‘รมว.คลัง’ ย้ำเศรษฐกิจปี 65 เติบโต 3-4% จากปัจจัย ‘การบริโภคในประเทศ-การท่องเที่ยว’ ฟื้นตัว ขณะที่ ‘ ส่งออก’ ยังขยายตัวได้ดี ยันภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง จับตาความเสี่ยง ‘หนี้ครัวเรือน-สงครามในยูเครน’
...............................
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMGM) ครั้งที่ 8 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (AFMM) ครั้งที่ 26 รวมถึงการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เป็นวันที่ 2 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยนายอาคม ได้กล่าวระหว่างการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ตอนหนึ่งว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 3-4% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศ สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่อาจยืดเยื้อ ปัญหาความเปราะบางด้านตลาดแรงงานและหนี้ครัวเรือน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายอาคม ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการระดมทรัพยากรในประเทศ เช่น การปฏิรูปภาษี การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านการคลังบางประการ เป็นต้น
พร้อมทั้งเห็นว่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการให้กู้ยืมแก่ประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขการปล่อยกู้ต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในภาวะที่มีความผันผวนสูงและไม่ปกติ และทำให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ สามารถมีพื้นที่การคลังเพียงพอในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่ดี และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันกับทั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและเศรษฐกิจโลก” นายอาคม ระบุ
ทั้งนี้ ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน
ในการนี้ ผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้เสนอแนวนโยบายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไว้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง 2.พัฒนาแนวทางในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ อาทิ การปฏิรูปภาษี เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณให้รัฐบาลใช้ในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 3.เพิ่มการลงทุนเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทั่วถึง และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ในการประชุม AFMM ครั้งที่ 26 ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ข้อริเริ่มด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อของอาเซียน เป็นต้น และติดตามความคืบหน้าและร่วมพิจารณาให้การรับรองประเด็นสำคัญภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเงินอาเซียน (ASEAN Financial Cooperation) ทั้งสิ้น 7 ประเด็น ได้แก่
1.การจัดหาเงินทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน 2.ความร่วมมือด้านการประกันภัย 3.โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน 4.ความร่วมมือด้านศุลกากรในอาเซียน 5.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย 6.คณะทำงานด้านภาษีอากรของอาเซียน และ 7.ความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF)
นายอาคม ยังกล่าวระหว่างการประชุม AFMM ถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น พร้อมทั้งขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้สามารถมีการลงนามในร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ฉบับที่ 9 ได้สำเร็จภายในปี 2565
สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2566 จะมีสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมี.ค.-ช่วงต้นเดือนเม.ย.2566
อ่านประกอบ :
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน