‘อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ’ ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานฯพิจารณาสำนวนคดีทุจริตใน STARK แล้ว ดึง ‘พนักงานอัยการ’ ที่เชี่ยวชาญคดีหุ้น-ฟอกเงิน ร่วมคณะทำงานฯ พร้อมสั่งรายงานความคืบหน้าคดีทุกระยะ
............................................
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าคดีทุจริตใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี STARK รวม 6 คน โดยมีอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 หรือหัวหน้ากองอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ส่วนคณะทำงานฯอีก 5 คน เป็นพนักงานอัยการในสังกัดสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 และ 4
“ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เป็นคณะทำงานฯในคดีนี้ ได้พิจารณาจากพนักงานอัยการที่มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นและการฟอกเงิน ซึ่งจริงๆแล้วสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เราจะมีพนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็มีความจำเป็นต้องพิจารณาว่า พนักงานอัยการแต่ละคนก่อนหน้านี้ได้รับภาระงานไว้แล้วบ้าง และในคดีนี้เราก็จะดูความถนัดของแต่ละคนในบางเรื่อง และบางข้อหา” นายวิรุฬห์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำตัวผู้ต้องหาคดีทุจริตใน STARK พร้อมสำนวนการสอบสวน รวมถึงเอกสารพยานหลักฐาน ในคดีที่มีการกล่าวหา นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (อยู่ระหว่างหลบหนี) กับพวกรวม 11 คนในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ต่อพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อพิจารณามีคำสั่งทางคดี
นายวิรุฬห์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้ให้นโยบายกับพนักงานอัยการว่า ในการทำสำนวนคดีนั้น ต้องมีความรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งในคดีนี้ ตนได้เร่งรัดติดตามให้คณะทำงานฯต้องรายงานผลพิจารณาการตรวจสำนวนคดีอย่างใกล้ชิดทุกระยะ
นายวิรุฬห์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนวันที่ 12 ม.ค.2567 เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งครั้งแรกนั้น ต้องดูว่าในการพิจารณาตรวจสำนวนของคณะทำงานฯได้พิจารณาว่า พยานหลักฐานที่ดีเอสไอสอบสวนมานั้น สิ้นกระแสความแล้วหรือยัง หากยังไม่สิ้นกระแสความ พนักงานอัยการก็จำเป็นต้องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ประกอบพยานหลักฐานจนกว่าพยานหลักฐานจะสามารถสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องได้
“ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องมีการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ทางเราก็จะเร่งรัดการสอบสวนในทุกระยะ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนฯ ยังไม่เเล้วเสร็จ เพราะคดีนี้มีพยานหลักฐานในสำนวนทั้งพยานหลักฐานทางเอกสารและพยานบุคคลและผู้เสียหายมีจำนวนมาก” นายวิรุฬห์ กล่าว
สำหรับคดีทุจริตใน STARK มีมูลค่าของความเสียหายจำนวนมากสูงมากถึง 14,000 ล้านบาทเศษ มีผู้เสียหายประมาณ 4,000 คน ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงิน 12 แห่ง ขณะที่สำนวนที่ดีเอสไอได้ส่งมาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 นั้น พบว่ามีพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก โดยมีเอกสารมากถึง 22 ลัง และมีจำนวนแฟ้มทั้งหมด 130 แฟ้มเศษ ซึ่งถือเป็นคดีสำคัญ