“…บริษัทฯ คำนวณได้ว่า ประมาณรายได้รวมในระยะเวลา 15 ปี ของสัญญา MMDS จะเป็นเงิน 226,830 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิจากประกอบกิจการ 50,480 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก อสมท 66.91% จึงเท่ากับว่าบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินกำไรสุทธิ 33,776.17 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี…”
..............
เป็นคดีที่กำลังฟ้องร้องกันในศาลปกครอง
เมื่อ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ,คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 17,543.96 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.5% ต่อปี
เนื่องจาก บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด มองว่า มติของ กสทช. เกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนกรณีเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ซึ่งกำหนดให้เยียวยา บมจ. อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ได้รับความเสียหายจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz เป็นเงิน 3,235.83 ล้านบาท จำกัด นั้น
เป็นการชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนที่ ‘น้อยกว่า’ ความเป็นจริง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงสรุปเนื้อหาคำฟ้องของบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ที่ยื่นฟ้อง กสทช. และบมจ. อสมท ต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563 และมีการแก้ไขถ้อยคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 เฉพาะในประเด็นที่มาที่ไปในการคำนวณความเสียหายของบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด อ้างว่า บริษัทฯได้รับความเสียหายจากการถูกเรียกคืนคลื่น 2600 MHz (ย่านความถี่ 2500-2690 MHz) เป็นเงินทั้งสิ้น 17,543.96 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก เป็นค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจตลอดอายุสัญญาประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS (สัญญา MMDS) เป็นเวลารวมอย่างน้อย 20 ปี เป็นเงิน 14,940.36 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.5% ต่อปี รวมเป็นเงิน 16,506.03 ล้านบาท
สำหรับที่มาของค่าตอบแทนฯดังกล่าว บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ระบุว่า บริษัทฯได้เสนอแผนธุรกิจในการดำเนินตามโครงการสัญญา MMDS โดยมีการประมาณการยอดขายและผลศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ทั้งในแง่จำนวนสมาชิกและรายได้ของโครงการ พบว่า ประมาณการระยะเวลาในการคืนทุนในกรณีปกติ ที่ระยะเวลา 3.2 ปี และในปีที่ 5 จะสามารถจัดเก็บรายได้ของโครงการได้ถึง 4,487.58 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทฯ คำนวณได้ว่า ประมาณรายได้รวมในระยะเวลา 15 ปี ของสัญญา MMDS จะเป็นเงิน 226,830 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิจากประกอบกิจการ 50,480 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก อสมท 66.91% จึงเท่ากับว่าบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินกำไรสุทธิ 33,776.17 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี
เมื่อนำมาคำนวณตามวิธีการแบบ ‘จำลองการคิดลดกระแสเงินสด’ ซึ่งลดทอนด้วยต้นทุนเงินทุน ในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของโครงการ (NPV) โดยคำนวณตามอายุการถือครองคลื่นที่ยังเหลืออยู่ ประกอบกับการนำกรณีศึกษาในประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซียและสหรัฐ รวมถึงกรณีการเรียกคืนคลื่น 700 MHz มาประกอบการคำนวณ พบว่าบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินกำไรสุทธิ 11,853.59 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทฯ มีสิทธิได้รับการต่อสัญญา MMDS โดยอัตโนมัติอีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 ปี จึงรวมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี
บริษัทฯจึงมีสิทธิได้รับกำไรจากโครงการตามมูลค่าปัจจุบันของโครงการ (NPV) ซึ่งเป็นค่าเสียโอกาสเป็นเงิน 14,940.36 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ยผิดนัด 7.5% ต่อปี)
ส่วนที่สอง การชดใช้จากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ เนื่องจากบริษัทฯได้ลงทุนตามสัญญา MMDS ตั้งแต่ปี 2553-2562 ซึ่งบริษัทฯมีสิทธิได้รับค่าเสียหาย เป็นเงิน 939.47 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด 7.5% ต่อปี รวมเป็นเงิน 1,037.93 ล้านบาท
บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ มีค่าใช้ในการลงทุน การดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการตามสัญญา MMDS ประกอบด้วย
1.เงินลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการที่จำเป็น
-ค่าอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 3.63 ล้านบาท
