รมว.คลัง ยอมรับการเงินเยียวยา 'เราไม่ทิ้งกัน' จ่ายล่าช้า เพราะเป็นเรื่องใหม่ไม่มีใครเคยทำ อีกทั้งไม่มีฐานข้อมูลอาชีพอิสระ ทำให้เสียเวลาตรวจสอบการลงทะเบียน เผยอยากเยียวยาถ้วนหน้า แต่ต้องคำนึงถึงงบประมาณแผ่นดินด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค.มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีระเบียบวาระพิจารณาเรื่องด่วนตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาอภิปรายไปพร้อมกัน แต่ให้แยกลงมติเป็นรายฉบับ ประกอบด้วย
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563
เมื่อเวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งวงเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในด้านสาธารณสุข โดยยืนยันว่า เงินส่วนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ลูกจ้างพนักงาน รวมถึงอาสาสมัคร ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีกฎหมายการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ เช่นเดียวกับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ในประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถผลิตหน้ากากได้ไม่กี่บริษัท เช่น หน้ากากชนิด N95 มีแค่ 1-2 บริษัท และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศเท่านั้น ขณะที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ต้องนำเข้าวัสดุการผลิตเข้ามาเช่นกัน ดังนั้นเมื่อทุกประเทศอยู่ในช่วงเวลาคับขัน ทุกประเทศก็สงวนไว้ใช้ของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามบริหารจัดการส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ไม่มีอะไรดีมาตั้งแต่เกิดหรอกครับ แต่ทุกอย่างต้องแก้ไข ต้องใช้เวลา ไม่ใช่รัฐบาลจ้องจะใช้แต่เงินอย่างเดียว ที่บอกว่ามีคณะกรรมการกลั่นกรองไม่กี่คนจะพอหรือไม่ ผมยืนยันว่าเรามีกลไกสภา มีการตรวจสอบในระบบ ทั้ง สตง. หรือ ป.ป.ช. ก็ตรวจสอบได้ และกว่าโครงการจะถึงมือคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็ต้องผ่านกลไกในระดับจังหวัดอีก ซึ่งเราได้คิดเรื่องต่างๆเหล่านี้ไว้หมดแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
จากนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงว่า เรากำลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1.9 ล้านล้านบาท เพราะที่เหลือไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่เป็นสภาพคล่องที่อยู่ในระบบ แต่ใช้ พ.ร.ก.เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำสภาพคล่องดังกล่าวมาแก้ปัญหา ทั้งนี้ยืนยันว่าวงเงินกู้ก้อนนี้ ยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเมื่อสิ้นสุดการกู้เงินเดือน ก.ย.2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 57.96% ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบ กับโครงการไทยเข้มแข็ง เมื่อปี 2552 หรือ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ปี 2548 พบว่า โครงการเราไม่ทิ้งกัน 2020 มีการรายงานความก้าวหน้าและมีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน
นายอุตตม กล่าวด้วยว่า สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์จะรุนแรง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเยียวยากับทุกคน ส่วนเรื่องล่าช้า ยอมรับว่าต้องใช้เวลา เพราะเราใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินต้องให้เกิดความรัดกุม และข้อมูลที่ใช้ในการจ่ายเงินเยียวยา ไม่ได้มีความพร้อมที่ทำให้เราจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็วอย่างที่อยากให้เป็น ยกตัวอย่าง อาชีพอิสระ เราไม่มีฐานข้อมูลที่ชี้ชัด ที่คือเหตุผลที่เปิดให้มีการลงทะเบียน
“ส่วนถ้าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ทุกคน ถ้าเราทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เราพยายามทำให้ครอบคลุม เน้นผู้ได้รับผลกระทบตรงๆก่อน และเรามีการดูแลเป็นชุดมาตรการอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ผมยอมรับว่าเรามีความล่าช้าและมีปัญหาบ้าง แต่ขอเรียนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ไทยทำเรื่องนี้” นายอุตตม กล่าว
@'ก้าวไกล'เสนอรื้องบเงินกู้ 1 ล้านล้าน เน้นเยียวยาถ้วนหน้า-พัฒนาสาธารณสุข
ต่อมา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าต้องมีการกู้เงินเพื่อมาไขสถานการณ์นี้ แต่เห็นว่าควรที่จะต้องมีการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทใหม่ โดยให้นำวงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาทจากร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาประชาชน โดยคาดว่าจะใช้เงิน 9.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การจ่ายเงิน 3,000 บาท 3 เดือน ให้กับทุกคน ยกเว้นข้าราชการ นอกจากนั้นให้สมทบค่าจ้างให้กับแรงงานในเอสเอ็มอี ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน 3 เดือน เพื่อไม่ให้มีการเลิกจ้างงานภายในช่วง 3 เดือนนี้ ขณะเดียวกันให้เพิ่มวงเงินพัฒนาศักยภาพด้านสาธารณสุขจาก 4.5 หมื่นล้านบาทเป็น 1 แสนล้าน เพื่อนำไปสู่การผลิตวัคซีนสำหรับทุกคน
ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้รัฐบาลปรับปรุงรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 และเสนอร่าง พ.ร.บ.ฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามาใหม่ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การกู้เงินไม่ใช่ปัญหา และรัฐบาลจะกู้เงินมากกว่านี้ก็ได้ แต่ปัญหาคือฐานคิดและการใช้เงินที่กู้มา อยากให้รัฐบาลดำเนินการผ่านโจทย์สำคัญ 2 ข้อ คือ ยกระดับขีดความสามารถสาธารณสุขของไทย และแก้ไขปัญหาปากท้องทำให้เกิดการสร้างงาน
"อย่างไรก็ตามโรคระบาดยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกหลายระลอก และในอนาคตอาจจะต้องมีการล็อคดาวน์สลับกับการผ่อนปรนอย่างเป็นระยะ พรรคก้าวไกลพร้อมลงมติผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ หากรัฐบาลยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเข้ามาตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินต่อไป" นายวิโรจน์ กล่าว
ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้กรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานที่ต้องลงทุน 5 เรื่อง ประกอบด้วย แหล่งน้ำชุมชน การปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการขายออนไลน์และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และทรัพยากรมนุษย์ โดยหวังผลในการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มคุณภาพสินค้าบริการ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน
นายกนก กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่าง ถ้าขุดบ่อน้ำบาดาล 75 จังหวัด จังหวัดละ 200 จุด เราจะมีบ่อน้ำบาดาล 1.5 หมื่นจุด แต่ละจุดรับพื้นที่การผลิตได้ 30 ไร่ ทำให้มีที่ดินทางการเกษตรที่มีน้ำใช้ 4.5 แสนไร่ตลอดทั้งปี และถ้าแต่ละไร่ทำรายได้ 1 แสนบาทต่อปี หมายความว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ทำให้เกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการรายย่อยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และทำให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง ความยากจนหายไป และทั้งหมดที่กล่าวมาคือความหวังของคนไทย ที่จะเห็นเงินกู้ 4 แสนล้านบาททำให้มีความสุขและมีรอยยิ้ม
@ 'เพื่อไทย' ติงเงินกู้เยียวยาไม่ถ้วนหน้า ห่วงคนไทยใช้หนี้ยาว 90 ปี
เมื่อเวลา 12.20 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะกู้เงินมาไขสถานการณ์โควิด แต่ขอให้รัฐบาลตระหนักไว้ว่าเงินที่กู้มานั้น คนใช้หนี้คือประชาชนทุกคน ขอให้เม็ดเงินถูกนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ในอดีตเรามีความรู้สึกว่า มีการแบ่งเค้ก ชิงประโยชน์ในเม็ดเงินเหล่านี้ มีการสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง ให้อำนาจผู้บริหารสูงแบ่งสันปันส่วน แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกลับใช้คณะกรรมการกลั่นกรองไม่กี่คน และการแจ้งให้สภารับทราบช่วงสิ้นปีงบประมาณ เห็นว่าล่าช้าเกินไป
นายสมพงษ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีการจัดสรรเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทในด้านสาธารณสุข มีข้อกังขาเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน ต้องขอรับบริจาคจากเอกชน รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินตรงนี้ให้ ส.ส.และประชาชนได้รับทราบ ส่วนวงเงิน 5.55 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน พบว่ามีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมากก็ยิ่งหลุดมาก คนเดือดร้อนไม่ได้ประโยชน์ เกิดโศกนาฏกรรมดังที่ปรากฏในสื่อ เหตุใดถึงไม่ใช้ระบบถ้วนหน้าในการเยียวยาประชาชน
“งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทฝ่ายค้านเป็นห่วงที่สุด เพราะกระทรวงต่างๆได้รับการแบ่งตัวเลขไปแล้ว ทั้งที่ พ.ร.ก.ยังไม่ได้ผ่านสภา ขอเรียนด้วยความเคารพว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ใช้ประโยชน์ทางการเมือง หรือนำไปทำโครงการแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์พวกพ้องหรือทดแทนทางการเมือง ขอย้ำว่าฝ่ายค้านไม่ขัดข้องเรื่องการกู้เงิน เพราะเราเห็นความจำเป็น แต่ขอทักท้วงว่าด้านการใช้จ่าย ต้องมีประสิทธิภาพด้วย” นายสมพงษ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ วงเงิน 5 แสนล้านบาท พบว่าการพิจารณาให้กู้ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์ โดยส่วนใหญ่การกู้เงินลักษณะนี้ต้องมีเครดิตดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เชื่อว่าเงินส่วนนี้จะใช้ไม่หมด เพราะเอสเอ็มอีที่มีประมาณ 3-4 ล้านบริษัท แต่มีบริษัทที่ดีจริงๆ มีความสามารถในการใช้เงินแค่ 1 แสนราย เรื่องนี้จะเป็นปัญหา ทำให้รายใหญ่ได้ประโยชน์ ส่วนรายเล็กโดนเอาเปรียบ เพราะเข้าไม่ถึงเงินกู้ คนที่ควรได้รับการช่วยเหลือกลับไม่ได้ จึงฝากรัฐบาลไปว่า ขอให้นำหลักการเรื่องความทั่วถึงมาใช้ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา
“สุดท้ายนี้ฝ่ายค้านจะร่วมอภิปรายรายละเอียดในเชิงลึกของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ หวังว่า ส.ส.จะทำหน้าที่เต็มที่ ทำให้เกิดประโยชน์ ลงไปสู่การช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นผลแห่งการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ บริการจัดการโปร่งใส ไม่ใช่แหล่งทุนเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงอยากฝากรัฐบาลไปว่า โปรดระลึกถึงว่าเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ คือเงินในอนาคตของลูกหลานเรา” นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลตั้งชื่อเล่นไว้ว่า พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน 2020 แต่ประชาชานเรียกว่า พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020 เราพบว่า เศรษฐกิจของไทยเจอปัญหาย่ำแย่มาก่อนสถานการณ์โควิด และตลอด 6 ปีงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. จีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท มียอดหนี้สาธารณะ 7 ล้านล้านบาทหรือ 41.28% แปลว่าในปี 2563 ถ้าจีดีพีหดตัวลง 6% ตามค่าเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จีดีพีจะเหลือ 15.98 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 44% ต่อจีดีพี ซึ่งตามกฎหมายไทยก่อหนี้ได้อีกไม่เกิน 16% ของจีดีพีเพื่อไม่ให้เกินกรอบ 60% ของจีพีดี ดังนั้นรัฐบาลก่อหนี้ได้อีกไม่เกิน 2.5 ล้านล้านบาท เมื่อเอาตัวเลขมาดูจะพบว่า การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อาจจะเป็นเงินหน้าตักครั้งสุดท้ายของประเทศที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สำเร็จ และในปีหน้าต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 5 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ เราจะพัง เหลือแต่หนี้ให้คนรุ่นหลังใช้หนี้แทนเรา
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ก่อหนี้ไปแล้ว 2.66 ล้านล้านบาท เมื่อรวมการกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยขาดดุลปี 2564 อีก 5 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องกู้ 4.185 ล้านล้านบาท เมื่อดูตามแผนงานบริหารหนี้สาธารณะ ที่จัดสรรเงินใช้หนี้ปีละ 4.8 หมื่นล้านบาท เมื่อนำไปคำนวณแล้วพบว่าต้องใช้เวลา 90 ปีถึงจะใช้หนี้หมด ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีสร้างหนี้ให้กับคนไทยชั่วลูกชั่วหลาน คนไทยทำงานใช้หนี้จาก พ.ร.ก.ที่เราจะเป็นหนี้ด้วยกัน 2020
ทั้งนี้หากต้องการให้ฝ่ายค้านลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ มี 3 เงื่อนไขที่ต้องทำ คือ 1.ให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน ตรวจสอบการใช้เงินภายใต้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 2.รัฐบาลต้องรายงานให้รัฐบาลรับทราบผลการใช้เงินทุกๆ 3 เดือน และ 3.สนับสนุน เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์
@'บิ๊กตู่'ยันเรื่องฉุกเฉิน-ทางเลือกสุดท้ายต้องกู้เงินฟื้นเศรษฐกิจติดลบ
ทั้งนี้ การอภิปรายเริ่มต้นในเวลา 11.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า สถานการณ์โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ทางการแพทย์ไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงติดลบ 1.8% ถือเป็นการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจไทยครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 นอกจากนั้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 5% - 6% โดยกระทบภาคการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
โดยการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น , การปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แต่พบว่าแหล่งเงินยังไม่เพียงพอ ทำให้การช่วยเหลือประชาชนไม่ทันกับสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จำเป็นอย่างเร่งด่วนแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
"รัฐบาลคาดว่าจะต้องใช้เงินกู้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายที่อนุมัติให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการตาม พ.ร.ก.กู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยให้ลงนามในสัญญากู้เงินไม่เกิน 30 ก.ย.2564" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับการใช้จ่ายตามแผนงานหรือวัตถุประสงค์ตามบัญชีแนบท้าย 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท แผนงานเยียวยาและชดเชยให้ประชาชน 5.55 แสนล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้และอนุมัติโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้โปร่งใสตรวจสอบได้ ได้กำหนดให้มีการเสนอสภารับทราบรายละเอียดการใช้เงินภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดแล้ว มีวงเงินอีก 4 แสนล้านบาทเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ให้ความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบ เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ในการตรา พ.ร.ก. ครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะกระทบต่อสถานะหนี้สาธารณะ ขอยืนยันว่าการกู้เงินทั้งหมดจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะโดยไม่กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งประมาณการไว้ช่วงสิ้นเดือน ก.ย.อยู่ที่ 57.96% ทั้งนี้จะใช้การกู้ภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการชำระหนี้ กระทรวงการคลังวางแผนการชำระอย่างเป็นระบบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 รัฐบาลเห็นว่า เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญของประชาชน โดยเหตุผลที่ต้องตราเป็น พ.ร.ก. เพราะการช่วยแหลือตลาดตราสารหนี้ต้องดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ถือว่าครอบคลุม ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดในปี 2563-2564 ถือเป็นกลไกชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะกิจช่วงโควิด
นอกจากนั้นรัฐบาลเห็นว่า ตลาดตราสารหนี้เป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันเอกชนระดมทุนผ่านตาราสารหนี้ 3.8 ล้านล้านบาทหรือ 22.5% ของจีดีพี โดยในอีก 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการระดมทุน 9.8 แสนล้านบาท และถือเป็นแหล่งออมที่สำคัญของประชาชน ที่พบว่าประชาชนถือครองตราสารหนี้ไว้กว่า 83% ซึ่งสถานการณ์โรคโควิด เริ่มเกิดปัญหาที่นักลงทุนไถ่ถอกเงินออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ทำให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ขาดสภาพคล่อง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง เป็นความเสี่ยงเชิงระบบกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม ภาครัฐจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามถึงเศรษฐกิจโดยรวม
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage