"...จริงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางเปลี่ยนผลคำวินิจฉัยใหัแตกต่างจากวันที่อ่าน แต่การเติมข้อความเพิ่มในคำวินิจฉัยที่ออกมาภายหลัง อาจถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้โอกาสนี้ เติมข้อความเพื่ออุดช่องโหว่หรือเติมเหตุผลให้หนักแน่น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพบว่าตนถูกวิจารณ์ในเรื่องการให้เหตุผล..."
.............................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Arnon Mamout" เรื่องข้อความในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศไม่ตรงกับข้อความในวันที่อ่าน
************************************
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 (คดีธรรมนัส) (**อิศรา : ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ) ที่ได้ประกาศเผยแพร่พบว่ามีปัญหาเรื่องข้อความไม่ตรงกับข้อความที่ตุลาการได้อ่านในวันที่ตัดสินคดี
ผมขอแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน
@ส่วนที่ 1 ข้อความในส่วนการรับฟังพยานหลักฐาน
@ส่วนที่ 2 ข้อความในส่วนการวินิจฉัย
@ ส่วนที่ 1 พบว่า ตุลาการอ่านข้อความในส่วนการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลออสเตรเลียอย่างสั้นและกระชับ เมื่อเทียบกับข้อความในคำวินิจฉัยที่ประกาศ ซึ่งปรากฏข้อมูลโดยละเอียดกว่า
ขอให้ลองพิจารณาคำวินิจฉัยตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 7 จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยโดยเพิ่มเติมข้อความอย่างละเอียดละออ
และทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงการพิจารณาคดีของศาลออสเตรเลียว่า
" ...ซึ่งศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคำพิพากษาในความผิดฐานใดจะตรงกับที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) บัญญัติหรือไม่ นั้น ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยแล้ว จึงมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ต้องวินิจฉัยต่อไป"
ต่อถ้อยคำทิ้งท้ายที่ถูกใส่เข้ามานี้ มีข้อให้อภิปรายมาก
ว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้มีบทบาทแบบ "ระบบไต่สวน" มิใช่หรือ?
นี่เป็นเรื่องเหลือวิสัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไร?
เหตุใดจึงเลือกที่จะตัดประเด็นการค้นหาข้อเท็จจริงแล้วเข้าสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย?
@ส่วนที่ 2 ข้อความในส่วนการวินิจฉัย
ผมพบ 2 จุดสำคัญ
-จุดที่ 1 ขอเรียกว่า "การเติมเพื่อสำทับเหตุผล"
-จุดที่ 2 ขอเรียกว่า "การเติมเพื่อออกตัว"
-จุดที่ 1 ความที่หายไปในวันอ่าน แล้วมาปรากฏในคำวินิจฉัย หน้า 9 คือความว่า "...ก็จะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มาตรา 98 (10) ระบุ ซึ่งบางฉบับบัญญัติฐานความผิด แต่บางฉบับไม่ได้บัญญัติฐานความผิด เพียงระบุชื่อกฎหมายเท่านั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จะทำให้ขอบเขตการยอมรับอำนาจศาลของรัฐอื่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย..."
นี่คือ การเติมเพื่อสำทับเหตุผล ด้วยการอธิบายความเพิ่ม ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยว่า คำว่า "เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ไม่ควรรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศ
เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงเพิ่งมาเติมเอาทีหลัง? เพิ่งคิดได้จึงขอแถมอย่างนั้นหรือ?
-จุดที่ 2 ความที่มาปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัย หน้า 10 แต่ไม่มีเลยในวันอ่าน คือความว่า "ส่วนปัญหาว่าข้อกล่าวอ้างตามคำร้องเป็นเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย"
อย่างที่หลายคนทราบ นับแต่วันอ่านคำตัดสิน เราได้เห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญและข้อวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในทางการเมืองของธรรมนัสอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
จริงอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบาทในการตรวจสอบความเหมาะสมในทางการเมือง จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเพิ่มข้อความออกตัวว่า ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณาความเหมาะสมในทางการเมือง เพราะเรื่องความเหมาะสมทางการเมืองในกรณีนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องตระหนักอยู่แล้วโดยสภาพ
อาจเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคาดไม่ถึงกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องเผชิญกับข้อโต้แย้งสำคัญในประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า
เรื่องความเหมาะสมนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความให้เป็นส่วนหนึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการดำรงตำแหน่งให้สมความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้
ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมทางการเมืองอย่างโดด ๆ
ถึงกระนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใส่ข้อความเพื่อออกตัวดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัย ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามดึงประเด็นเรื่องนี้ให้กลับไปที่จุดความเหมาะสมทางการเมือง และทิ้งท้ายในทางปัดป้องว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปเกี่ยวข้อง
การเติมข้อความในภายหลังเพื่อออกตัว
อาจเป็นความพยายามรักษาภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ขอให้ลองพิจารณาขบคิดกัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด "สาร" ที่เพิ่งเติมเข้ามา ย่อมมี "หน้าที่สื่ออะไรบางอย่าง" อยู่ในตัวของมันเอง
--------------
@ ท้ายสุด การที่ศาลรัฐธรรมนูญเติมข้อความในคำวินิจฉัย ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากวันอ่าน เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว
-ปัญหาข้อที่ 1 คือ สะท้อนการทำงานที่ไม่สมบูรณ์เรียบร้อยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของบ้านเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอำนาจขององค์กรทางการเมืองทั้งหลาย
ในแง่นี้ ขอให้เทียบกับศาลปกครอง ซึ่งจากประสบการณ์ พบว่า ศาลปกครองอ่านวันใด ก็สามารถเห็นคำตัดสินฉบับจริงได้ในวันนั้นทันที ข้อนี้ขอชื่นชม
-ปัญหาข้อที่ 2 คือ กระทบกับความมั่นคงแน่นอนของคำตัดสิน
ขอให้นึกถึงเวลานักเรียนนักศึกษาส่งคำตอบข้อสอบ เมื่อส่งแล้วก็เป็นอันยุติ ครูบาอาจารย์ก็จะตรวจและให้คะแนนตามที่ส่ง ไม่ควรจะมาขอเติมขอปรับในภายหลัง หรืออ้างว่า ที่ตอบวันนั้นยังไม่สะเด็ด ขอมาตอบแถมในวันหน้า
-ปัญหาข้อที่ 3 คือ ต้องเผชิญกับการถูกครหาว่าได้เวลาเพิ่มในการเก็บประเด็นจากสังคมไปเขียนเติม
จริงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางเปลี่ยนผลคำวินิจฉัยใหัแตกต่างจากวันที่อ่าน แต่การเติมข้อความเพิ่มในคำวินิจฉัยที่ออกมาภายหลัง อาจถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้โอกาสนี้ เติมข้อความเพื่ออุดช่องโหว่หรือเติมเหตุผลให้หนักแน่น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพบว่าตนถูกวิจารณ์ในเรื่องการให้เหตุผล
@ ทางแก้เรื่องนี้ง่ายมาก
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่
คือ เขียนคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นในวันที่จะต้องอ่าน
คำที่อยู่ในตัวคำวินิจฉัยก็จะไม่ต่างจากคำที่ออกจากปากตุลาการบนบัลลังก์
ปัญหาทั้ง 3 ประการ ย่อมจะหายไป
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าหากจะทำ
อ่านประกอบ :
โพรไฟล์ 17 กก.กฤษฎีกาคณะพิเศษ เทียบ 9 ตุลาการศาล รธน.ปมคำพิพากษาศาล ตปท.
‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage