"...เมื่อมีข้อสงสัยเกิดขึ้นแทนที่จะทําหนังสือหารือไปยังส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบหรือกํากับดูแลเพื่อขอความเห็นและคําแนะนําได้แก่กรมบัญชีกลางและสํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือไม่ก็ควรระงับไม่ดําเนินการต่อไป แต่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นและกลั่นกรองงานเสนอจําเลยดังกล่าวกลับแก้ไขปรับเปลี่ยนถ้อยคําในบันทึก 2 ครั้ง แล้วเสนอบันทึกทั้ง 2 ฉบับ ให้จําเลยลงลายมือชื่ออนุมัติ ซึ่งการเดินทางไปร่วมในงานศพมารดาของนายสมชายประธานกรรมการนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่อาจถือได้ว่า เป็นกิจการของธนาคารแต่อย่างใด..."
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายมงคล ลีลาธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (ซีอีโอ)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กรณีการอนุมัติให้ใช้งบประมาณของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายในการร่วมงานศพมารดาประธานกรรมการ ธพว. ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2560 ณ วัดแสนหลวง ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า นายมงคล ลีลาธรรม มีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท
พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับจำเลยได้แก้ไขเยียวยาโดยดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องคืนเงินทั้งหมดให้แก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามป.อ. มาตรา 29, 30
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาคดีนี้ฉบับเต็ม ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พบว่ามีระบุจุดเริ่มต้นคดี รวมไปถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ และข้อต่อสู้ฝ่ายจำเลย ที่มีความสำคัญหลายประการ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้บริหารระดับสูงในแวดวงธนาคารของรัฐ ไม่ให้กระทำความผิดซ้ำรอยอีก จึงนำรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม มานำเสนอ ณ ที่นี้
คดีนี้ อัยการเป็นฝ่ายโจทก์ (ฟ้องแทน ป.ป.ช.) นายมงคล ลีลาธรรม เป็นจำเลย
เรื่อง ความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
@ คำฟ้องโจทก์
โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 6 และเป็นองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
ขณะเกิดเหตุจําเลยทําสัญญารับจ้างกับคณะกรรมการของธนาคาร เพื่อทํางานในตําแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2562 โดยจําเลยได้รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนอย่างอื่นจากธนาคาร
จําเลยจึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็น "พนักงาน" ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3
จําเลยมีอํานาจหน้าที่ดําเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบาย และข้อบังคับ รวมทั้งกิจการอื่นที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารกําหนด เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของธนาคารและมีอํานาจหน้าที่ตามข้อบังคับของธนาคารในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งเป็นผู้แทนของธนาคาร และเพื่อการนี้ จําเลยจะมอบอํานาจให้พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารกระทําการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคารตามมาตรา 25 , 26 และ 27 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และตามสัญญาจ้างลงวันที่ 30 ธันวาคม 2558
จําเลยมีอํานาจอนุมัติให้พนักงานของธนาคารเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ และอนุมัติให้บุคคลที่มิได้เป็นพนักงานของธนาคารแต่มีความจําเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติงานด้วย รวมทั้งอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานตามคําสั่งธนาคาร ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ
จําเลย จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@ มงคล ลีลาธรรม
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 จําเลยทําหนังสือเชิญประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิของธนาคาร เพื่อเข้าร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพมารดานายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธนาคาร ณ วัดสวนหลวง ตําบลยางเนิ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 23 มกราคม 2560 และงานพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 26 มกราคม 2560 และวันดังกล่าวจําเลยอนุมัติให้ประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สํานักกรรมการผู้จัดการรวมทั้งตัวจําเลยด้วย รวม 19 คน เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 มกราคม 2560 เพื่อเข้าร่วมงานสวดพระอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพนางอรุณี หาญหิรัญ โดยเบิกค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของธนาคารผู้เสียหาย
ต่อมาระหว่าง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2560 หลังจากการเดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพดังกล่าวข้างต้น
@ ชี้ไม่ใช่การปฏิบัติงานของธนาคารผู้เสียหาย
จําเลยอนุมัติเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร และเครื่องดื่ม ให้กับบุคคลที่ไปร่วมงานรวมทั้งตัวจําเลยรวม 19 คน และค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ค่าทําบุญ ค่าพิธีสงฆ์ ค่าถวายปัจจัยพระสงฆ์ รวมเป็นเงิน 208,149.50 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ไม่ใช่การปฏิบัติงานของธนาคารผู้เสียหาย
การกระทําของจําเลยจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายหรือผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ภายหลังบุคคลผู้ไปร่วมงานทั้ง 19 คน รวมทั้งจําเลยคืนเงินที่เบิกไปโดยไม่มีสิทธิให้แก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว
เหตุเกิดที่แขวงสามเสนในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
จําเลยให้การปฏิเสธ
@ พิเคราะห์พยานหลักฐาน
พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนประกอบสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้เสียหายเป็นองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
ขณะเกิดเหตุมีจําเลยดํารงตําแหน่งกรรมการผู้จัดการ มีอํานาจหน้าที่ดําเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบายและข้อบังคับ รวมทั้งกิจการอื่นที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารกําหนด เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร และมีอํานาจหน้าที่ตามข้อบังคับของธนาคารในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกรวมทั้งเป็นผู้แทนของธนาคาร และเพื่อการนี้จําเลยสามารถมอบอํานาจให้พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารกระทําการแทนจําเลยเฉพาะในกิจการใดได้ตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้จําเลยยังมีอํานาจอนุมัติให้พนักงานของธนาคารเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ และอนุมัติให้บุคคลที่มิได้เป็นพนักงานของธนาคารแต่มีความจําเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติงานด้วย และอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานตามคําสั่งธนาคาร ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในและต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 ขณะที่นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธนาคาร จําเลย นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ ผู้อํานวยการสํานักกรรมการผู้จัดการ และนางพรณิชา บัวศิริ ผู้จัดการอาวุโส ส่วนงานเลขานุการคณะกรรมการธนาคารสํานักกรรมการผู้จัดการ กําลังตรวจเยี่ยมกิจการของลูกค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายสมชายได้รับแจ้งว่ามารดาของตนเสียชีวิต
จําเลยจึงยกเลิกภารกิจทั้งหมดและสั่งการด้วยวาจาให้นายก้านธรรมและนางพรณิชาเชิญกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับกลางพร้อมทั้งประสานงานเสนอรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะไปร่วมงาน
ต่อจากนั้นนางพรณิชาได้สั่งการให้นางจุฑาทิพย์ สุภาพ ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทําบันทึกขออนุมัติเดินทางได้แก่ บันทึกภายในเลขที่ สบส 0144/2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560 เรื่อง ขออนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายให้กับประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ธพว. ที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ ไปจังหวัดเชียงใหม่ในระหว่างวันที่ 23 - 26 มกราคม 2560 และบันทึกภายใน (ไม่ระบุเลขที่) /2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560 เรื่อง ขออนุมัติเดินทางผู้บริหาร ธพว. และเจ้าหน้าที่สํานักกรรมการผู้จัดการไปจังหวัดเชียงใหม่ในระหว่างวันที่ 23 - 26 มกราคม 2560 ให้แก่บุคคลที่เดินทางไปร่วมงานศพดังกล่าวทั้งหมดรวมทั้งตัวจำเลย 19 คน
นายก้านธรรม เป็นผู้ลงลายมือชื่อในบันทึกทั้ง 2 ฉบับ เสนอตามสายงานผ่านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และจําเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุมัติ โดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ตามคําสั่งธนาคาร ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในและต่างประเทศ รวมเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าพาหนะค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมค่าทําบุญ ค่าพิธีสงฆ์ และค่าถวายปัจจัยพระสงฆ์ เป็นเงิน 208,149.50 บาท ปรากฏตามใบเบิก -ค่าใช้จ่าย/เงินทดรองจ่ายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
@ สตง.เข้าตรวจสอบ
ต่อมาสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือ ที่ ตผ 0023/4299 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ถึงประธานกรรมการธนาคารแจ้งว่า ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าพาหนะค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในคําสั่งธนาคารที่ 238/2553 และไม่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ค่าทําบุญ ค่าพิธีสงฆ์ ค่าถวายปัจจัย จากเงินงบประมาณของธนาคาร จึงขอให้ธนาคารเรียกเงินคืนจากผู้ที่เบิกเงินไปโดยไม่มีสิทธิรวมเป็นเงิน 184,377 บาท นําส่งคืนธนาคารและให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้เกี่ยวข้อง
ธนาคารจึงตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผู้เกี่ยวข้องทั้ง 19 คน คืนเงินที่เบิกไปทั้งหมดแก่ธนาคารรวมเป็นเงิน 196,145.50 บาท และมีหนังสือกําชับตักเตือนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 5 ราย ให้มีความรอบคอบในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ปรากฏตามหนังสือ รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยมีคําสั่งอนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของธนาคารตามฟ้องโจทก์ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารหรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ และการกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 หรือไม่ ซึ่งประเด็นทั้งสองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจึงเห็นควรที่จะได้วินิจฉัยไปพร้อมกัน ดังนี้
@ ข้อต่อสู้ของจำเลย เชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถดําเนินการได้
เมื่อคดีได้ความตามทางไต่สวนดังกล่าวข้างต้น แม้จําเลยให้การต่อสู้และเบิกความว่า จําเลยมิได้มีเจตนากระทําความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่จําเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดขวัญและกําลังใจแก่บุคลากรในองค์กร ตามหลักธรรมาภิบาลที่จําเลยยึดถือมาโดยตลอด และจําเลยประสงค์ให้บุคลากรมีความรักและผูกพันต่อองค์กรและเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามของสังคมไทย จึงเชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถดําเนินการได้
แต่เมื่อสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถดําเนินการได้ ให้เรียกเงินดังกล่าวคืนและตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง จําเลยก็สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องคําเนินการจนเรียบร้อยก็ตาม
เห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานโจทก์ปากนายก้านธรรมว่า ในการทําบันทึกขออนุมัติเบิกเงินดังกล่าวตนเองมีข้อสงสัยและท้วงติงว่าไม่น่าจะทําได้ แต่มีผู้เสนอว่า ตามคําสั่งธนาคาร ที่ 238/2553 มีข้อความระบุว่า กรณีนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่คําสั่งกําหนดไว้แล้วอํานาจหน้าที่ในการอนุมัติเป็นของกรรมการผู้จัดการ จึงลงลายมือชื่อในบันทึกขออนุมัติเบิกเงินทั้ง 2 ฉบับ
นอกจากนี้ในการทําบันทึกที่ สบส 0144/2560 ก่อนเสนอจําเลยลงลายมือชื่ออนุมัตินั้น ยังมีการปรึกษาหารือกันระหว่างตนเอง นางสาวนารถนารี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นายสัมฤทธิ์ (ไม่ได้ระบุนามสกุล) ที่ปรึกษากฎหมายของจ๋าเลย และนายเสรี (ไม่ได้ระบุนามสกุล) ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีตําแหน่งเป็นผู้อํานวยการฝ่ายกฎหมายหรือผู้อํานวยการฝ่ายคดีของธนาคารในขณะนั้น และมีการปรับแก้ไขข้อความในบันทึก 2 ครั้ง โดยไม่ได้มีหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลางและสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินก่อนแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า มีข้อสงสัยเกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นและกลั่นกรองงานเสนอจําเลยว่า การเดินทางไปร่วมงานศพมารดาของนายสมชายประธานกรรมการธนาคารนั้น ถือเป็นการเดินทางไปปฏิบัติงานในกิจการของธนาคารตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในคําสั่งธนาคาร ที่ 238/2553 อันจะสามารถนําค่าจ่ายต่าง ๆ ไปเบิกจากเงินงบประมาณของธนาคารได้หรือไม่
เมื่อมีข้อสงสัยเกิดขึ้นแทนที่จะทําหนังสือหารือไปยังส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบหรือกํากับดูแลเพื่อขอความเห็นและคําแนะนําได้แก่กรมบัญชีกลางและสํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือไม่ก็ควรระงับไม่ดําเนินการต่อไป
แต่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นและกลั่นกรองงานเสนอจําเลยดังกล่าวกลับแก้ไขปรับเปลี่ยนถ้อยคําในบันทึก 2 ครั้ง แล้วเสนอบันทึกทั้ง 2 ฉบับ ให้จําเลยลงลายมือชื่ออนุมัติ ซึ่งการเดินทางไปร่วมในงานศพมารดาของนายสมชายประธานกรรมการนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่อาจถือได้ว่า เป็นกิจการของธนาคารแต่อย่างใด
@ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.
ดังนี้ การที่จําเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการธนาคารลงลายมือชื่อในบันทึกทั้ง 2 ฉบับ อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินดังกล่าวจากเงินงบประมาณของธนาคารจึงเป็นไปโดยไม่ชอบถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ขณะเกิดเหตุจําเลยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์การของรัฐ จําเลยจึงมีฐานะเป็นพนักงานกระทําความผิดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
แต่กรณีไม่ถึงกับเป็นเรื่องร้ายแรงดังจะเห็นได้จากการที่สํานักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการไต่สวนต่อไป เพียงแต่ได้มีหนังสือแจ้งประธานกรรมการธนาคารฯ ให้ดําเนินการเรียกเงินคืนจากผู้ที่เบิกไปและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นการภายในเท่านั้น
@ ผลคำพิพากษา
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จําคุก 5 ปี และปรับ 12,000 บาท
ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท
พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน ประกอบกับจําเลยได้แก้ไขเยียวยาโดยดําเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องคืนเงินทั้งหมดให้แก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว
โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 /
***********
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการลงประชุมมติครั้งที่ 128/2566 วันที่ 6 ธ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
ขณะที่ นายมงคล ลีลาธรรม ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า นายมงคล ยืนอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ต่อหรือไม่
ส่วนนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบสายงานพัฒนาผู้ประกอบการ และปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานช่วยบริหาร (ปัจจุบันนางสาวนารถนารี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.) และ นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ/ผู้เชี่ยวชาญ สำนักกรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่อำนวยงานประชุมคณะกรรมการธนาคาร ปฏิบัติงานด้านสารบรรณ และกลั่นกรองหนังสือจากหน่วยงานภายในภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน
ในชั้นการไต่สวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เท่านั้น
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน
- ป.ป.ช.แถลงชี้มูลเพียบ-ฟันอดีต กก.ผจก.ธพว. 2 คดี-อนุมัติงบ จัดงานศพแม่ ปธ.ธนาคาร (1)
- สตง.สั่งเรียกเงินคืน1.8 แสน! เบื้องลึกคดีจัดงานศพแม่ ปธ.ธพว.ก่อน ป.ป.ช.ชี้มูล (2)
- โชว์หนังสือ สตง.ไล่บี้ ธพว.คืนเงิน1.8 แสน ชนวนเหตุ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจัดงานศพแม่ปธ.แบงก์ (3)
- ไม่ได้ทำโดยพลการ! 'นารถนารี'ยันขออนุมัติงบจัดงานศพแม่ปธ.ธพว.มีขั้นตอน-ไร้ชื่อถูกชี้มูล (4)
- เป็นทางการ! ป.ป.ช.ชี้มูล3ราย คดีงานศพแม่ปธ.ธพว.'นารถนารี' โดนด้วยผิดวินัยไม่ร้ายแรง (5)
- ล้วงลึกผลสอบคดีอนุมัติงบจัดงานศพแม่ปธ.ธพว. (1) โดนร้องเบิกค่าของชำร่วยร่มพับ-ยาดมด้วย (6)
- สตง.เคลียร์แล้ว? เบื้องลึก 'ร่มพับ' งานศพแม่ปธ.ธพว.-นารถนารี แจงไม่ได้ใช้เงินธนาคารซื้อ (7)
- ผลสอบคดีงานศพแม่ปธ.ธพว.(2)'มงคล ลีลาธรรม'เข้าใจโดยสุจริต-แสดงอัธยาศัยดีงาม แต่ถูกชี้มูล? (8)
- ล้วงผลสอบคดีจัดงานศพแม่ปธ.ธพว. (3) ไขปม ‘นารถนารี’ ไฉนถูกชี้มูล (แค่) วินัยไม่ร้ายแรง (9)