"...นายมงคล ลีลาธรรม ชี้แจง ป.ป.ช.โดยกล่าวอ้างว่า เข้าใจโดยสุจริตว่าการเข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของธนาคาร เนื่องจากถือเป็นการแสดงความเสียใจและให้เกียรติต่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธพว. อันเป็นอัธยาศัยอันดีงามทางสังคมที่ผู้ใต้บังคับบัญชาในองค์กรพึงปฏิบัติ และการอนุมัติให้เข้าร่วมงานรวมทั้งเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปตามคำสั่ง ธพว.ที่ 238/2553 ..."
"คดีจัดงานศพแม่ปธ.ธพว." หรือชื่อเป็นทางการว่า "คดีการอนุมัติให้ใช้งบประมาณของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายในการร่วมงานศพมารดาประธานกรรมการ ธพว. ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2560 ณ วัดแสนหลวง ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต"
เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปลายปี 2565 ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย นายมงคล ลีลาธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (ซีอีโอ)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ว่า นายมงคล ลีลาธรรม มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่ธนาคาร ฐานจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยว่าด้วย การบริหารงานบุคคลเงินตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ.2553 ข้อ 29 (1) (2) และ (10)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า นายมงคล ลีลาธรรม มีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามป.อ. มาตรา 78
คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท
พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับจำเลยได้แก้ไขเยียวยาโดยดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องคืนเงินทั้งหมดให้แก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามป.อ. มาตรา 29, 30
สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติการชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ราย คือ
1. นายมงคล ลีลาธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (ซีอีโอ)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
2. นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบสายงานพัฒนาผู้ประกอบการ และปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานช่วยบริหาร (ปัจจุบันนางสาวนารถนารี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.)
3. นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ/ผู้เชี่ยวชาญ สำนักกรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่อำนวยงานประชุมคณะกรรมการธนาคาร ปฏิบัติงานด้านสารบรรณ และกลั่นกรองหนังสือจากหน่วยงานภายในภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ดี ในส่วนนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ และ นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากเห็นว่า ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป แต่การกระทำของบุคคลทั้ง 2 มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติงานตามนโยบาย ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศแบบแผน ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณ ตลอดจนวิธีการของธนาคารโดยเคร่งครัด ตามข้อบังคับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล เงินตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ.2553 ข้อ 27 (4)
ส่วนที่มาคดี มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ พนักงาน ธพว.ยื่นร้องเรียน สตง.
จุดเริ่มต้นการตรวจสอบคดีนี้ เป็นผลมาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 6 มีนาคม 2560 จากผู้ร้องเรียนที่ใช้ชื่อว่า "พนักงาน ธพว."ร้องเรียนกรณีการเบียดบังงบประมาณของ ธพว. ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว 2 กรณีคือ
1. กรณีเบิกงบประมาณของธพว. เพื่อชำระค่าของชำร่วยงานศพมารดาของประธานกรรมการ
2. กรณีเดินทางไปร่วมงานศพในเวลาทำงานและเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางจาก ธพว.
ผู้ว่าฯ สตง. ในขณะนั้น ได้สั่งการให้ สำนักตรวจสอบการเงินที่ 1 (สตส. 1) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกทั้ง 2 กรณี
โดยกรณีการเดินทางไปร่วมงานศพในเวลาทำงานและเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางจาก ธพว.นั้น มีข้อมูลปรากฏว่า ในวันที่ 21 มกราคม 2560 ขณะตรวจเยี่ยมกิจการลูกค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของมารดาประธานกรรมการ ธพว. ในขณะนั้น
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ได้แจ้งยกเลิกภารกิจที่เหลือทั้งหมด และสั่งการให้ นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ ผู้อำนวยการ/ผู้เชี่ยวชาญ สำนักกรรมการผู้จัดการ และนางพรณิชา บัวศิริ ดำเนินการเชิญกรรมการและผู้บริหารธนาคาร เข้าร่วมงานสวดอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพ รวมทั้งจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการขออนุมัติเดินทางให้กรรมการและผู้บริหาร และดูแลอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมตั๋วเครื่องบินและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางไปร่วมงาน
