“...ดังนั้นทั้งหลักการ และหลักปฏิบัติของรัฐ เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศ ยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐ หรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ…”
...........................................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 เรื่องพิจารณาที่ 13/2563 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ กรณีถูกกล่าวหาว่าต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ
----
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งเรียกสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย รวมถึงเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สามารถส่งสำเนาเอกสารคำพิพากษาดังกล่าว และเอกสารหลักฐานอื่นที่ทางราชการรับรองสำเนาถูกต้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง เป็น ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยก่อนสมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกร้อง รับว่า ตนเคยต้องคำพิพากษาว่า กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย
ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
มีข้อที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือ มีความเด็ดขาดสมบูรณ์ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออำนาจของรัฐอื่น แยกตามลักษณะหน้าที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.อำนาจนิติบัญญัติ 2.อำนาจบริหาร 3.อำนาจตุลาการ
การพิพากษาของศาล เป็นอำนาจตุลาการ เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้ตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลงยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความคำพิพากษาศาลต่างประเทศที่มีสถานะทางกฎหมายกับศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
ตามหลักอธิปไตยของรัฐ และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของรัฐใด มีผลในดินแดนของรัฐนั้น บางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่ง อาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรอง และบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ส่วนใหญ่เป็นกรณีทางคดีแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก
สำหรับคดีอาญา อาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้างในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่า รัฐภาคีต้องผูกพัน และเคารพผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย ดังนั้นทั้งหลักการ และหลักปฏิบัติของรัฐ เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศ ยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา
เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐ หรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
การตรากฎหมายอาญาแต่ละประเทศ กำหนดการกระทำความผิด ฐานความผิด เงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายบางประเทศอาจกำหนดให้ผิด แต่กฎหมายไทยอาจไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้ อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว ขัดกับหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศ ไม่ต้องบังคับ หรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยของศาลไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ในข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)
ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
เมื่อศาลได้วินิจฉัยประเด็นที่หนึ่งไปแล้วว่า ผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) จึงไม่มีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage