ก.ล.ต.กล่าวโทษ ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ-ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ-ยสบวร อำมฤต’ ต่อ ‘ดีเอสไอ’ ปมขายหุ้น STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน
......................................
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) รวม 3 ราย ได้แก่ (1) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (2) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ (3) นางสาวยสบวร อำมฤต ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีขายหุ้นของ STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ STARK) นายศรัทธา (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และเลขานุการบริษัทของ STARK) และนางสาวยสบวร ได้ร่วมกันใช้ข้อมูลภายในที่มีผลกระทบด้านลบต่อราคาหลักทรัพย์ของ STARK
โดยขายหุ้น STARK ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวยสบวร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนที่ STARK จะเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และพบว่า เงินค่าซื้อขายหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวยสบวร มีความเกี่ยวข้องกับนายชนินทร์และนายศรัทธา
สำหรับข้อมูลภายในที่บุคคลทั้ง 3 รายข้างต้นได้ร่วมกันกระทำผิด เป็นข้อมูลเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีถึงพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน อันนำไปสู่การที่ STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญด้านลบต่อราคาหรือมูลค่าหลักทรัพย์ของ STARK และเป็นข้อมูลภายในที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดการณ์ได้
การกระทำของนายชนินทร์ นายศรัทธา และนางสาวยสบวร เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 242 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม ซึ่งหลายเรื่องมีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยหากได้ผลการตรวจสอบที่ชัดเจนแล้วจะสื่อสารให้ทราบต่อไป
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวโทษ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) รวม 9 ราย และศาลอาญามีคำสั่งมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินดังกล่าวออกไปอีก 180 วัน นับแต่วันที่ 2 ม.ค.2567
ทั้งนี้ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวโทษ กรณี STARK ชุดแรก รวม 10 ราย ได้แก่ (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
(6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ระบุในคำสั่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ม.ค.2567
การกระทำความผิดที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษในกรณีนี้ มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน และยังคงมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากไม่มีการอายัดทรัพย์สินต่อไปแล้ว ผู้ถูกกล่าวโทษจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน ก.ล.ต. จึงยื่นคำขอต่อศาลอาญาให้พิจารณาสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวโทษรวม 9 ราย ประกอบด้วย รายที่ (1) – (6) และ (8) – (10) ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินออกไปอีก 180 วัน นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2567
สำหรับ PDITL ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมีมาตรการควบคุมดูแลการจัดการทรัพย์สินไว้เพื่อการดำเนินการค้าตามปกติโดยศาลล้มละลายกลาง ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้บริหาร และปรับปรุงระบบงานภายใน โดยมีบริษัทซึ่งเป็นที่ปรึกษาจากภายนอกทำหน้าที่เป็นผู้สอบทานกระแสเงินสด (Cash Monitoring) ในการสอบทานการทำรายการทางการเงินของบริษัท จึงไม่มีเหตุในการขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของ PDITL
อ่านประกอบ :
‘อธิบดีอัยการคดีพิเศษ’เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานฯ’ พิจารณาคดีทุจริต STARK แล้ว
‘สำนักงานคดีพิเศษ’ตั้ง‘ทีมอัยการ’พิจารณาคดี STARK-นัดผู้ต้องหาฟังคำสั่ง 12 ม.ค.ปีหน้า
‘ดีเอสไอ’ส่ง‘อัยการ’ฟ้อง 11 ผู้ต้องหาคดี STARK แล้ว-ประสาน‘ปปง.’ยึดทรัพย์‘หมื่นล้าน’
DSI พบหลักฐานเส้นเงิน คดีทุจริตหุ้น STARK โอนหมื่นล้านเข้ากลุ่มบริษัทตัวเอง
DSI คาดสรุปสำนวนคดี STARK ส่งอัยการสิ้นเดือนนี้-เรียก28‘ว่าที่ผู้ต้องหา’ให้การปมหุ้นMORE
ก.ล.ต.ขยายผลตรวจสอบเพิ่ม ปมแพร่ข่าวอันเป็นเท็จ-ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น STARK
ปปง.ยึด-อายัดทรัพย์มูลค่ากว่า 1.4 พันล. 'เครือข่ายทุน มิน หลัด-หมูเถื่อน-หุ้น STARK'
ก.ล.ต.สั่ง STARK ตรวจสอบเพิ่ม หลัง‘ผู้สอบบัญชี’ระบุยังไม่ได้ข้อมูลที่‘ถูกต้อง-ครบถ้วน’
ก.ล.ต.ไฟเขียว STARK ขยายเวลานำส่งรายงานผลตรวจสอบ ‘special audit’ เป็น 29 ก.ย.นี้
สอบพยานแล้ว 70 ปาก! DSI แจงความคืบหน้าคดีหุ้น STARK-อายัดบัญชี‘ชนินทร์’ได้อีก 220 ล้าน
‘สภาผู้บริโภค’เสนอ‘ก.ล.ต.’ตั้งทีมเฉพาะกิจแก้ปัญหา-เยียวยาผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK
ผู้ถือหน่วยลงทุน LTF-RMF ร้อง‘ก.ล.ต.’ สอบสวน‘บลจ.’ลงทุนหุ้น STARK ทำเสียหาย 3.5 พันล้าน