“...หากตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาต่างประเทศด้วย ก็จะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุด ในความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มาตรา 98 (10) ระบุ ซึ่งบางฉบับบัญญัติฐานความผิด แต่บางฉบับไม่บัญญัติฐานความผิด เพียงระบุชื่อกฎหมายเท่านั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จะทำให้ขอบเขตการยอมรับอำนาจศาลของรัฐอื่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย…”
..............................................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 13/2563 โดยเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) กรณีถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกคดีเกี่ยวกับยาเสพติด โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า คำพิพากษาในศาลต่างประเทศไม่อาจนำมาบังคับใช้กับศาลไทยได้ เนื่องจากอาจเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของศาลอย่างมีนัยสำคัญนั้น (อ่านประกอบ : ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต., ‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้)
ในช่วงเวลานับตั้งแต่ 5 พ.ค. 2564 เป็นต้นมา เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ส่งผลให้ไม่สามารถอ่านคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เว็บไซต์ดังกล่าวสามารถเข้าใช้งานได้แล้ว และมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
คำกล่าวหาของฝ่ายค้าน สรุปได้ว่า ในช่วงปี 2538 สมัยผู้ถูกร้อง (ร.อ.ธรรมนัส) ใช้ชื่อว่า มนัส โบพรหม ถูกศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย พิพากษาจำคุก 6 ปี โดยกำหนดโทษเป็นระยะเวลาขั้นต่ำ 4 ปี และห้ามปล่อยตัวอีก 2 ปี ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติด แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตาม ย่อมเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญด้วย โดยส่งสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ รับรองสำเนาโดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และคำแปลรับรองว่าแปลถูกต้องโดย ผศ.ดร.คารินา โชติรวี
ด้านผู้ถูกร้อง ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา สรุปได้ว่า สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เลขที่ 60449/94 และ 60434/94 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2538 และคำแปลคำพิพากษาดังกล่าว เป็นสำเนาเอกสารที่ไม่ได้รับรองความถูกต้องแท้จริงมาจากศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ไม่สามารถยืนยัน หรือรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ รวมถึงคำแปลมิได้มีการรับรองการแปลที่ถูกต้องของเอกสารตามกฎหมาย เอกสารดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงสำเนาคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์เท่านั้น ผู้ถูกร้องไม่รับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารและคำแปลดังกล่าว
ผู้ถูกร้อง ยืนยันว่าไม่เคยถูกจับกุม คุมขัง ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิดเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติดให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือเครือออสเตรเลีย ยืนยันว่าคดีที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ผู้ถูกร้องถูกจับกุม ฟ้องร้อง และดำเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิด รู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้า ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาทเวลส์ย่อหน้าแรก คือรู้เห็นว่ามีการกระทำความผิดร้ายแรงแล้วไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เป็นความผิดตามกฎหมายเครือออสเตรเลีย แต่ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายไทย
ขณะที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า สำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือออสเตรเลีย และสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์เครือออสเตรเลีย เป็นข้อมูลทางการของออสเตรเลีย และไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงการต่างประเทศที่จะจัดส่งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญได้
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยในประเด็นสาระสำคัญว่า คำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือออสเตรเลีย เป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยคดี แต่ไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดเสนอสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย แม้ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีพิจารณาคดีระบบไต่สวน แต่คู่กรณียังคงมีหน้าที่ต้องเสนอพยานหลักฐานประกอบคำร้องหรือคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเบื้องต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อคู่กรณีมิได้ดำเนินการ ศาลรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการไต่สวน โดยมีหนังสือเรียกผู้เกี่ยวข้องจัดส่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยทางราชการ รวมทั้งให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการช่องทางทางการทูตเพื่อให้ได้มาซึ่งสำเนาคำพิพากษานั้นด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพยานเอกสารทั้งหลายในสำนวนแล้ว ปรากฏว่า เอกสารแนบท้ายคำร้องและเอกสารที่ผู้ร้องจัดส่งมาตามหนังสือเรียกซึ่งอ้างว่าเป็นสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวง และศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย แท้จริงเป็นเพียงสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ภายหลังพ้นจากระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของผู้ถูกร้อง รวมถึงสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์ โดยผู้รับรองสำเนาถูกต้องคือนิติกรชำนาญการพิเศษของ ส.ส. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ หรือเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถหาสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวมาจัดส่งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน
เมื่อไม่ได้สำเนาคำพิพากษา ที่ศาลนั้นรับรองสำเนาถูกต้อง จึงไม่มีพยานหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญ พยานเอกสารเท่าที่มีในสำนวนรับฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า ก่อนผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้ถูกร้องรับว่าเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือออสเตรเลีย และศาลได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้จริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคำพิพากษาในความผิดฐานใดจะตรงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) บัญญัติหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยแล้ว จึงมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ต้องวินิจฉัยต่อไป
ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
มีข้อที่ต้องพิจารณาคำว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือ มีความเด็ดขาดสมบูรณ์ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออำนาจของรัฐอื่น แยกตามลักษณะหน้าที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.อำนาจนิติบัญญัติ 2.อำนาจบริหาร 3.อำนาจตุลาการ
การพิพากษาของศาล เป็นอำนาจตุลาการ เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้ตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลงยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความคำพิพากษาศาลต่างประเทศที่มีสถานะทางกฎหมายกับศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
ตามหลักอธิปไตยของรัฐ และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของรัฐใด มีผลในดินแดนของรัฐนั้น บางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่ง อาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรอง และบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ส่วนใหญ่เป็นกรณีทางคดีแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก
สำหรับคดีอาญา อาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้างในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่า รัฐภาคีต้องผูกพัน และเคารพผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย ดังนั้นทั้งหลักการ และหลักปฏิบัติของรัฐ เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศ ยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา
เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐ หรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
การตรากฎหมายอาญาแต่ละประเทศ กำหนดการกระทำความผิด องค์ประกอบของความผิด ฐานความผิด เงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายบางประเทศอาจกำหนดให้ผิด แต่กฎหมายไทยอาจไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้ ***อีกทั้งหากตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาต่างประเทศด้วย ก็จะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุด ในความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มาตรา 98 (10) ระบุ ซึ่งบางฉบับบัญญัติฐานความผิด แต่บางฉบับไม่บัญญัติฐานความผิด เพียงระบุชื่อกฎหมายเท่านั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จะทำให้ขอบเขตการยอมรับอำนาจศาลของรัฐอื่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย ทั้งทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทนดังกล่าวข้างต้น อันทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ
(***หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา : ข้อความของเอกสารข่าว (Press Release) คำวินิจฉัยกลางฉบับย่อ ที่แจกแก่สื่อมวลชนในวันอ่านคำวินิจฉัยเมื่อ 5 พ.ค. 2564 ระบุแค่ว่า “...อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว ขัดกับหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศ ไม่ต้องบังคับ หรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยของศาลไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ…”)
แม้ในข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)
ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
เมื่อศาลได้วินิจฉัยประเด็นที่หนึ่งไปแล้วว่า ผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) จึงไม่มีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 160 (6) ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ***ส่วนปัญหาข้อกล่าวอ้างตามคำร้องเป็นเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย
(***หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา : ข้อความของเอกสารข่าว (Press Release) คำวินิจฉัยกลางฉบับย่อ ที่แจกแก่สื่อมวลชนในวันอ่านคำวินิจฉัยเมื่อ 5 พ.ค. 2564 มิได้ระบุข้อความในส่วนนี้)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
อ่านประกอบ :
คำวินิจฉัยศาล รธน. คดี’ธรรมนัส’(ที่เพิ่งประกาศ) ไม่ตรงกับที่อ่านวันตัดสิน 5 พ.ค. 64
โพรไฟล์ 17 กก.กฤษฎีกาคณะพิเศษ เทียบ 9 ตุลาการศาล รธน.ปมคำพิพากษาศาล ตปท.
‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage