ในจดหมายลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 ปิโตรเอกวาดอร์ขอให้ลูกค้าจากประเทศจีนได้แก่ Unipec Asia และ Petrochina International รวมไปถึง บมจ.ปตท.จากประเทศไทยจัดทำคำให้การยืนยันว่าพวกเขาและพนักงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับบริษัทกุนโวร์ที่มีที่ตั้งอยู่ ณ เมืองเจนีวา
จากกรณีสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างในรายงานข่าวว่า บริษัทค้าน้ำมันระดับโลก 3 แห่ง ได้แก่ Gunvor Group, Vitol Group และ Trafigura Group ได้ใช้นายหน้า (Front) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน ,ประเทศไทย ,ประเทศโอมาน และประเทศอุรุกวัย เป็นบริษัทนายหน้า ในการทำข้อตกลงซื้อขายน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับประเทศเอกวาดอร์ในช่วงปี 2553 ซึ่งมีการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเอกวาดอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงซื้อขายน้ำมันฯ
บลูมเบิร์ก ยังอ้างในรายงานข่าวว่า นายนิลเซ่น อาเรียส อดีตผู้จัดการการค้าระหว่างประเทศ Petroecuador รัฐวิสาหกิจของเอกวาดอร์ และนายอันโตนิโอ เปเร ที่ปรึกษาเอกชน ซึ่งยอมรับว่าได้จัดการเรื่องการจ่ายสินบนให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ให้การต่อศาลรัฐนิวยอร์ก ว่า Gunvor Group มีการใช้งานบริษัท Unipec ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Sinopec รัฐวิสาหกิจพลังงานของจีน และใช้งาน บมจ.ปตท. จากไทย เป็นนายหน้าผู้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันด้วย
รายงานข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังระบุด้วยว่า โฆษกของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว เช่น Ancap ,Sinopec และ บมจ.ปตท. รวมถึงโฆษกของบริษัทน้ำมัน Noble และ Petrodec ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น หรือไม่ได้ตอบกลับคำขอชี้แจงของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (อ่านประกอบ : อ้างคำให้การ 3 บ.น้ำมันยักษ์ใช้ ปตท.-รัฐวิสาหกิจ ตปท.เป็นนายหน้าในคดีสัญญาทุจริตกับเอกวาดอร์)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท Gunvor Group หรือว่าบริษัทกุนโวร์ กรุ๊ป มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
บริษัทกุนโวร์ กรุ๊ป เป็นบริษัทซื้อขายโภคภัณฑ์พลังงานข้ามชาติที่จดทะเบียนบนเกาะไซปรัส มีสำนักงานหลักอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานย่อยใรประเทศสิงคโปร์,เมืองฮูสตัน สหรัฐอเมริกา,เมืองแสตมฟอร์ด และกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดำเนินการค้าด้านการขนส่งการจัดเก็บและการเพิ่มประสิทธิภาพปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งมีการลงทุนในคลังน้ำมันและท่าเรือ
กุนโวร์มีบริษัทย่อยอีกแห่งชื่อว่าบริษัท Nyera ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 เพื่อลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน ดำเนินการโดยนายเฟรดริก ทอร์นควิสต์
โดยปัจจุบันบริษัทกุนโวร์ถือเป็นบริษัทค้าน้ำมันดิบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกรองจากบริษัท Glencore, Vitol และ Trafigura
@โครงสร้างช่วงก่อตั้งบริษัท
บริษัทแห่งนี้ถูกก่อตั้งมาจากความร่วมมือกันระหว่างนายเกนนาดี ทิมเชนโก (Gennady Timchenko) และนายทอร์บเยิร์น ทอร์นวิส (Torbjörn Törnqvist) โดยทั้งสองคนทำงานร่วมกันในปี 2540 และก่อตั้งกุนโวร์ในปี 2543 โดยชื่อบริษัทกุนโวร์ก็มาจากชื่อแม่ของนายทอร์นวิส และต่อมาในปี 2546 บริษัทก็ได้ทำกิจการในเมืองเจนีวา
นายเกนนาดี ทิมเชนโก (Gennady Timchenko)
นายทอร์บเยิร์น ทอร์นวิส (Torbjörn Törnqvist)
จากรายงานข่าวที่สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์มระบุว่าบริษัทนี้มุ่งเน้นไปที่การขนส่งน้ำมันจากรัสเซียผ่านไปยังเอสโตเนีย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของสองผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีในธุรกิจน้ำมัน ในตลาดรัสเซียและในด้านโลจิสติกส์การขนส่ง
โดยนายทอร์บเยิร์น ทอร์นวิส เกิดเมื่อปี 2496 ที่ประเทศสวีเดน มีประสบการณ์การค้าน้ำมันทั่วโลกกว่า 20 ปี นับตั้งแต่เริ่มอาชีพที่บริษัท BP
ขณะที่นายเกเนดี้ ทิมโมเชนโก เป็นชาวฟินแลนด์ที่เกิดในสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2495 มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันกว่า 20 ปี เริ่มตั้งแต่ทำงานที่โรงกลั่นน้ำมัน Kirishi ในช่วงนโยบายเปเรสตรอยกา (นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโซเวียต) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงกลั่นแรกๆที่ส่งน้ำมันไปยังยุโรปหลังโซเวียตล่มสลาย
ในปี 2550 มูลค่าการซื้อขายของ Gunvor อยู่ที่ 43 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยมีการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 83 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านตันในปี 2549) ในปี 2010 ผลประกอบการของ บริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (2,318,940,000,000 บาท) เพิ่มขึ้นจาก 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2009 โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 104 ล้านตัน
@ความเป็นเจ้าของบริษัท
โครงสร้างบริษัทในปัจจุบันนั้นพบว่านายทอร์นวิสถือหุ้นบริษัทอยู่ที่ 88 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นที่เหลือเป็นของนพนักงานบริษัท โดยก่อนปี 2557 มีการกล่าวกันว่าผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสองคนถือหุ้นในจํานวนที่เท่ากันโดยยอดคงเหลือจะถูกเก็บไว้ในความในกองทุนทรัสต์เพื่อผลประโยชน์ลูกจ้าง
ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค.2557 นายทิมโมเชนโกกลายเป็นบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาของการยึดแหลมไครเมียด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่านายปูตินได้มีการลงทุนในบบริษัทกุนโวร์ผ่านนายทิมโมเชนโก เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนของบริษัทกุนโวร์
หลังจากกรณือื้อฉาว นายทอร์นสินได้เข้าซื้อหุ้นจากนายทิมโมเชนโก้ 43.5 เปอร์เซ็นต์และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทอยู่ที่ 87 เปอร์เซ็นต์ในช่วงวันที่ 19 มี.ค.2557
นายทิโมเชนโกอธิบายการขายหุ้นดังกล่าวว่าเพื่อรับมือกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและเพื่อรองรับให้การดำเนินงานของกุนโวร์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก
@กรณีข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยกับเอกวาดอร์
สำหรับกรณีข้อกล่าวหาว่า บมจ.ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจนายหน้าให้กับบริษัทกุนโวร์นั้น พบว่าเคยมีข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ระบุว่ารัฐวิสาหกิจปิโตรเอกวาดอร์ได้มีการร้องขอให้ลูกค้าน้ำมันที่เป็นรัฐวิสาหกิจในเอเชียจำนวนสามรายแสดงหลักฐานให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีสินบนที่เชื่อมโยงกับบริษัทกุนโวร์ กรุ๊ป
คำขอของปิโตรเอกวาดอร์มีขึ้นหลังจากที่เมื่อต้นเดือน เม.ย.2564 อดีตพนักงานบริษัทกุนโวร์สารภาพผิดในข้อหาของทางสหรัฐฯ ที่ระบุว่ากุนโวร์มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่เอกวาดอร์เพื่อจะให้ได้ชนะในสัญญาธุรกิจกับปิโตรเอกวาดอร์
ในจดหมายลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 ปิโตรเอกวาดอร์ขอให้ลูกค้าจากประเทศจีนได้แก่ Unipec Asia และ Petrochina International รวมไปถึง บมจ.ปตท.จากประเทศไทยจัดทำคำให้การยืนยันว่าพวกเขาและพนักงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับบริษัทกุนโวร์ที่มีที่ตั้งอยู่ ณ เมืองเจนีวา
“จนกว่า บริษัทเหล่านี้ จะส่งข้อมูลที่ถูกร้องขอพวกเขาจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประมูลระหว่างประเทศสําหรับการซื้อและขายไฮโดรคาร์บอนที่ดําเนินการโดยแผนกการค้าระหว่างประเทศของ บริษัท มหาชนแห่งนี้” เอกสารของปิโตรเอกวาดอร์ระบุ
แต่ก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าสาธารณะว่า บมจ.ปตท.และบริษัทจากประเทศจีนได้ทำจดหมายชี้แจงไปยังปิโตรเอกวาดอร์อย่างไรบ้าง
จนกระทั่งมีข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเกิดขึ้น ทางด้านของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. ระหว่างวันที่ 10 ก.ย.2554-18 ก.ย.2558 จึงได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่าปตท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของกุนโวร์แต่อย่างใด เพราะการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันดังกล่าว เป็นการทำสัญญาระหว่าง ปตท. กับรัฐวิสาหกิจของเอกวาดอร์ ส่วนกรณีของจีน และโอมาน ก็เป็นการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจของเอกวาดอร์เช่นกัน เป็นเพียงการซื้อตามคำแนะนำเท่านั้น อีกทั้งคณะกรรมการ ปตท. ได้มีการตรวจสอบ มีการวิจารณ์กันในบอร์ดหลายครั้ง และมีจ้างคนนอกเข้ามาตรวจสอบด้วย