ธปท.เผยเฉพาะเดือนพ.ย. ‘เงินบาท’ แข็งค่า 2.9% แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจาก ‘รูเปียห์’ เตรียมประกาศมาตรการเพิ่มเติม 9 ธ.ค.นี้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยเดือนต.ค.ทยอยฟื้นตัว สวนทางเครื่องชี้วัด ‘การบริโภค-ลงทุนเอกชน’ หดตัว
.................
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหลังมีข่าวดีเรื่องวัคซีนโควิด-19 ทำให้เงินทุนที่เคยไหลจากไทยออกไปก่อนหน้านี้ไหลกลับเข้ามา โดยวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะมีการประกาศมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจมาตรการที่ธปท.ประกาศไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
"สิ่งที่ ธปท. จะดำเนินการไม่ได้เป็นการแถลงข่าวออกมาตรการใหม่ แต่จะเป็นการจัด Media briefing เพื่อทำความเข้าใจมาตรการเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงการ F/X ecosystem ที่ ธปท. ทำ ส่วนหนึ่งของมาตรการบางส่วนเป็นเรื่องที่ทำไปแล้ว โดยแพคเกจนี้จะดูทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะต้องยอมรับว่าความผันผวนที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากปัจจัยระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนของไทย" น.ส.ชญาวดีระบุ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากธปท.ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ถึงวันนี้ (30 พ.ย.) เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 2.9% หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) ที่แข็งค่า 3.8%
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 30 พ.ย.2563)
น.ส.ชญาวดี แถลงถึงแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนต.ค.2563 ว่า แม้ว่าเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไทยเดือนต.ค.ยังคงมีทิศทางของการทยอยฟื้นตัว แต่จะพบว่าเครื่องชี้การบริโภคเอกชนกลับหดตัว -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2563 เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดพิเศษหมดลงในระยะต่อไป และฐานปีที่แล้วสูง จากมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ ของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่เครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้น โดยหดตัว -4.9% จากเดือนก่อนที่หดตัว -2% ตามการลงทุนทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างที่หดตัว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ที่สิ้นสุดลง และคำสั่งซื้อกลับมาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของภาครัฐมีความล่าช้า แต่การเบิกจ่ายลงทุนยังขยายตัว และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม รายได้ของเกษตรกรมีทิศทางรที่ดี แม้ว่าแผ่วลงบ้างจากเดือนก่อน ส่วนตลาดแรงงานมีทิศทางดีขึ้น เห็นได้จากรายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น และจำนวนผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกสินค้าอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามการฟื้นตัวของยอดขายสินค้าคงทน โดยเฉพาะยานยนต์เชิงพาณิชย์
สำหรับประเด็นสำคัญที่ธปท.จะติดตามต่อไปมี 3 ประเด็น คือ 1.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน เพราะแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยอัตราว่างงานยังอยู่ที่ระดับ 2.1% เทียบกับเดือนก่อนที่มีอัตราว่างงาน 1.8% ซึ่งมีสาเหตุจากคนที่อยู่นอกกำลังแรงงานกลับมาทำงาน แต่ยังหางานทำไม่ได้ 2.สถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังและรายได้เกษตรกรในปี 2564 เนื่องจากตอนนี้น้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2559
และ3.ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งจะส่งผลระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปได้
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 น่าจะมีแรงส่งอยู่ แต่คงไม่เปรี้ยงปร้าง จากมาตรการภาครัฐที่จะมีไปถึงสิ้นปีนี้และบางมาตรการจะมีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า” น.ส.ชญาวดีกล่าว
สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.2563 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกหมวด เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษในเดือนก่อนหมดลง ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 5.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 5.0 โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน
อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างกลับมาหดตัวเล็กน้อยตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับกิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 12.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 9.9 โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัว
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังมีจำนวนน้อย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ สำหรับตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม
อ่านประกอบ :
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/