กองทัพเรือ ร่ายยาวเหตุผลความจำเป็นจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำมูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท โฆษก ทร.ย้ำทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย ทำสัญญาจีทูจี ไม่มีเก๊เหมือนจำนำนข้าว ยันจ่ายงวดแรกปี 2564 เพียง 3.9 พันล้านบาท ย้ำหากชะลออีก 1 ปี ไม่มีค่าปรับ แต่ขาดความน่าเชื่อถือในการทำการค้าระหว่างประเทศ
--------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. กองทัพเรือ แถลงชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำ หลังจากคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) คุรุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบผ่านงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ 2 ลำ วงเงิน 22,500 บาท ขณะที่พรรคเพื่อไทย อ้างว่าไม่ได้ใช้วิธีการจัดซื้อจ้างแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของโครงการนี้ โดยวันนี้ใช้เวลาแถลงข่าวนานกว่า 1 ชั่วโมง
พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่าข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยแถลงต่อสื่อมวลชน ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อาจเกิดจากความหวังผลให้กระทบต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตามกองทัพเรือได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้วในการจัดหาเรือดำน้ำลำแรกเมื่อปี 2560 ซึ่งจะได้เรือเข้าประจำการอีกครั้งปี 2566 ส่วนการจัดซื้อรอบนี้เป็นโครงการจัดหาต่อเนื่องจากโครงการเก่า ไม่ได้เป็นการเริ่มโครงการใหม่ และเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งไทยได้พูดคุยกับผู้แทนของจีนจนบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 แต่เนื่องจากประเทศเผชิญสถานการณ์โควิด จึงได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินงวดแรกจากปีงบประมาณ 2563 เป็นปีงบประมาณ 2564 และไม่ได้เป็นการจ่ายเงินทั้งหมดในคราวเดียวแต่อย่างใด ทั้งนี้หากเลื่อนโครงการออกไปอีกอาจทำให้ไทยความน่าเชื่อถือในการทำค้าระหว่างประเทศได้
“เราได้ลดงบประมาณด้านอื่น เพื่อจัดหาเรือดำน้ำให้สำเร็จ เราเล็งเห็นว่าสำคัญและคุ้มค่า เพื่อประกันความมั่นคงของอนาคตประเทศ หากชะลอออกไปอีก จะทำให้ชะลอความมั่นคงทางทะเลไปอีก 2 ปี ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเพิ่มความเสี่ยงเรื่องนี้ อาจสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลมากกว่ามูลค่าการจัดหาเรือดำน้ำหลายเท่า” พล.ร.อ.สิทธิพร กล่าว
ด้าน พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผอ.สำนักงานงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่า หากสุดท้ายมีการเลื่อนโครงการจัดหาเรือดำน้ำออกไปอีก 1 ปี ในสัญญาไม่มีการเสียค่าปรับแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้มีการทำสัญญาข้อตกลงเฉพาะเรือดำน้ำ 1 ลำเท่านั้น ส่วนลำที่ 2-3 เป็นกรอบการเจรจาที่ตกลงกันไว้ว่าจะซื้อให้ครบ 3 ลำ ฉะนั้นหากมีการชะลอโครงการออกไป อาจส่งผลให้ข้อเสนอต่างๆที่ได้เจรจาไว้ ทั้งการได้รับส่วนลดเพิ่มเติม และการเพิ่มออฟชั่นต่างๆ ที่มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท อาจจะไม่ได้รับตามที่เจรจาไว้ก่อนหน้านี้
“ขอยืนยัน การจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ยังมีความจำเป็นที่กองทัพเรือต้องดำเนินการ ใบเสนอาคานี้จะหมดอายุ 30 ก.ย. 2563 ก็อาจทำให้ต้องมาตกลงกันใหม่ทั้งในแง่ราคา อุปกรณ์เพิ่มเติม” พล.ร.ต.อรรถพล กล่าว
ขณะที่ นาวาเอกธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รอง ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่าการที่ถูกกล่าวหาว่า การทำสัญญาจัดหาเรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือเมื่อปี 2560 เป็นจีทูจีปลอม ถือว่าเป็นการกล่าวเท็จ เป็นการให้ข้อมูลที่ผิด เพราะในข้อเท็จจริง สัญญาจีทูจี ได้ดำเนินการและได้รับความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เข้ามาดูรายละเอียดในสัญญา อีกทั้งยังผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ซึ่งฝ่ายไทยโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในฐานะผู้แทนรัฐบาลไท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2560 ผบ.ทร. ได้อนุมัติให้ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และ เสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้แทนลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นผู้เดินทางไปลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
นาวาเอกธาดาวุธ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มีการมอบอำนาจกันอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับรัฐบาลจีนที่มอบอำนาจให้ SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ ขอมอบอำนาจให้บริษัท CSOC เป็นผู้ร่วมลงนามในข้อตกลงของกองทัพเรือไทย นอกจากนั้น การทำสัญญาระหว่างจีนกับไทย เป็นการลงนามร่วมกันในสัญญาจีทูจี มีคนเข้าใจผิดไปแปลว่า ข้อตกลงนี้ไม่ใช่สัญญา แต่เป็นเอ็มโอยู ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