โดยนายมงคล ลีลาธรรม เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ ธพว. ที่จะให้ร่วมเดินทางไปร่วมงานด้วยตนเอง และมอบหมายพนักงาน ธพว. สำนักกรรมการผู้จัดการ ไปอำนวยความสะดวกกรรมการและผู้บริหารที่ไปร่วมงานด้วย กำหนดการงานสวดอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพ มีกำหนดจัดงานในวันที่ 23-26 มกราคม 2560 ณ วัดแสนหลวง ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมา นายมงคล ลีลาธรรม ลงนามในบันทึกภายใน ที่ ผจส 146(ว)/2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560 เชิญประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ ธพว. เพื่อเข้าร่วมงานสวดอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพ หลังจากมีการเดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรม วันที่ 23 มกราคม 2560 แล้ว
นายมงคล ลีลาธรรม ลงนามอนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ไปร่วมงาน รวม 22 ราย ตามบันทึกภายในเลขที่ สบส 0144/2560 และบันทึกภายใน (ไม่ระบุเลขที่) /2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ที่นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ เสนอผ่านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โดยการอนุมัติเดินทางและอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานดังกล่าว มีการอ้างอำนาจตามคำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ
หลังจากเสร็จสิ้นการร่วมงานสวดอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพมารดาของประธานกรรมการ ธพว. แล้ว นายมงคล ลีลาธรรม อนุมัติจ่ายเงินค่าใช้จ่ายของบุคคลผู้ไปร่วมงานศพดังกล่าว รวม 19 ราย และนายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ อนุมัติค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพร่วมงานสวดอภิธรรม
@ ผลการตรวจสอบ สตง.
สตส. 1 ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น โดยมีผลการตรวจสอบทั้ง 2 กรณีดังนี้
1. การจัดซื้อร่มพับสีดำและยาดมซึ่งเป็นทรัพย์สินของ ธพว. เพื่อเป็นของชำร่วยงานศพ ธพว. ได้จัดส่งเอกสารและรูปภาพชี้แจงว่า ธพว. ไม่ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวมาใช้เป็นของชำร่วยงานศพแต่อย่างใด
2. การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานศพมารดาของประธานกรรมการ ธพว. พบว่าธพว. มีการเบิกค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของ ธพว. เป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นเงิน 143,197 บาท และค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ค่าทำบุญ ค่าพิธีสงฆ์ ค่าถวายปัจจัยพระสงฆ์ เป็นเงิน 25,000 บาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของ ธพว.
ขณะที่คำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ นั้น ให้สิทธิเฉพาะพนักงาน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ และกรรมการผู้จัดการเท่านั้น ที่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่าย อีกทั้งจะต้องเป็นการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามภาระหน้าที่การปฏิบัติงานของ ธพว.
แต่การไปร่วมงานศพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่การปฏิบัติงานตามหน้าที่หรือภารกิจของ ธพว.
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปร่วมงานศพจึงไม่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมศพ
สตส. 1 จึงเห็นควรแจ้งประธานกรรมการ ธพว. ให้ดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้ที่เบิกเงินไปโดยไม่มีสิทธิเบิก รวมเป็นเงิน 184,377 บาท และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงเห็นควรส่งเรื่องให้สำนักตรวจสอบที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสืบสวนต่อไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ สตง. ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อพิจารณาตรวจสอบสืบสวน ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าฯ สตง. เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ขอเอกสารหลักฐาน และขอเชิญพนักงานไปให้ถ้อยคำเรื่องดังกล่าว เมื่อเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบสอบสวน ไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงเป็นเหตุให้สตง. ยุติการตรวจสอบสืบสวน
ขณะที่ ผู้ว่าฯ สตง. ในขณะนั้น ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ประธานกรรมการ ธพว. ทราบ ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ ตผ 0023/4299 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานศพมารดาของประธานกรรมการ ธพว. ในระหว่างวันที่ 23 -26 มกราคม 2560 โดยให้ ธพว. ดำเนินการ ดังนี้
หนึ่ง. เรียกเงินคืนจากผู้ที่เบิกเงินไปโดยไม่มีสิทธิรวมเป็นเงิน 184,377 บาท นำส่งคืน ธพว.
สอง. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว หากพบว่ามีการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้เกี่ยวข้องการดำเนินการของ ธพว.
ต่อมา ธพว. ได้แจ้งผลการดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ให้สตง. ทราบ โดยรายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีความเห็นสอดคล้องกับความเห็นของ สตง. ว่า การเสนอและอนุมัติในการเดินทางไปร่วมงานศพดังกล่าวไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจของ ธพว. ซึ่งผู้บริหารและพนักงาน ธพว. ทั้ง 19 ราย ที่ได้เดินทางไปร่วมงานศพดังกล่าวได้คืนเงินธนาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายมงคล ลีลาธรรม ว่า เป็นกรณีใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานสั่งการ นายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ และเจ้าหน้าที่สำนักกรรมการผู้จัดการ ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดำเนินการเกี่ยวกับการทำเรื่องเสนอขออนุมัติให้ประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ธพว. และผู้บริหารของ ธพว. ไปร่วมงานสวดอภิธรรมและงานพระราทานเพลิงศพ มารดาประธานกรรมการ ธพว.ใช้อำนาจอนุมัติให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่พนักงานของ ธพว.ให้เดินทางไปร่วมงานด้วย ตามคำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ลงวันที่ 1 ธ.ค.53 ข้อ 2.16 และใช้อำนาจในการอนุมัติให้พนักงานและบุคคลภายนอกสามารถเดินทางโดยเครื่องบิน ตามคำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ข้อ 2.1.3
ขณะที่ นายมงคล ลีลาธรรม ชี้แจง ป.ป.ช.โดยกล่าวอ้างว่า เข้าใจโดยสุจริตว่าการเข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของธนาคาร เนื่องจากถือเป็นการแสดงความเสียใจและให้เกียรติต่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธพว. อันเป็นอัธยาศัยอันดีงามทางสังคมที่ผู้ใต้บังคับบัญชาในองค์กรพึงปฏิบัติ และการอนุมัติให้เข้าร่วมงานรวมทั้งเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปตามคำสั่ง ธพว.ที่ 238/2553
อย่างไรก็ดี คำชี้แจงดังกล่าว คณะไต่สวน ป.ป.ช. เห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เนื่องจาก นายมงคล ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กร มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารกิจการของ ธพว. ให้เป็นไปตามภารกิจ เป้าประสงค์และเป้าหมายที่คณะกรรมการ ธพว. กำหนดถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของธนาคารในการปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของ ธพว.ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติเงินจากงบประมาณของธนาคาร
จักต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างยิ่งทั้งในการสั่งการด้วยวาจาและการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร
@ มงคล ลีลาธรรม
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงพฤติการณ์สั่งการด้วยวาจาให้สำนักกรรมการผู้จัดการ ดำเนินการทำเรื่องเสนอขออนุมัติเดินทาง นายมงคล ได้พิจารณาลงนามอนุมัติให้เดินทาง และใช้อำนาจตามคำสั่ง ธพว. ที่ 123/2555 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ข้อ 1. อนุมัติเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางดังกล่าว โดยมีเจตนาประสงค์เพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางซึ่งเป็นระดับกรรมการ ธพว. ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตนเอง สามารถเดินทางไปร่วมงานได้โดยไม่ต้องลางาน และสามารถบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานจากงบประมาณของ ธพว. ได้
นายมงคล จึงมีพฤติการณ์ใช้อำนาจหน้าที่กรรมการผู้จัดการ ธพว. แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำ
อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการกระทำดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว
แม้ภายหลังจะปรากฏว่า มีการนำเงินที่เบิกไปจาก ธพว. มาคืนทั้งหมดครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้การกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วกลับไม่เป็นความผิดได้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำผิดตามสัญญาจ้าง ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2558 และเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่ธนาคาร ฐานจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยว่าด้วย การบริหารงานบุคคล เงินตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ.2553
ขณะที่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ธพว. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานต่อคณะกรรมการ ธพว. ในการประชุมครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ซึ่งคณะกรรมการ ธพว.ได้สั่งการให้กำชับตักเตือนผู้บริหารและพนักงานให้มีความรอบคอบในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยออกหนังสือตักเตือนผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตามรายผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยประธานกรรมการ ธพว. เป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว ถึงนายมงคล
กรณีจึงยังไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ.2553 เห็นควรส่งเรื่องให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีการพิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์ ว่า นายมงคล ในฐานะผู้สั่งการเกี่ยวกับการเดินทางไปร่วมงาน โดยอนุมัติการเดินทางและการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรมและงานพระราชทานเพลิงศพมารดาประธานกรรมการ ธพว.ของประธานกรรมการบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ธพว. และพนักงาน ธพว ซึ่งเป็นเรื่องการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ไม่ใช่การปฏิบัติงานตามหน้าที่หรือภารกิจของธนาคาร ธพว จึงไม่อาจเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานดังกล่าว กรณีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งการ การอนุมัติการเดินทางและการเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าว อันจะเกิดความเสียหายต่องบประมาณของ ธพว.
แต่จากการไต่สวนเบื้องต้นรับฟังได้ว่า การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานในลักษณะทำนองตามเรื่องนี้เพิ่งเกิดเป็นกรณีแรก และในขั้นตอนการเสนอเรื่องเพื่อพิจารณา ไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วงหรือท้วงติงแก่ นายมงคล เกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับว่าไม่สามารถที่จะอนุมติให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวได้และในภายหลังนายมงคล และบุคคลที่เบิกเงินไปโดยไม่มีสิทธิ ได้นำเงินส่งคืน ธพว. ตามที่มีการเบิกจ่ายไปโดยมิชอบแล้ว อีกทั้ง เงินค่าใส่ซองทำบุญและเงินค่าอาหารของผู้ไปร่วมงาน นายมงคล ก็เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นคืนแล้วด้วย
จึงยังไม่พอที่จะฟังได้ว่า นายมงคล มีเจตนาโดยทุจริตในเรื่องนี้
@ กรณีนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์
กรณีนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า พฤติการณ์ข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงนามเห็นชอบในบันทึกขออนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายไปร่วมงาน ตามบันทึกภายในเลขที่ สบส 0144/2560 และบันทึกภายใน (ไม่ระบุเลขที่)/2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ตามที่นายก้านธรรม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ไตรบวรรัตน์ เสนอ
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงนางสาวนารถนารี ว่า บันทึกขออนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายไปร่วมงานดังกล่าวเป็นการจัดทำเอกสารขึ้นภายหลังที่มีการเดินทางไปร่วมงานในวันที่ 23 มกราคม 2560 แล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวสามารถกระทำได้ เนื่องจากตามคำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ข้อ 2.2 กำหนดว่า กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนไม่สามารถดำเนินการขออนุมัติเดินทางเป็นลายลักษณ์อักษรได้
ให้โทรศัพท์แจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบและเมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงเดินทางได้
จึงถือว่าการอนุมัติให้เดินทางดังกล่าวมีผลผูกพันสมบูรณ์ตั้งแต่กรรมการผู้จัดการสั่งการให้นายก้านธรรม และเจ้าหน้าที่สำนักกรรมการผู้จัดการ ดำเนินการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน และจัดเตรียมอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทางเข้าร่วมงานแล้ว
ขณะที่ นายมงคล ลีลาธรรม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) เป็นผู้พิจารณารายชื่อบุคคลที่จะมีสิทธิเข้าร่วมงานด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งในระหว่างดำเนินการดังกล่าว นางสาวนารถนารี อยู่ระหว่างการปฏิบัติงานในต่างประเทศ การจัดทำบันทึกขออนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายทั้งสองฉบับข้างต้น เป็นการจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่ง ธพว. ที่ 238/2553 ข้อ 2.2 ตามที่นายมงคล อนุมัติด้วยวาจาไปก่อนหน้าแล้ว
ดังนั้น นางสาวนารถนารี จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติเดินทางดังกล่าว และไม่อาจดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้
ส่วนเหตุที่นางสาวนารถนารี ต้องร่วมเดินทางไปร่วมงานด้วย เนื่องจากนางสาวนารถนารี ได้รับแจ้งว่าให้ร่วมเดินทางไปด้วย เนื่องจากมีประธานกรรมการบริหาร กรรมการธนาคาร และกรรมการผู้จัดการ เดินทางไปเป็นเจ้าภาพในงานสวดอภิธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของนางสาวนารถนารี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักกรรมการผู้จัดการ ในการอำนวยความสะดวก สนับสนุน กรรมการธนาคาร และกรรมการผู้จัดการในการเดินทางนอกสถานที่
ส่วนกรณีที่นางสาวนารถนารี ลงนามในฐานะผู้ตรวจสอบในเอกสารการเบิกจ่ายเงินก็เป็นเพียงการปฏิบัติงานตามขั้นตอนของเบิกจ่ายตามปกติหลังจากที่มีการเดินทางไปร่วมงานตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว โดยเป็นเพียงการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารประกอบการเบิกจ่าย จำนวนเงินและคำสั่งอนุมัติ ก่อนส่งเรื่องไปยังนายมงคล เพื่ออนุมัติ และส่งเรื่องต่อไปยังฝ่ายบัญชีเพื่อเบิกจ่ายเงิน
แต่ก่อนหน้าที่นางสาวนารถนารี จะลงนามในเอกสารการเบิกจ่ายเงินทั้งสามครั้งดังกล่าว ก็มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินจากการเข้าร่วมงานดังกล่าวไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งการลงนามในฐานะผู้ตรวจสอบดังกล่าวก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการอนุมัติที่ไม่ชอบของนายมงคล
กรณีนี้ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะระบุได้ว่า นางสาวนารถนารี มีพฤติการณ์ร่วมกันกับนายมงคล ในการลงนามเห็นชอบในบันทึกขออนุมัติเดินทางและค่าใช้จ่ายไปร่วมงาน โดยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น มีเจตนาประสงค์เพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางและตนเองสามารถเดินทางไปร่วมงานได้ไม่ต้องลางานและสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงาน จากงบประมาณของ ธพว.
นอกจากนี้ นางสาวนารถนารี ยังไม่มีอำนาจในการพิจาณาอนุมัติเดินทางและเบิกค่าใช้จ่ายให้กับบุคคลเข้าร่วมงาน และเรื่องนี้นายมงคลได้สั่งการด้วยวาจา และมีการอนุมัติให้เดินทางและเบิกค่าใช้จ่ายมาก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ธพว. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานต่อคณะกรรมการ ธพว. ในการประชุมครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ซึ่งคณะกรรมการ ธพว.ได้สั่งการให้กำชับตักเตือนผู้บริหารและพนักงานให้มีความรอบคอบในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยออกหนังสือตักเตือนผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตามรายผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประธานกรรมการ ธพว. เป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว ถึงนางสาวนารถนารี ด้วย
แต่กรณีดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล เงินตอบแหน และค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ.2553 ป.ป.ช.จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
@ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคดีนี้ทั้งหมด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีคำพิพากษาว่า นายมงคล ลีลาธรรม มีความผิดตามกฎหมาย คงจำคุก 1 ปี 4 เดอืน และปรับ 8,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามที่นำเสนอข้อมูลข้างต้นไปแล้ว
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการลงประชุมมติครั้งที่ 128/2566 วันที่ 6 ธ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า นายมงคล ลีลาธรรม ยืนอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ต่อหรือไม่
แต่ไม่ว่าผลการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์จะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพื่อไม่ให้ผู้บริหารระดับสูงในแวดวงธนาคารของรัฐ กระทำผิดซ้ำรอย ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน
- ป.ป.ช.แถลงชี้มูลเพียบ-ฟันอดีต กก.ผจก.ธพว. 2 คดี-อนุมัติงบ จัดงานศพแม่ ปธ.ธนาคาร (1)
- สตง.สั่งเรียกเงินคืน1.8 แสน! เบื้องลึกคดีจัดงานศพแม่ ปธ.ธพว.ก่อน ป.ป.ช.ชี้มูล (2)
- โชว์หนังสือ สตง.ไล่บี้ ธพว.คืนเงิน1.8 แสน ชนวนเหตุ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจัดงานศพแม่ปธ.แบงก์ (3)
- ไม่ได้ทำโดยพลการ! 'นารถนารี'ยันขออนุมัติงบจัดงานศพแม่ปธ.ธพว.มีขั้นตอน-ไร้ชื่อถูกชี้มูล (4)
- เป็นทางการ! ป.ป.ช.ชี้มูล3ราย คดีงานศพแม่ปธ.ธพว.'นารถนารี' โดนด้วยผิดวินัยไม่ร้ายแรง (5)
- ล้วงลึกผลสอบคดีอนุมัติงบจัดงานศพแม่ปธ.ธพว. (1) โดนร้องเบิกค่าของชำร่วยร่มพับ-ยาดมด้วย (6)
- สตง.เคลียร์แล้ว? เบื้องลึก 'ร่มพับ' งานศพแม่ปธ.ธพว.-นารถนารี แจงไม่ได้ใช้เงินธนาคารซื้อ (7)
- ผลสอบคดีงานศพแม่ปธ.ธพว.(2)'มงคล ลีลาธรรม'เข้าใจโดยสุจริต-แสดงอัธยาศัยดีงาม แต่ถูกชี้มูล? (8)
- ล้วงผลสอบคดีจัดงานศพแม่ปธ.ธพว. (3) ไขปม ‘นารถนารี’ ไฉนถูกชี้มูล (แค่) วินัยไม่ร้ายแรง (9)