‘ดีเอสไอ’ ส่งสำนวนให้ ‘พนักงานอัยการ’ พิจารณาสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาคดี STARK ล็อตแรก 11 รายแล้ว ก่อนขยายผลสอบสวนคดีฟอกเงิน ‘ล็อตสอง’ พร้อมประสาน ‘ปปง.’ ติดตามยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอีก 1 หมื่นล้าน
.....................................
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในคดีพิเศษที่ 57/2566 กรณีการทุจริตใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ว่า ขณะนี้การสอบสวนคดีนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรส่งพนักงานอัยการทำความเห็น ‘ควรสั่งฟ้อง’ ผู้ต้องหาล็อตแรก จำนวน 11 ราย
ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 สำหรับรายที่พบหลักฐานชัดเจนว่า มีการโอนรับโอนเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนฯ ได้ส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนการสอบสวน รวมถึงเอกสารพยานหลักฐานทั้งสิ้น 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น ให้กับพนักงานอัยการแล้ว
“วันนี้ (8 ธ.ค.) ได้ส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนการสอบสวน ให้พนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว และมีการแยกดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องอีกส่วนหนึ่งเป็นสำนวนที่ 2 ต่อไป” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
พ.ต.ต.ยุทธนา ย้ำว่า “เรามีความเห็นควรสั่งฟ้องล็อตแรกก่อน 11 ราย ที่เหลือจะมีการแยกไว้สอบสวนดำเนินคดีอีก ทั้งในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งหมายความว่าเงินที่กระจายออกไป ถ้าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน คือ ได้จากการระดมทุน แล้วมีการจำหน่ายจ่ายโอนไปยังบุคคลใด ถ้ามีเจตนา รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด ปปง.ก็จะยึดทรัพย์ตัวนั้น เพื่อมาดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย
ส่วนทางอาญานั้น ดีเอสไอจะเอาผิดฐานฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นผู้โอนและผู้รับโอน ซึ่งมีเจตนาในการเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ปกปิด อำพราง โดยมีโทษอาญาจำคุก 10 ปี ทั้งนี้ เราจะดำเนินคดีทั้งหมด สำหรับผู้โอนและรับโอน โดยจะเป็นการสอบสวนในคดีต่อไป และสาเหตุที่ต้องแยกคดี เพราะถ้ารวมเป็นเรื่องเดียวกันจะใช้เวลานาน และเราต้องการใช้ความเห็นสั่งฟ้องในชั้นสอบสวนหรือในชั้นอัยการ ไปใช้ดำเนินการติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย ได้แก่ 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 3.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 4.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 5.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น 6.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 8.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 10.นายยสบวร อำมฤต และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (อยู่ระหว่างหลบหนี)
ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอรับกรณีการทุจริตใน STARK เป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2566 โดยคดีนี้มีผู้เสียหายทั้งสิ้น 4,704 ราย และมีมูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท
พ.ต.ต.ยุทธนา ยังระบุว่า นอกจากการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบว่ามีการนำเงิน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งดีเอสไอได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 49 วรรคท้าย ต่อไป
“เราได้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินทุกเส้น เราพบว่า หลังจาก STRAK มีการระดมทุนทั้งหุ้นกู้ และหุ้นเพิ่มทุน ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทแล้ว ได้มีการถ่ายโอนเงินไปยังบริษัทลูกหลายทอด จากนั้นก็มีการโอนเงินวนกลับมาเพื่อชำระหนี้ที่สร้างไว้ คือ เป็นหนี้ปลอมหรือหนี้เท็จที่สร้างไว้ โดยเมื่อมีการชำระหนี้แล้ว เงินดังกล่าวก็จะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่วนเข้ามาหมุนเวียนอยู่ในบริษัทฯ
ตรงนี้เป็นการชี้ช่องหรือชี้เบาะแส ที่เรานำเสนอให้ ปปง. ไปดำเนินการตรวจสอบว่าเงินจำนวนนี้ ได้ถ่ายโอนไปชำระหนี้ที่ไหน และอย่างไร เพื่อที่เราจะตามทรัพย์สินตรงนี้ แล้วเอามาดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองสิทธิให้ผู้เสียหายได้ ซึ่งตรงนี้มีเงินประมาณ 1 หมื่นล้าน ที่วนกลับเข้าไป โดยเรื่องนี้เราได้เรียนไปยังผู้แทน ปปง.แล้ว ซึ่ง ปปง.จะดำเนินการตรวจสอบเงินจำนวน 1 หมื่นล้าน ที่วนกลับเข้ามาว่า ได้จ่ายโอนไปทางไหนบ้าง” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวถึงคืบหน้าในการดำเนินการในคดีพิเศษที่ 66/2566 กรณีหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ว่า คณะพนักงานสอบสวนฯ ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา จำนวน 29 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว 10 ราย จากผู้ต้องหาทั้งหมด 32 ราย โดยจะทยอยเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาภายในเดือน ก.พ.2567 และเมื่อการสอบสวนฯแล้วเสร็จ จะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไป
นอกจากนี้ ดีเอสไออยู่ระหว่างเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อนำมาตรการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาดำเนินการต่อไป
ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอรับกรณีหุ้น MORE เป็นคดีพิเศษที่ 66/2566 ซึ่งเป็นคดีที่มีกลุ่มบุคคล 32 ราย ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ในระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-10 พ.ย.2565 (ช่วง pre-open) โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกรณีการฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) มูลค่าความเสียหาย 4,000 ล้านบาท
ด้าน นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ระบุว่า ในการยึดและอายัดทรัพย์กรณี STARK นั้น ปปง.ได้ยึดอายัดทรัพย์ล็อตแรก 350 ล้านบาท แต่มีทรัพย์อีกชุดหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะอายัดไว้ชั่วคราว มูลค่าหลักพันล้าน โดย ปปง.อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีทรัพย์ก้อนใดที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ปปง.ได้ ซึ่งจะมีความชัดเจนวันที่ 9 ม.ค.2567
ขณะเดียวกัน ปปง.ได้ดำเนินการติดตามทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศ เนื่องจากมีเบาะแสว่ามีการผ่องถ่ายทรัพย์ไปต่างประเทศ โดย ปปง.มีกระบวนการและช่องทางในการติดตาม โดยมี FIU (Financial Intelligence Unit) ทำหน้าที่ประสานงานไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีเส้นเงินวิ่งเข้าไป เพื่อติดตามทรัพย์ดังกล่าวกลับมาอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวไปที่ไหนและเท่าไหร่ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินไป
“มีผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้หลายคนที่มีส่วนในการผ่องถ่ายออกไป ก็เป็นตัวใหญ่ๆที่เราทราบกันดี แต่ขออนุญาตยังไม่ระบุแล้วกัน รอให้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งออกมาก่อน” นายวิทยา กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินกรณีหุ้น MORE นั้น คณะกรรมการธุรกรรมได้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดไว้ทั้งสิ้น 5,395 ล้านบาท และเนื่องจากความผิดในคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน สำนักงาน ปปง.ได้ประกาศให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำธุรกรรมในหุ้น MORE สามารถมาร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายได้ ซึ่งมีการยื่นคำขอเข้ามาแล้ว และตอนนี้ได้ยื่นเรื่องไปที่ศาลแพ่งทั้งหมดแล้ว
“ศาลแพ่งจะมีการพิจารณาว่า 5,000 กว่าล้าน ที่ ปปง.มีการยึดอายัดมา เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในเรื่องนี้จริงหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นเข้ามาเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้จะแยกจากคดีอาญาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังดำเนินการอยู่ โดยกรณีนั้นเป็นการดำเนินการจับคนติดคุก แต่อันนี้เป็นการดำเนินการตรวจทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด เราก็จะไปคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย”นายวิทยา ระบุ
อ่านประกอบ :
DSI พบหลักฐานเส้นเงิน คดีทุจริตหุ้น STARK โอนหมื่นล้านเข้ากลุ่มบริษัทตัวเอง
DSI คาดสรุปสำนวนคดี STARK ส่งอัยการสิ้นเดือนนี้-เรียก28‘ว่าที่ผู้ต้องหา’ให้การปมหุ้นMORE
ก.ล.ต.ขยายผลตรวจสอบเพิ่ม ปมแพร่ข่าวอันเป็นเท็จ-ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น STARK
ปปง.ยึด-อายัดทรัพย์มูลค่ากว่า 1.4 พันล. 'เครือข่ายทุน มิน หลัด-หมูเถื่อน-หุ้น STARK'
ก.ล.ต.สั่ง STARK ตรวจสอบเพิ่ม หลัง‘ผู้สอบบัญชี’ระบุยังไม่ได้ข้อมูลที่‘ถูกต้อง-ครบถ้วน’
ก.ล.ต.ไฟเขียว STARK ขยายเวลานำส่งรายงานผลตรวจสอบ ‘special audit’ เป็น 29 ก.ย.นี้
สอบพยานแล้ว 70 ปาก! DSI แจงความคืบหน้าคดีหุ้น STARK-อายัดบัญชี‘ชนินทร์’ได้อีก 220 ล้าน
‘สภาผู้บริโภค’เสนอ‘ก.ล.ต.’ตั้งทีมเฉพาะกิจแก้ปัญหา-เยียวยาผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK
ผู้ถือหน่วยลงทุน LTF-RMF ร้อง‘ก.ล.ต.’ สอบสวน‘บลจ.’ลงทุนหุ้น STARK ทำเสียหาย 3.5 พันล้าน