“...รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ไม่ได้ระบุให้ขยายความรวมไปถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ จึงต้องตีความว่า กำหนดให้คำพิพากษาอันถึงที่สุดหมายนถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทยเท่านั้น เพื่อรักษาและยืนยันอำนาจอธิปไตยของไทยไว้ ในทางตรงกันข้าม หากตีความว่ามาตรา 98 (10) หมายรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการบัญญัติให้ชัดแจ้ง ไม่ต้องมีเงื่อนไขกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศดังกล่าว โดยกระบวนการของศาลไทยเลย และโดยที่ศาลเครือออสเตรเลีย หรือศาลในต่างประเทศอื่นใด ยอมรับสถานะคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทย และบังคับให้โดยอัตโนมัติ ย่อมหมายความว่า อำนาจอธิปไตยของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ…”
......................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 13/2563 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ กรณีถูกกล่าวหาว่าต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ (อ่านประกอบ : ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.)
คราวนี้มาดูความเห็นในคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีนี้กันบ้าง?
มีข้อต้องพิจารณาก่อนว่า คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หมายความรวมถึงเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศด้วยหรือไม่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 เป็นบทบัญญัติกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดย (10) เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริตหรือผู้เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับฐานความผิด มีการกำหนดให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อ ส.ส. มีหลักการสำคัญว่า จะต้องยึดถือการที่ศาลได้วินิจฉัยว่าได้กระทำความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงว่ามีเหตุบรรเทาโทษอย่างไร หรือจะถูกลงโทษหรือไม่ ดังนั้นผู้เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามมาตา 98 (10) จึงถือว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ต้องตีความว่าเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุดโดยศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความว่าเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุดโดยศาลต่างประเทศด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อใช้อำนาจนิติบัญญัติ สิทธิในการดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจเข้าบริหารประเทศเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 25 ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ตามก็ด้วยการตรากฎหมายตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามหลักนิติธรรม ต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินสมควรแก่เหตุ และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25
เมื่อสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง การตีความรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่จำกัดสิทธิดังกล่าว ต้องกระทำโดยเคร่งครัดภายใต้ลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายของประเทศที่พลเมืองนั้นสังกัดอยู่เท่านั้น ดังนั้นการตีความว่าเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเพราะต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในฐานความผิดใด ๆ ในกรณีนี้จึงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาศาลไทย
การตีความว่าสิทธิของปวงชนชาวไทยอาจถูกจำกัดได้ด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศ ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด ฐานความผิด วิธีพิจารณษคดี หลักประกันสิทธิในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งระดับของนิติรัฐที่แตกต่างจากไทย และมีความหลากหลายอย่างมากนั้น ย่อมทำให้สิทธิที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญไทย ไม่อาจได้รับความคุ้มครองอย่างมั่นคงได้
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องนี้คือสิทธิในชีวิตและร่างกาย ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่กำหนดว่า การจับกุมและการคุมขังบุคคลจะกระทำได้เมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ คำสั่งหรือหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ย่อมหมายถึงคำสั่งหรือหมายของศาลไทยเท่านั้น ไม่ตีความขยายไปถึงหมายจับหรือหมายขังของศาลต่างประเทศ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับในไทย ดังนี้หากศาลต่างประเทศออกหมายจับ เจ้าพนักงานตำรวจไทย ย่อมไม่อาจอ้างเอาหมายจับที่ออกโดยศาลต่างประเทศนั้นมาเป็นอำนาจในการรุกล้ำสิทธิในชีวิตและร่างกายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีดังกล่าวหากรัฐต่างประเทศต้องการให้มีการจับกุมบุคคลในไทย ต้องขอความร่วมมือตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535
หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มีผลบังคับเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในไทย เพื่อป้องกันความลักลั่นไม่เป็นธรรม (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่ 562/2554) โดยเชื่อถือในมาตรฐานทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ รัฐธรรมนูญจะต้องระบุให้ชัดแจ้ง
ประการที่สอง หลักการปกครองสำคัญของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์คือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่ได้มีการทำข้อตกลงหรือยินยอม การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ หรือการตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทย ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ไม่ได้ระบุให้ขยายความรวมไปถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ จึงต้องตีความว่า กำหนดให้คำพิพากษาอันถึงที่สุดหมายนถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทยเท่านั้น เพื่อรักษาและยืนยันอำนาจอธิปไตยของไทยไว้ ในทางตรงกันข้าม หากตีความว่ามาตรา 98 (10) หมายรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการบัญญัติให้ชัดแจ้ง ไม่ต้องมีเงื่อนไขกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศดังกล่าว โดยกระบวนการของศาลไทยเลย และโดยที่ศาลเครือออสเตรเลีย หรือศาลในต่างประเทศอื่นใด ยอมรับสถานะคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทย และบังคับให้โดยอัตโนมัติ ย่อมหมายความว่า อำนาจอธิปไตยของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นการตีความว่า บุคคลที่ถูกศาลต่างประเทศพิพากษาจะถูกตัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง โดยไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง นอกจากจะเป็นการขัดแย้งกับหลักสิทธิพลเมืองของคนไทยแล้ว ยังเป็นการกระทบกระเทือนอำนาจอธิปไตยทางการศาลของไทยอีกด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
อ่านประกอบ :
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage