ครม.รับทราบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบ 67 อยู่ที่ 63.32% ขณะที่สัดส่วน ‘ภาระหนี้รัฐบาล’ ต่อ 'ประมาณการรายได้ประจำปีงบฯ' เกินเพดาน 35% หลังรัฐบาลทำงบประมาณ ‘ขาดดุล’ ต่อเนื่อง-ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้โควิด
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.เชียงใหม่ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 พร้อมเหตุผล วิธีการ และระยะเวลาในการทำให้สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่เกินกว่ากรอบอยู่ภายในสัดส่วนที่กำหนด ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมกาคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ยกเว้นสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่เกินกว่ากรอบเล็กน้อย ดังนี้
1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 63.32% ไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 70% ต่อจีดีพี
2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 35.14% สูงกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35%
3.สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด อยู่ที่ 1.05% ไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 10%
4.สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.05% ไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 5%
(ที่มา : เอกสารสรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567)
ทั้งนี้ เหตุผลที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณเกินกว่ากรอบ เนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังคงต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล และต้องปรับโครงสร้างหนี้ของการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (การแพร่ระบาดฯ) อย่างต่อเนื่อง
โดยหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้น 88% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือระยะสั้น (ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และสัญญากู้เงินระยะสั้น) ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาพคล่อง และความต้องการของนักลงทุนในช่วงที่ระดมทุน ซึ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้มีการใช้เครื่องมือระดมทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 114 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ
จึงเป็นผลให้หนี้กระจุกตัว และทยอยครบกำหนดเป็นจำนวนมากตามสัดส่วนเครื่องมือระดมทุนระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดฯ เป็นต้นมา ส่งผลให้สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับวิธีการในการทำให้สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ภายในสัดส่วนที่กำหนด นั้น กระทรวงการคลังมีแผนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) เพื่อยืดอายุหนี้ที่จะครบกำหนด รวมทั้งธุรกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า (Prefunding) และการชําระหนี้ก่อนครบกำหนด (Prepayment) เพื่อลดภาระที่จะต้องกู้เงินในปริมาณมากในคราวเดียว โดยคำนึงถึงต้นทุนและความเสี่ยง รวมทั้งสภาพคล่องของตลาดในแต่ละช่วงเวลา
ส่วนระยะเวลาในการทำให้สัดส่วนดังกล่าวอยู่ภายในสัดส่วนที่กำหนดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่มีผลต่อสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ได้แก่ 1.สภาวะตลาดการเงินและสภาพคล่องในประเทศที่เอื้ออํานวยต่อการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในเชิงต้นทุนและความเสี่ยง 2.ภาระหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่รัฐบาลรับภาระ (Redemption profile) ซึ่งเป็นผลมาจากการกู้เงินและการปรับโครงสร้างหนี้ในอดีต
3.การก่อหนี้ใหม่ในแต่ละปี ซึ่งประกอบด้วย การกู้เงินเพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งปัจจัยความสำเร็จขึ้นกับความคืบหน้าในการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐตามแผนความต้องการกู้เงิน ระยะปานกลาง 4.การได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชําระหนี้ที่เหมาะสม
อ่านประกอบ :
ปิดงบปี 67‘รายรับ’ต่ำกว่า‘รายจ่าย’ 2 แสนล.-‘นายกฯ’สั่ง‘คลัง-สศช.’เร่งหามาตรการกระตุ้นศก.