เปิดตัว 17 กรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณี ‘พลตรี’ เคยถูกศาลต่างประเทศสั่งจำคุก เทียบเคียงกรณี 9 ตุลาการศาล รธน.วินิจฉัยคดี ‘ธรรมนัส’
...........................................
ยังเป็นเงื่อนปมที่สังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างล้นหลาม
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ได้ไปต่อ ไม่ต้องหลุดจากเก้าอี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะต้องคำพิพากษาจำคุกในศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย ทว่าไม่อาจเอาคำพิพากษาของต่างประเทศมาบังคับใช้ในไทยได้ เนื่องจากจะเป็นการกระทบกระเทือนอำนาจอธิปไตยของศาลไทยอย่างมีนัยสำคัญ (อ่านประกอบ : ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.)
อย่างไรก็ดีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถูกนำไปเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาล อย่างน้อย 2 กรณีคือ คำวินิจฉัยเมื่อปี 2525 ที่ระบุว่า ในการสมัครรับเลือกตั้งถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่าบุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ (อ่านประกอบ : ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?)
ยังมีกรณีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2563 ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ คือความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยเป็นการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) ในปัญหาข้อหารือของกระทรวงกลาโหม กรณีนายทหารยศ ‘พลตรี’ ถูกศาลต่างประเทศพิพากษาจำคุก ข้อหามีเฮโรอีนไว้จำหน่าย และได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 365 เดือนนั้น คำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่ถือว่าเป็นกรณีคดีถึงที่สุด สามารถนำมาใช้ดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 ได้หรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ชุดดังกล่าว นอกเหนือจะวินิจฉัยประเด็นอธิปไตยในเรื่องการรองรับผลคำพิพากษาของต่างประเทศแล้ว ยังพูดถึงกรณีไทยเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันไทยและสหรัฐอเมริกามีสนธิสัญญาระหว่างกัน 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญในการให้ความร่วมมือ หรือความช่วยเหลือกัน หรือการโอนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังนั้นความผิดทางอาญาใดที่ไทยจัดทำความตกลงระหว่างประเทศกับประเทศใดแล้ว หากเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้น และกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิดฐานเดียวกัน สามารถรับผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นมาใช้ในไทยได้ (อ่านประกอบ : ‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด)
หลายคนอาจยังไม่รู้จักว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) ที่ประชุมร่วมเป็น ‘คณะพิเศษ’ วินิจฉัยกรณี ‘พลตรี’ ข้างต้น มีใครบ้าง และทำหน้าที่อะไรในการกลั่นกรองข้อกฎหมาย?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้ทราบ ดังนี้
(นายคณิต ณ นคร, ขอบคุณภาพจาก : https://static.posttoday.com/)
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) มีหน้าที่จัดทำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายล้างมลทิน กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
1.นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการ โดยนายคณิต ถือเป็นอีกหนึ่งกูรูด้านกฎหมายของไทย เป็นอาจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2539 และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ชุดจดทะเบียนตั้งพรรค)
2.นายเกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ กรรมการ เป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ผู้บรรยายวิชากฎหมายอาญา สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
3.นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม กรรมการ เป็นอดีตอัยการสูงสุด (อสส.)
4.นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ กรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19
5.นายไพโรจน์ วายุภาพ กรรมการ อดีตประธานศาลฎีกา ศาสตราจารย์พิเศษในสาขาวิชากฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
6.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ กรรมการ อดีตประธานศาลฎีกา และนายกเนติบัณฑิตยสภา
7.นายประทีป เฉลิมภัทรกุล กรรมการ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8
8.นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
9.นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล กรรมการ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบุคคลและกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์
(นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ขอบคุณภาพจาก : https://hilight.kapook.com/)
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) มีหน้าที่จัดทำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายองค์การมหาชน กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายระเบียบบริหารราชการต่าง ๆ
1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 อดีตสมาชิก สสร. ปี 2539 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล กรรมการ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลแพ่งกรุงเทพใต้
3.นายกำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีต ผอ.ศูนย์กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง
4.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ กรรมการ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.พลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด กรรมการ เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตที่ปรึกษา สบ.10
6.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร กรรมการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
7.พลเรือเอกปรีชาญ จามเจริญ กรรมการ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ
8.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ กรรมการ อดีตประธานศาลฎีกา
(ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 9 ราย, ขอบคุณภาพจาก : The Reporters)
ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ราย มีดังนี้
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และพรรคอนาคตใหม่ เคยเป็นอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด และอดีตอัยการจังหวัดสกลนคร และอัยการจังหวัดอุดรธานี
2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รองอธิบการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป ม.ธรรมศาสตร์
3.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.ธรรมศาสตร์ อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
4.นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เคยทำงานในกระทรวงมหาดไทยก่อนมาเป็นหัวหน้ากลุ่มงานคดีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตามลำดับ
5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรม เช่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นต้น
6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตรองประธานศาลฎีกา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรม เช่น ประธานแผกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 เป็นต้น
7.นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นประธานแผนคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล
8.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนหน้านี้เป็นลูกหม้อภายในกระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ก่อนเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
9.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ-คณะที่ 11, 13) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ราย ที่มีการเผยแพร่ความเห็น-คำวินิจฉัย เกี่ยวกับกรณีบุคคลต้องโทษคดียาเสพติดในศาลต่างประเทศ ที่มองกันคนละมุม?
จนนำไปสู่ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนอยู่ตอนนี้!
อ่านประกอบ :
เรื่องเกิดก่อนเป็น รมต.ไม่ผิดจริยธรรม! ป.ป.ช.โยน กกต.สอบปม‘ธรรมนัส’ติดคุก ตปท.
ย้อนรอยข้อพิพาท-คดียาเสพติดนักการเมืองจาก'ป.เป็ด-พ่อเลี้ยงณรงค์'ถึงกรณี‘ธรรมนัส’
‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage