ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 0.5% หลังประเมินเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรง ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินเริ่มเปราะบาง จับตาสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการลงทุนหุ้นกู้ กังวลเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีก
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว
คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ด้านภาวะการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลัง ธปท.ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงและอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้
ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลภูมิภาค
คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าและให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
เมื่อถามว่า การลดดอกเบี้ยลงอีก กนง. มองว่าสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดมากน้อยแค่ไหน และประเมินว่าสถานการณ์จะอยู่ยาว นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า โดยรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้เมื่อครั้งที่แล้ว จากเศรษฐกิจโลกที่แย่กว่าที่คาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ
"กนง. ประเมินว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจด้านลบยังมีอยู่สูง โดยได้พิจารณา scenario-planning หลายกรณี ทั้งสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ และสถานการณ์ที่โควิด 19 จะกลับมาระบาดระลอกสอง ส่วนปัจจัยสำคัญที่ กนง. ติดตาม ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศ การระบาดของโควิด 19 รอบสอง ประสิทธิผลของมาตรการการคลังรวมถึงมาตรการการเงินและสินเชื่อ สถานการณ์การจ้างงานในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าและกระทบต่อเศรษฐกิจ" นายทิตนันทิ์กล่าว
เมื่อถามว่า กนง.มีการพูดถึงเสถียรภาพหนี้ครัวเรือนและ SMEs ว่าด้อยลงมาก ทั้งคุณภาพหนี้และความเสี่ยง กนง. มีการเข้ามาดูแลติดตามเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง.มองว่าครัวเรือนและ SMEs ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด-19 และเห็นว่ามีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้หลังมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง กนง.จึงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก รวมถึงการเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งรวมถึงสินเชื่อ soft loan ของ ธปท. สินเชื่อ soft loan ของธนาคารออมสิน และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการค้ำประกันจาก บสย. เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านฐานะการเงินของลูกหนี้
นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะต่อไป คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการว่างงานในระดับสูง และการช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs มีรายได้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาฐานะทางการเงิน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นแผลเป็น (scar) ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจะช้าลง และส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาว
เมื่อถามว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะมีประสิทธิผลแค่ไหนในการช่วยเศรษฐกิจหรือลดภาระให้ประชาชนเพียงใด นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง. เห็นว่านโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/