-ค่าติดตั้งระบบ Call Center ระหว่างปี 2554-2557 เป็นเงิน 0.192 ล้านบาท
-คอมพิวเตอร์ จอภาพและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ปฏิบัติงานเขียนโปรแกรม ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 3.26 ล้านบาท
-อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในสำนักงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ระหว่างปี 2554-2561 เป็นเงิน 1.84 ล้านบาท
-เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องภายในสำนักงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ระหว่างปี 2554-2558 เป็นเงิน 0.519 ล้านบาท
-อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เครื่องสแกน กล้องโทรทัศน์วงจรปิด และสัญญาณกันขโมยภายในสำนักงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 0.333 ล้านบาท
-ปรับปรุงตกแต่งสำนักงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ระหว่างปี 2554-2561 เป็นเงิน 2.31 ล้านบาท
2.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานตามโครงการฯ
-ค่าจ้างพัฒนาระบบสำหรับให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ภายใต้แพลตฟอร์ม วิง แพลทฟอร์ม โซลชั่น (VING Platform Total Solution) ซึ่งประกอบด้วย 7 แพลตฟอร์มย่อย ระหว่างปี 2554-2557 เป็นเงิน 725.27 ล้านบาท
-ค่าเช่าพื้นที่รายเดือน สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ระหว่างปี 2559-2562 เป็นเงิน 3.66 ล้านบาท
-ค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 0.357 ล้านบาท
-ค่าเช่าอาคารสำนักงานและค่าบริหารสำนักงาน สถานที่ปฏิบัติงาน ระหว่างปี 2556-2562 เป็นเงิน 26.96 ล้านบาท
-ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการแถลงข่าว และกิจการเพื่อสังคม (CSR) การผลิตสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 1.62 ล้านบาท
-ค่าเช่าโดเมน ปี 2555 เป็นเงิน 2,568 บาท
-ค่าโทรศัพท์ ระหว่างปี 2554-2557 เป็นเงิน 0.32 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน เครื่องอุปโภคบริโภค ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 0.105 ล้านบาท
-ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา อาคารสำนักงาน และอุปกรณ์ที่ใช้ภายในสำนักงาน ระหว่างปี 2553-2562 เป็นเงิน 0.351 ล้านบาท
-ค่าบริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและด้านการเงิน สำหรับการดำเนินงานตามโครงการโดยเฉพาะ ระหว่างปี 2555-2560 เป็นเงิน 0.77 ล้านบาท
-ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ระหว่างปี 2557-2562 เป็นเงิน 0.841 ล้านบาท
-ค่าลงประกาศรับสมัครงาน ระหว่างปี 2553-2562 เป็นเงิน 0.417 ล้านบาท
-ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ระหว่างปี 2554-2562 เป็นเงิน 0.073 ล้านบาท
-ค่าสวัสดิการพนักงาน ระหว่างปี 2553-2562 เป็นเงิน 0.22 ล้านบาท
-เงินเดือนพนักงาน เฉพาะตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานในโครงการ ระหว่างปี 2553-2562 เป็นเงิน 147.22 ล้านบาท
3.ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างพนักงาน ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คำนวณ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 เป็นเงิน 11.41 ล้านบาท
4.ค่าลิขสิทธิ์ของเนื้อหารายการที่บริษัทฯจัดซื้อไปแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำมาให้บริการ ระหว่างปี 2560-2562 เป็นเงิน 4.86 ล้านบาท
5.ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะโครงการ ระหว่างปี 2553-2562 เป็นเงิน 8.97 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ไปของยอดค่าเสียหายที่ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เรียกร้องจาก กสทช. และ อสมท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าสุดท้ายแล้วศาลปกครองจะมีคำพิพากษาอย่างไร
อ่านประกอบ :
ฟ้องชดใช้ 1.75 หมื่นล.! ‘เพลย์เวิร์ค’ ยื่นศาลฯสั่ง ‘อสมท-กสทช.’ เยียวยาคลื่น 2600 MHz
แบ่ง ‘เพลย์เวิร์ค’50%เป็นเรื่องของ อสมท ‘ฐากร’ชี้ ไม่พอใจ3.2พันล้าน ให้ฟ้องศาล ปค.
ไม่แบ่ง‘เพลย์เวิร์ค’! ‘เขมทัตต์’ปัดขอค่าเยียวยาคลื่นฯ 3.2 พันล.-ซัด กสทช.ไม่ทำตาม กม.
ประธานอนุกก.เยียวยาคลื่น 2600 : ทำไมต้องแบ่งเงิน ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ 50 ต่อ 50
เปิดมติ กสทช. ปี 57 ว่าด้วยปัญหาข้อกม. 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค' ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS
ไม่มีอำนาจ! ปธ.บอร์ด ‘อสมท’ งัดกม.แจง ‘เทวัญ’ หลังสั่งสอบกรณีเยียวยาคลื่น 3.2 พันล้าน
เบื้องลึก! กสทช. 'กลับลำ-กลับมติ' ปี 57 ว่าด้วยการใช้คลื่น 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค'
เปิดตัว บ.เพลย์เวิร์คฯ ได้รับเงินเยียวยาคลื่นจาก 'กสทช.- อสมท' 1.6 พันล.
อาจใช้อำนาจมิชอบ! 'ปาริชาต'ท้วง’เขมทัตต์'ชง กสทช.แบ่งเงิน 1.6 พันล.ให้ ‘เพลย์เวิร์ค’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/