“อันนี้คือจีทูจีของจริง ไม่ใช่ของปลอม สิ่งที่กองทัพเรือทำหรือรัฐบาลทำ คือความถูกต้อง เราพอจะบอกได้ว่า สิ่งที่กองทัพเรือพูด เราไม่เคยพูดเท็จกับประชาชน” นาวาเอกธาดาวุธ กล่าว
ด้าน พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินทั้ง 2.25 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการจ่ายเป็นงวดๆ โดยก่อนหน้านี้ไทยจะต้องจ่ายงวดแรกในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,375 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด จึงได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวออกไปก่อน ทำให้ปีงบประมาณ 2564 เป็นการจ่ายงวดแรกจำนวน 3,925 ล้านบานท ไม่ใช่ 2.25 หมื่นล้านบาทตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในปี 2564 กองทัพเรือได้ปรับลดงบประมาณในส่วนของการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ที่เป็นการผูกพันเริ่มใหม่เพียง 1 โครงการ คือ การจัดหาเรือลากจูง 1 ลำ วงเงิน 73.30 ล้านบาท เมื่อรวมกับการจ่ายเงินงวดแรกให้กับเรือดำน้ำ เท่ากับว่า กองทัพเรือใช้งบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์ประมาณ 4 พันล้านบาทเท่านั้น
“วงเงินรวมในการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 2.25 หมื่นล้านบาท เราทยอยจ่าย 7 ปี ใช้งบประมาณในกรอบที่ได้รับปกติ ไม่ได้รับเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้กองทัพเรือต้องลดและปรับรายจ่ายในการจัดหายุทโธปกรณ์อื่นๆลง และเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนปกติทุกประการ” พล.ร.ท.ธีรกุล กล่าว
ขณะที่ พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวย้ำว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของไทยมีประมาณ 24 ล้านล้านบา หากเทียบกับการจัดซื้อเรือดำน้ำที่จ่ายงวดนี้เพียง 0.093% ถือว่าคุ้มค่า และการจ่ายเงินให้เริ่มก่อสร้างวันนี้ กว่าไทยจะมีเรือดำน้ำก็อีก 6 ปีข้างหน้า หากมีการเลื่อนออกไปอีก อาจเกิดความเสียหายต่อชาติ ทั้งเรื่องความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางทะเล
ส่วน พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ประเด็นหลักๆ เชื่อว่าสื่อมวลชนทราบเหตุผลความจำเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว และทราบถึงภารกิจของกองทัพเรือที่ทำมาด้วยความโปร่งใส ตามนโยบายรัฐบาล แต่ที่ผ่านมา สิ่งที่นายยุทธพงศ์ จรัสเถสียร ส.ส.เพื่อไทย ได้พูดถึงเป็นการบิดเบือนไปจากความเป็นจริง นำมาซึ่งสร้างความแตกแยก สร้างเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมที่มีต่อกองทัพ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
“ประเด็นสำคัญที่กล่าวหาว่าการจัดซื้อจีทูจี เป็นสัญญาเก๊ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะหากได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด การซื้อแบบจีทูจี โดยพรรคเพื่อไทย อย่างเช่นโครงการจำนำข้าว อันนี้สิเรียกว่าเก๊ เพราะเป็นพรรคที่การทำซื้อแบบจีทูจีไม่ถูกต้อง แต่กองทัพเรือทำการซื้อแบบจีทูจีอย่างถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ขอย้ำกับสังคมว่า อย่าตกเป็นเหยื่อทางการเมือง อย่านำเรื่องนี้ไปขยายจนทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม” พล.ร.ท.ประชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตามในการแถลงข่าววันนี้ 2 ส.ส.ก้าวไกล ประกอบด้วย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนาวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐาน กมธ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 และ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ได้เดินทางมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
นายพิจารณ์ ถามว่า กองทัพเรือสามารถปรับลดงบบุคลากรมาใช้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำได้หรือไม่ เพราะวงเงินดังกล่าวมีสัดส่วนในงบประมาณกองทัพเรือมากถึง 43% ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีเงินมากพอในการจัดหาเรือดำน้ำได้
พล.ร.อ.สิทธิพร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการลดงบประมาณด้านอื่นไปแล้ว และในปี 2564 เหลือเพียงโครงการจัดหาเรือลากจูง มูลค่า 73 ล้านบาทเศษ และการจ่ายเงินงวดแรกในการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งขอยืนยันว่า กองทัพเรือเห็นคุณค่าของเรือดำน้ำ เพราะมีอาชีพเป็นทหารเรือ เกิดมาก็อยู่กับเรือ และเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำ เป็นการประเมินทางยุทธศาสตร์ ไม่ได้จัดทำด้วยความคิดลอยๆ และวันนี้ต้องการนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเปิดเผยให้กับสื่อมวลชนดั้รบทราบ ว่าทุกอย่างทำตามขั้นตอน โปร่งใส และเกิดความคุ้มค่าจากเม็ดเงินทุกบาทที่นำไปใช้จ่าย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage