขอให้มี ‘นายกฯคนกลาง’ จัดตั้ง ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ มาบริหารประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้งของคนในสังคม
ทว่าข้อเสนอนี้ตกไปอย่างรวดเร็ว หลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง เม.ย. 2549 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ และในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น
ผ่านมาราว 3 ปี ในปี 2551 เกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติขึ้นอีกครั้ง คือ ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ ผู้เสนอคือเจ้าเก่า ‘บิ๊กจิ๋ว’ ในช่วงเวลาที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง และม็อบพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมขับไล่อีกครั้ง
ถัดมาอีกราว 2 ปี ในปี 2553 เกิดข้อเสนอ ‘รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง’ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อครั้งยังหวานชื่นกับ ‘ค่ายสีแดง’ เพื่อเรียกร้องให้ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกฯขณะนั้นลาออก รับผิดชอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง แต่ข้อเสนอนี้ไม่ถูกตอบรับ
ผ่านมาอีกราว 4 ปี เมื่อปี 2557 ท่ามกลางการชุมนุมของคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีคนตระกูล ‘ชินวัตร’ คนที่ 3 อย่าง ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นนายกฯ
@ สุเทพ เทือกสุบรรณ
ข้อเสนอดังกล่าวถูกโยนผ่านสาธารณชนโดย ‘อภิสิทธิ์’ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยขอให้ ครม.ยิ่งลักษณ์ ลาออกทั้งคณะ เปิดทางจัดตั้ง ‘รัฐบาลคนกลาง’ ที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อบริหารแผ่นดิน ปฏิรูปประเทศก่อน 6 เดือน-1 ปี ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ถูกตอบรับจาก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น เป็นผู้นำ
ถัดมาแค่ปีเดียว เกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติอีกครั้ง ระหว่างที่ คสช.ยังเรืองอำนาจ และมีกระแสสูงเมื่อปี 2558 ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ เมื่อครั้งถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. เสนอให้มีการตั้งคำถามพ่วงประชามติ ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง ‘รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป’ แต่ข้อเสนอนี้ถูกพับอย่างรวดเร็ว เมื่อ ‘เทียนฉาย กีระนันทน์’ ประธาน สปช. ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.
ต่อมาปี 2560 ‘พิชัย รัตตกุล’ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติอีกครั้ง โดยให้มีรัฐบาล 3 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรค ปชป. และพรรคภูมิมใจไทย ร่วมกับทหารจัดตั้งรัฐบาล ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่มี ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นจำเลย แต่เจ้าตัวเพิ่งหลบหนีออกนอกประเทศไปไม่นาน แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก คสช. แม้แต่ ‘อภิสิทธิ์’ ในฐานะหัวหน้า ปชป.ก็ไม่สนใจ โดยไม่แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวในเชิงรูปธรรมคืออะไร
ถัดมาราว 2 ปี เมื่อปี 2562 คนจากค่ายสะตอ โยนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติอีกครั้งโดย ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต สส.รุ่นเก๋าแห่ง จ.นครศรีธรรมราช โดยข้อเสนอนี้เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 6 ปีจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แลพรรค ปชป.สูญพันธุ์ใน กทม. ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะมี สส.มากที่สุด แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้ส้มหล่นมายังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ชู ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯอีกสมัยได้สำเร็จ
สำหรับข้อเสนอของ ‘เทพไท’ คือต้องการให้มี ‘นายกฯคนกลาง’ ของรัฐบาลแห่งชาติ โดยให้คัดเลือกจำนวน 4 คน มี 2 คนเป็นองคมนตรี และอีก 2 คือนักการเมืองดังได้แก่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ 2 สมัย และนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) แน่นอนว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ถูกตอบรับแต่อย่างใด
ข้อเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติครั้งล่าสุดเกิดขึ้นกลางเมื่อปี 2566 ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 เพียง 1 เดือน โดย นายจเด็จ อินสว่าง สว. ที่ยืนยันว่า จะไม่โหวตให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกลอย่างเด็ดขาด
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
แต่มีข้อเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อความสมานฉันท์ และยึดหลัก 3 ด้านคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายใด จนเจ้าตัวเลิกพูดถึงและลดบทบาทลงไป
ทั้งหมดคือข้อเสนอการจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ในห้วงวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ที่ร้าวลึกตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และไม่ได้รับเสียงตอบรับจากฝ่ายใด กลับกันเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นถึงรอบ (2549, 2557) โดยทหารเพื่ออ้างว่าแก้ไขวิกฤติของชาติแทน
ดังนั้น ในการโหวตเลือกนายกฯรอบ 3 วันที่ 22 ส.ค.นี้ ต้องจับตาดูว่า ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ ตามนิยามของ ‘เพื่อไทย’ จะจัดตั้งได้โดยสะดวกโยธิน
หรือว่าจะมีการ ‘ยื้อเกม’ อีกก๊อก รอโหวตนายกฯเป็นครั้งที่ 4
ต้องรอลุ้นกัน!
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- เปิดเกม สลับขั้ว! นับหนึ่ง ‘เพื่อไทย’ จัดทัพตั้ง รบ. บีบ 8 พรรคร่วมแพแตก?
- รีวิว! ประวัติ-หลังฉากการเมือง ปธ.สภาฯ-2 รอง ก่อนคุมเกมโหวตว่าที่นายกฯ 'พิธา'
- เจาะเบื้องหลัง! ศึกชิง เก้าอี้ปธ.สภาฯ ‘คนแดนไกล’ ไฟเขียว ‘เพื่อไทย’ ชน 'ก้าวไกล'?
- จับตาศึกชิงนายกฯ รอบใหม่ กลหมาก ‘เพื่อไทย’ : ‘เศรษฐา’ ตัวหลอก ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตัวจริง?
- ผ่า 3 สูตร! เปิดแผนชิงนายกฯ รอบ3‘เพื่อไทย’ เร่งเกม (ทักษิณกลับบ้าน?) -‘ก้าวไกล’ ขอยื้อ
- เปิดแผนเพื่อไทย ตั้ง‘รัฐบาลสลายขั้ว’ เริ่มภารกิจดูด ‘งูเห่า’ 2+1 ลุง ถอย ‘หลังฉาก'