“…โครงการหรือนโยบายที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้หาเสียงไว้ เช่น นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ,โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ,การเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) ,นโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย ,การจัดตั้ง Entertainment Complex ,การเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น…”
........................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ‘ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปรายละเอียดของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ดังนี้
@เร่งรัดจัดทำ‘รัฐธรรมนูญ’ฉบับปชช.-ปฏิรูปกองทัพ
ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
1.พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริการส่งเสริมสถาบันศาสนา ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย
แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร แก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
2.ดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ เดินหน้าสานต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
@ดัน‘Entertainment Complex’-ดึงดูดลงทุน‘ผลิตชิป’
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
1.สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) หาโอกาสในตลาดใหม่ๆ และอาหารฮาลาล ฟื้นนโยบาย 'ครัวไทยสู่ครัวโลก' ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร ยกระดับรายได้ของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) อาทิเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech)
2.ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) ส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม
ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ (Digital Economy) ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิป ชิปดีไซน์ และ Semiconductor กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs PHEVs BEVs และ FCEVs) ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่และองค์ความรู้ในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะและการปรับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
3.สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการบนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ยกระดับศักยภาพของชุมชน ฐานชุมชนเมือง สินค้า OTOP เพิ่มความสามารถของพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจสำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่าทั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานไมซ์ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad)
ส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล การจัดประชุมนานาชาติและการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
@ดัน‘ค่าโดยสารราคาเดียว’-เจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘กัมพูชา’
4.ส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ อย่างไร้รอยต่อ พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway)
ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย
ปรับโครงสร้างราคาพลังงานและกำหนดอัตราการรับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิง ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)
สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ กำกับดูแลให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุม เพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา
@ผลักดัน‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’-พักหนี้ SMEs
5.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม โดยปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ดูแล ส่งเสริม ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยและ SMEs พัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน ที่เป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ
การแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs อาทิ การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund พัฒนาการออกแบบสินค้าและบริการที่มีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัดสามารถเข้าถึงตลาดผู้ซื้อ สนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในการผลิตภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ
ปกป้อง SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ อาทิศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA)
6.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดซื้อโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของภาครัฐมาสนับสนุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย
@สนับสนุนคนไทยทุกวัยใช้ AI-ยกระดับทักษะ'แรงงาน'
ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
1.ส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐ
2.ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ สนับสนุนให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมของเด็กปฐมวัย พัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
ยกระดับทักษะศักยภาพแรงงาน โดยการเสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ดึงดูดแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ รวมทั้งดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ
3.พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)
4.เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและการป้องกันยาเสพติด ขยายเครือข่ายการพัฒนาระบบบริการในทุกระดับ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)สานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV)
@ผลักดัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’-ยกระดับ‘30 บาท รักษาทุกที่’
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
1.การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ส่งเสริมความเท่าเทียมชายหญิงในครอบครัวและที่ทำงาน
2.การสนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานด้านการบริหารจัดการหนี้สินและการเงิน ส่งเสริมการออมเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและการประกอบอาชีพ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบ จัดทำแผนที่ที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ขยายโอกาสการเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ยกระดับคุณภาพสินค้าโครงการ OTOP
3.ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ '30 บาท รักษาทุกที่' ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม
@ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว-แก้ปัญหา‘PM 2.5-น้ำท่วม-น้ำแล้ง’
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1.ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาสมดุล ของระบบนิเวศท้องถิ่น
สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ เพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ PM 2.5 สานต่อนโยบายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย จัดการปัญหาการลักลอบกำจัดหรือฝังกลบกากอุตสาหกรรม ของเสียอันตรายด้วยความเข้มงวด
2.แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่าง จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
จัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ เร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานและแหล่งน้ำชุมชน ควบคู่กับการขยายเขตชลประทานและการเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
@ศึกษา Negative Income Tax-นำศก.ใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี
ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
1.การยกระดับการบริการภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล มีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้จ่ายงบประมาณ พิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ
พิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงินภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี (Underground Economy)
ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีให้ทันสมัย ผลักดันกฎหมายที่เอื้อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) ปรับบทบาทภาครัฐให้เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน (Enabler) ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้กำกับกฎกติกา (Regulator)
การปฏิรูประบบราชการและเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับขนาดและกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ รวมถึงเน้นใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีความรู้ความสามารถสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
2.การยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะของรัฐต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน
3.การลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 โดยโครงการหรือนโยบายที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้หาเสียงไว้ เช่น นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ,โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ,การเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA)
นโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย , การปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax และสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี , การจัดตั้ง Entertainment Complex ,การเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ทำงบ‘ขาดดุล’ต่อเนื่อง-เงินกู้โควิด ดัน‘ภาระหนี้รัฐบาล’ต่อ‘ประมาณการรายได้ฯ’เกินเพดาน 35%
ปิดงบปี 67‘รายรับ’ต่ำกว่า‘รายจ่าย’ 2 แสนล.-‘นายกฯ’สั่ง‘คลัง-สศช.’เร่งหามาตรการกระตุ้นศก.
ครม.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันฯ‘รายการใหม่’ปีงบ 68 กว่า 1.6 พันโครงการ วงเงิน 3.52 แสนล้าน
ดึง‘เงินคงคลัง’8 หมื่นล.โปะ 'บำนาญ-รักษาพยาบาล-ขึ้นเงินเดือน'ขรก.-ตั้งงบปี 69 ชดใช้
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า