‘นายกฯแพทองธาร’ สั่ง ‘คลัง-สภาพัฒน์-พาณิชย์’ เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือผลกระทบมาตรการ ‘กีดกันทางการค้า’ ปิดหีบงบปี 67 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 1.5 หมื่นล้าน-‘รายรับ’ ต่ำกว่า ‘รายจ่าย’ 2.08 แสนล้าน
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เสนอในที่ประชุม ครม. ว่า สืบเนื่องจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งปรากฏว่าในไตรมาสที่ 3/2567 เศรษฐกิจไทยมีอัตราขยายตัว 3%
โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส การส่งออกสินค้าและบริการและการอุปโภคบริโภครัฐบาลขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง นอกจากนี้ มีประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ควรให้ความสำคัญ เช่น การขับเคลื่อนภาคการส่งออกควบคู่กับการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น นั้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณากำหนดแนวทาง/มาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนให้เศรฐกิจไทยขยายตัวมากยิ่งขึ้นในระยะต่อๆ ไป รวมทั้งให้พร้อมรับมือกับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในปี 2568 ต่อไป ซึ่ง ครม.พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ
@ปีงบ 67 เก็บภาษีต่ำเป้า 1.5 หมื่นล.-รายรับต่ำกว่ารายจ่าย 2 แสนล.
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ครม. วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการรับจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ สรุปได้ ดังนี้
1.รายรับ
รายรับของรัฐบาลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายรับจากรายได้แผ่นดินและรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลได้ประมาณการรายรับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,602,000 ล้านบาท รายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,373,609.63 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 228,390.37 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.1 รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน มีการประมาณการรายได้ จำนวน 2,797,000 ล้านบาท และมีการรับรายได้แผ่นดินรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,781,288.66 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 15,711.34 ล้านบาท
1.2 รายรับประเภทเงินกู้เพื่อขดเชยการขาดดุลงบประมาณ มีการประมาณการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 805,000 ล้านบาท และมีการรับเงินกู้รวมทั้งสิ้น จำนวน 592,320.97 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 212,679.03 ล้านบาท
2.รายจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาล ประกอบด้วย รายจ่ายตามงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง โดยรัฐบาลได้ประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,602,000 ล้านบาท รายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาล มีการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,587,932.69 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 14,067.31 ล้านบาท ประกอบด้วย
2.1 รายจ่ายตามงบประมาณ มีการประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณ จำนวน 3,394,899.07 ล้านบาท มีรายจ่ายตามงบประมาณ จำนวน 3,105,591.16 ล้านบาท และเงินกันไว้เบิกเหลือมปี จำนวน 275,240.74 ล้านบาท รวมรายจ่ายตามงบประมาณและเงินกันกันไว้เบิกเหลื่อมปีรวมทั้งสิน จำนวน 3,380,831.90 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 14,067.17 ล้านบาท
2.2 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีการประมาณการรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 88,739.80 ล้านบาท มีรายจ่ายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เท่ากับประมาณการ จำนวน 88,739.80 ล้านบาท
2.3 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง มีการประมาณการรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,361.13 ล้านบาท และมีรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,360.99 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 0.14 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (เงินงบประมาณปีก่อน) รัฐบาลมีเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 160,130.75 ล้านบาท มีรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลือมปี จำนวน 146,429.73 ล้านบาท ต่ำกว่าเงินที่กันไว้ จำนวน 13,701.02 ล้านบาท
ขณะที่รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง นั้น รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงหลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 122,985.33 ล้านบาท เป็นการจ่ายเงินคงคลังตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 (1) รายการจ่ายที่มีการอนุญาตให้จ่ายเงินได้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่เงินที่ตั้งไว้มีจำนวนไม่พอจ่ายและพฤติการณ์เกิดขึ้นให้มีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว
ด้านดุลการรับ-จ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบรายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,373,609.63 ล้านบาท กับรายจ่ายที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,582,107.01ล้านบาท (ประกอบด้วย รายจ่ายตามงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (เงินงบประมาณปีก่อน) และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง) จึงทำให้รายรับต่ำกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 208,497.38 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีข้อสังเกตต่อรายงานการรับจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า
1.ด้านรายรับ ประเภทรายได้แผ่นดิน รัฐบาลควรปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีการเติบโตสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
รวมถึงการร่วมลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) เพื่อลดการลงทุนจากต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล พลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น รวมทั้งยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ การลดภาษีหรือให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
2.ด้านรายจ่าย นอกเหนือจากการกำหนดมาตรการการคลังด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ในการติดตามและเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลควรยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้รับบริการ
รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และการก่อหนี้ผูกพันให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้เงินงบประมาณถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและความเสมอภาคและสังคมให้กับประชาชนและเกิดการขับเคลื่อนในภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง