"...พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นางจุรีพร ตามบันทึกการจับกุมตัว กับรายงานการสอบสวนทางวินัยของกระทรวงวัฒนธรรม มีความแตกต่างกันแบบหนังคนละม้วน ...อย่างไรก็ดี การสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม กองกฎหมาย ก็ยังมีความเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมซึ่งเหมาะสมแก่กรณี ที่กองกฎหมาย เห็นว่าการกระทำของนางจุรีพร เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่เหตุอันควรลดหย่อนโทษ จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามความเห็นคณะกรรมการเสียงข้างน้อย..."
ทำไม?
นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในช่วงเดือน ก.ย. 2565
ถึงถูกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สอบสวนและสั่งลงโทษแค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน และยังมีคำสั่งให้ นางจุรีพร สามารถย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมได้ อันนำมาซึ่งข้อสงสัยหลายประการของสาธารณชนในช่วงที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ มีคำอธิบายจาก นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ใน 3 ประเด็นหลักไปแล้วว่า
1. มีการจัดงานจริง งานในวันนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยามาเป็นประธานด้วย ไม่ใช่การจัดทิพย์
2. การประชุมลงมติของ อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ที่นางยุพา ทำหน้าที่เป็นประธานแทน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาวาระการสอบสวนนางจุรีพร เป็นการพิจารณาตามรายงานผลการสอบสวนไม่ได้มีการพลิกมติหรือมีอะไร และในวาระนี้ตนเองก็ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. เรื่องการดำเนินงาน เนื่องจากก่อนถึงวันจัดงาน ลูกน้องของนางจุรีพรไม่สามารถติดต่อผู้รับจ้างจัดงานได้ งานมีปัญหา นางจุรีพรเลยต้องแก้ปัญหาเอง โดยให้เจ้าหน้าที่ช่วยกัน พร้อมออกเงินสำรองไปก่อน เมื่อติดต่อผู้รับจ้างได้ จึงให้เบิกเงินมาคืนในภายหลัง
"เราก็เข้าใจว่าตามระเบียบเขาก็ไม่สามารถหาใครมาแทนได้ทันที เพราะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ด้วย แล้วก็งานก็ต้องทำ ไม่งั้นราชการเสียหาย เพราะเชิญพราหมณ์ เตรียมพิธี ทำอะไรทุกอย่างแล้ว แล้วอยู่ ๆ มายกเลิกก็คงเป็นไปไม่ได้ แล้วในฐานะที่นางจุรีพรเป็นหัวหน้าส่วนราชการ นั่นคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าต้องทำเช่นนี้ ฉะนั้นต้องดูที่เจตนาว่าเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะทุจริตอันใด"
นางยุพา ยังถามกลับด้วยว่า อย่างนี้เรียกว่าทุจริตหรือไม่
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
- ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง
- ข้อมูลลับ! วธ.อยุธยาได้คืนตำแหน่ง อ.ก.พ.หักล้างผลสอบวินัย จากไล่/ปลดออก เหลือ ตัดเงินเดือน
- เผยเหตุ 'ปลัดฯยุพา' สั่งลงโทษ วธ.อยุธยา ถูกจับสดแค่ตัดเงินเดือน-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี!
- ลุยแล้ว! ป.ป.ช.เตรียมแจ้งก.วัฒนธรรม รายงานผลสอบ จุรีพร ถูกจับสดผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
- ฟังชัดๆ ปลัดฯยุพา แจง ทำไม วธ.อยุธยา ถูกจับสด โดนโทษแค่ตัดเงินเดือน
เพื่อสอบยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปปป., (ป.ป.ช.) และรายงานผลการสอบสวนทางวินัยกรณีนางจุรีพร ขันตี
ประมวลสรุปข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้
@ บันทึกการจับกุมตัว นางจุรีพร ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปปป., (ป.ป.ช.)
ในช่วงที่ปรากฏข่าวการจับกุมตัว นางจุรีพร ในช่วงเดือน ก.ย. 2565 สำนักข่าวอิศรา เคยนำข้อมูลในบันทึกการจับกุมตัวมานำเสนอไปแล้วว่า
1. จุดเริ่มต้นเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 21.00 น. นาย ส. (ชื่อย่อ) นักวิชาการประจำสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มาพบ ร.ต.อ.ภูสิทธิ์ บุตรแสง พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีกับ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ระบุพฤติการณ์ที่เป็นความผิดกล่าวคือ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อนุมัติให้จัดทำโครงการจัดพิธีกรรมทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งใช้เงินงบประมาณ ของสำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในจำนวน 80,000 บาท
2. เอาชื่อ ป้าลูกน้องรับงานเท็จ
โดย นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นาง ม. (ชื่อย่อ) ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชำและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้ง เป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง เนื่องจาก นาง ม. ผู้รับจ้าง ไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทำตามรายการใบเสนอราคา และใบสั่งจ้าง ของ สำนักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทำเอกสารกรว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้ นางม. ลงชื่ออย่างเดียว
ต่อมาวันที่ 6 ก.ย.2565 เงินงบประมาณโครงการดังกล่าวเข้ามา 80,000 บาท นางจุรีพรฯ จึงให้เจ้าหน้าที่การเงินทำฎีกา เบิกเงิน โดยให้โอนเงินค่าจ้าง 80,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของ นาง ม. ผู้รับจ้าง
จากนั้น นางจุรีพร ได้สั่งการผ่าน นายพีรพล หรือปู ทองดี ฝ่ายพิธีการซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ นางจุรีพรฯ โทรมาสั่งให้ผู้แจ้งไปบอกให้ นาง ม. ทำการถอนเงินสดจำนวน 80,000 บาท ออกมา เพื่อจะนำไปมอบให้ นางจุรีพร ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 7 ก.ย. 2565 ซึ่งผู้แจ้งเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยมิชอบ
3. ทำมาแล้วหลายครั้ง
มีข้อมูลระบุว่า นางจุรีพร เคยมีพฤติกรรม ทุจริตในลักษณะดังกล่าว หลายครั้งแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทำให้ผู้แจ้งและนาง ม. ซึ่งทราบถึงพฤติกรรมทุจริตดังกล่าว เกรงว่าตนเองจะมีความผิดไปด้วย จึงได้แจ้งเบาะแสให้กับทาง สำนักงาน ป .ป.ช. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทราบเรื่อง และจึงมาร้องทุกข์/กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เพื่อให้ดำเนินคดี กับนางจุรีพรฯ ตามกฎหมายต่อไป
4. บุกรวบตัวจับสดคาโต๊ะทำงาน
จนกระทั้งวันที่ 7 ก.ย.2565 เวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำเงินสด จำนวน 79,188 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานแล้ว ไปส่งมอบให้กับ นางจุรีพร ขันตี โดยมีเจ้าหน้าที่ของทั้งสามหน่วยงานได้วางกำลังซุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ และเมื่อได้ส่งมอบเงินเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปยังห้องทำงานจุดส่งมอบเงินทันที พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา โดยได้ตรวจค้นพบว่ามีเงินสดจำนวน จำนวน 79,188 บาท วางอยู่บนโต๊ะ ทำงานของ นางจุรีพรฯ สอบถามแล้ว
5. เจ้าตัวยังให้การปฏิเสธ
นางจุรีพรฯ อ้างว่าเป็นเงินที่รับไว้จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด
@ รายงานการสอบสวนทางวินัยกรณีนางจุรีพร ขันตี
ภายหลังเกิดเรื่องขึ้น นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ลับที่ 120/2565 ลงวันที่ 8 ก.ย.2565 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ โดยคณะกรรมการสืบสวนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในเบื้องต้นที่ได้รับจากจังหวัดอยุธยาครบถ้วน และมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดวินัยแล้ว จึงเห็นควรยุติการสืบสวนข้อเท็จจริงและเห็นควรแต่งตั้งคระกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป
ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร
จากนั้น นางยุพา ได้ออกคำสั่งให้นางจุรีพร เข้ามาช่วยปฏิบัติราชการส่วนกลาง และลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง รวมถึงคำสั่งพักราชการในเวลาต่อมา
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงได้สรุปความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก เห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้อนุมัติโครงการจัดพิธีกรรมทาศาสนา "พิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ" วงเงินงบประมาณ 80,000 บาท โดยไม่มีการจัดจ้างผู้รับจ้างจัดงานจริงตามสัญญา และมีการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน จำนวน 80,000 บาท เป็นเท็จ
คณะกรรมการฯ เสียงข้างมาก เห็นว่าแม้มีการจัดงานดังกล่าวจริง แต่พฤติการณ์เป็นการทำให้ระบบราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาลและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) ซึ่งนางจุรีพร มีหน้าที่ แต่กระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (7) แต่ยังไม่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85(1) อีกทั้งนางจุรีพร รับราชการมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2531 รวมเป็นระยะเวลา 35 ปี จึงเห็นควรลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง นางจุรีพร ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 85 (4) และ (7) ในระดับโทษปลดออก
คณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรีนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) (4) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2503 รวมถึงแจ้งเวียนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ควรลงโทษเป็นไล่ออกจากราชการ
คณะกรรมการฯ เสียงข้างน้อย ยังเห็นด้วยว่าการนำเงิน ที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใด ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการ จึงเห็นควรลงโทษไล่นางจุรีพร ออกจากราชการ
ขณะที่กองกฎหมายกระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาผลการสอบสวนแล้วเห็นว่า การกระทำของนางจุรีพร เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่เหตุอันควรลดหย่อนโทษ จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามความเห็นคณะกรรมการเสียงข้างน้อย
นอกจากนี้ กองกฎหมาย ยังเห็นค้านที่จะมีการกันตัว นายพีรพล ทองดี ผู้รับผิดชอบโครงการและเป็นผู้ตรวจรับพัสดุไว้เป็นพยาน เนื่องจากเห็นว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย และยังมีความเห็นให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในกรณีนี้ แก่ นางจุรีพร และ นายพีรพล ต่อไป
อย่างไรก็ดี นางยุพาปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการมอบหมายให้ นายวิโรจน์ ใจอารีรอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พิจารณาความเห็น ซึ่งนายวิโรจน์ พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอที่จะวินิจฉันได้ จึงให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม
ก่อนที่จะมีการสรุปข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา ในช่วงเดือนส.ค.2565 ก่อนการดำเนินโครงการฯ นี้ มีการประชุมกำหนดจัดงานในวันที่ 23 ส.ค.2565 ณ วัดใหญ่ชัยมงคล มีการมอบหมายให้ นายพีรพล ทองดี นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ กลุ่มพิธีการศาลที่ได้รับพระราชทานเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ต่อมา จุรีพร ขันตี วธ.อยุธยา ได้อนุมัติโครงการฯ และอนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้าง พร้อมทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานเปิดงาน
สำหรับการจ้างเหมาดำเนินกิจการภายใต้โครงการนี้ นายพีรพล ทองดึ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ขอให้นายสันติ เต้าทอง นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เป็นผู้จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดจ้างทั้งหมด และเป็นผู้จัดหาผู้รับจ้างให้
นายสันติ เต้าทอง จึงได้ไปติดต่อและนำเอกสารใบเสนอราคา ใบสั่งจ้าง ใบส่งมอบงาน และใบสำคัญรับเงินไปให้นางมาลี ศรีนาราง ซึ่งเป็นป้าของ นายสันติธร ประกอบอาชีพขายของสด ของแห้ง และของชำในตลาดสด ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับจ้าง ในวงเงิน 80,000 บาท
ต่อมา วันเสาร์ที่ 20 ส.ค.2565 นายพีรพล ทองดึ เข้าไปตรวจสอบบริเวณพื้นที่จัดงานพบว่า ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงได้โทรศัพท์แจ้งนางจุรีพร ทราบ และนางจุรีพร ได้สั่งการให้นายพีรพล เตรียมดำเนินการจัดหาสิ่งของต่างๆ มาจัดงาน
วันจันทร์ที่ 22 ส.ค.2565 วันเปิดงานวันแรกของสัปดาห์ นางจุรีพร ได้เรียกนายพีรพล และหัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงาน วธ.อยุธยา มาพูดคุยให้เตรียมการจัดงานให้สำเร็จเรียบร้อย รวมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ช่วยจัดหาสิ่งของมาเตรียมงาน ส่วนเงินค่าใช้จ่ายนั้นให้เจ้าหน้าที่ชวยกันออกไปก่อนแล้วจึงมาขอเบิกคืนจากนางจุรีพร
วันที่ 23 ส.ค.2565 วันจัดงาน นางมาลี ผู้รับจ้างมิได้มาทำงานตามใบสั่งจ้าง เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ จึงได้ช่วยกันประสาน จัดหา และดำเนินการแทนผู้รับจ้างทั้งหมด โดยมีรองผู้ว่าฯ อยุธยา มาเป็นประธานเปิดเงิน จนการจัดงานสำเร็จเรียบร้อยลุล่วงตามวัตถุประสงค์โครงการ
หลังจากเสร็จสิ้นการจัดงาน นายพีรพล ทองดี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการและเป็นผู้ตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับงานและทำรายงานเสนอนางจุรีพร อนุมัติเบิกจ่ายค่าจ้าง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีให้นางมาลี ผู้รับจ้างจำนวน 79,188 บาท (หักภาษี 800บาท และค่าธรรมเนียม 12 บาท)
วันที่ 6 ก.ย.2565 นางมาลี ได้ไปเบิกถอนเงินสดที่ธนาคารและมอบให้นายสันติธร ผู้เป็นหลาน เอาเงินค่าจ้างจำนวน 79,188 บาท ไปคืนให้นางจุรีพร
ก่อนที่จะนำเงินไปให้นางจุรีพร ดังกล่าว นายสันติธร ได้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และวันที่ 7 ก.ย.2565 นายสันติธร ได้นำเงินดังกล่าวไปให้นางจุรีพร พร้อมกับนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการจับกุมนางจุรีพร ที่ห้องทำงาน
ในรายงานการสอบสวน ยังมีการระบุถึงการไม่ให้กันตัวนายพีรพล ทองดี เป็นพยาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิด และเห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด นางจุรีพร และนายพีรพลด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดําเนินการตามอํานาจ และหน้าที่ กรณีกล่าวหานายสันติธร ที่จากรายงานสอบสวนพบว่า มีความบกพร่องในปฏิบัติหน้าที่ และเคยถูกนางจุรีพร ว่ากล่าวตัดเตือนด้วย
สําหรับคดีอาญา กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ส่งสํานวน การไต่สวนคดีอาญาเลขที่ 24/2565 ลงวันที่ 21 มกราคม 2566 ไปยังสํานักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 เพื่อพิจารณาดําเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอํานาจพิจารณาคดี และสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 พิจารณาคดีนี้ ก่อนที่อัยการจะมีสั่งไม่ฟ้อง นางจุรีพร ผู้ต้องหา ทุกข้อกล่าวหาในคดีนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับรายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น กองกฎหมายกระทรวงวัฒนธรรม มีความเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมซึ่งเหมาะสมแก่กรณี ( กองกฎหมาย เห็นว่าการกระทำของนางจุรีพร เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่เหตุอันควรลดหย่อนโทษ จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามความเห็นคณะกรรมการเสียงข้างน้อย)
ขณะที่ นายวิโรจน์ ใจอารีรอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า "การจะพิจารณาว่าเป็นการกระทําทุจริตต่อหน้าที่ราชการจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบในการกระทําความผิด ดังนี้
1. มีหน้าที่ราชการที่ต้องปฏิบัติ
2. ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ
3. เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้
4. โดยมีเจตนาทุจริต
ดังนั้น การกระทําทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะต้องครบองค์ประกอบความผิดทั้ง 4 ข้อ โดยพิจารณาลงไปถึงเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาด้วยว่า มีเจตนาทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมุ่งที่จะให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิชอบด้วยหรือไม่
จากข้อเท็จจริงและคําให้การของพยานบุคคลรวมทั้งพยานเอกสาร ปรากฏว่า การจัดกิจกรรม ภายใต้โครงการจัดพิธีกรรมพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ เป็นโครงการที่มีวงเงินเล็กน้อย ไม่เกิน 100,000 บาท ประกอบสิ่งของที่จัดซื้อจัดจ้างเป็นสินค้าที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไปไม่จําเป็นต้องใช้ความสามารถพิเศษที่ต้องทราบถึงรายละเอียดคุณสมบัติของผู้รับจ้างในการจัดซื้อจัดจ้าง
สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนางจุรีพร ขันตี ปฏิบัติหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงมีอํานาจอนุมัติจ้างเหมาให้นางมาลี ศรีนาราง จัดกิจกรรมภายใต้โครงการนี้โดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้
ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) (ข) กําหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จําหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง และตามกฎกระทรวงกําหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่ทําข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 1 กําหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างสินค้างานบริการ หรืองานก่อสร้างที่มีการผลิต จําหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือ นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้จ้างเหมาจัดกิจกรรม ภายใต้โครงการดังกล่าวโดยทุจริตหรือไม่นั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการจัดพิธีกรรมทางศาสนา พิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่อง เกียรติยศประกอบศพ ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ณ บริเวณสวนกลางแจ้งหน้าอาคารสํานักงานกลุ่มพิธีการศพ ที่ได้รับพระราชทาน วัดใหญ่ชัยมงคล จริง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา มาเป็นประธานเปิดงาน รวมทั้งมีหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาร่วมงาน จนการจัดงานสําเร็จเรียบร้อยลุล่วงตามวัตถุประสงค์
สําหรับการจัดหาผู้รับจ้าง (ผู้ประกอบการ) นายพีรพล ทองดี ผู้รับผิดชอบโครงการได้ขอให้ นายสันติธร เต้าทอง (ผู้กล่าวหา) ตําแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เป็นผู้ดําเนินการและจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต่อมานายสันติธร เต้าทอง ได้นําเอกสารใบเสนอราคา ใบสําคัญ ใบส่งมอบงาน ใบสําคัญรับเงินไปให้นางมาลี ศรีนาราง ซึ่งเป็นป้าของตนเองลงลายมือชื่อ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏว่า นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้มีการแจ้งแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ระบุ ผู้รับจ้างเป็นการเฉพาะเจาะจงหรือมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ทั้งนางมาลี ศรีนาราง ผู้รับจ้างก็ให้การยืนยันว่า ตนไม่เคยนัดติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนใดในสํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนายสันติธร เต้าทอง หลานชายเท่านั้น
การที่นายสันติธร เต้าทอง (ผู้กล่าวหา) อ้างว่า นายพีรพล ทองดี ผู้รับผิดชอบโครงการ แจ้งแก่ตนเองให้นําเงินไปมอบให้นางจุรพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา)
แต่นายพีรพล ทองดี ก็มิได้ยืนยันถ้อยคํา ดังกล่าวแต่อย่างใด
เมื่อไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใด ๆ ยืนยันว่านางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกล่าวหา) มีส่วน เกี่ยวข้องหรือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดแต่อย่างใด มีเพียงเงินสดที่ลงบันทึกประจําวันและได้มี การถ่ายสําเนาไว้ ซึ่งก็เป็นพยานหลักฐานที่เป็นทางนายสันติธร เต้าทอง (ผู้กล่าวหา) จัดทําขึ้นเองทั้งสิ้น
ประกอบกับในคดีอาญา สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 พิจารณาคดีนี้แล้ว มีคําสั่งไม่ฟ้องนางจุรีพร ขันตี (ผู้ต้องหา)
จากพยานหลักฐานที่ปรากฏจึงยังไม่มีน้ำหนักพอฟังว่า นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้จ้างเหมาจัดกิจกรรมภายใต้โครงการจัดพิธีกรรมทางศาสนา พิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพโดยทุจริตตามข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม การที่นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ทราบว่านางมาลี ศรีนาราง (ผู้รับจ้าง) ไม่จัดกิจกรรมหรือไม่ทํางานตามใบสั่งจ้าง และสั่งการให้เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทํางานแทนผู้ว่าจ้างทั้งหมด และเมื่อนายพีรพล ทองดี ผู้รับผิดชอบโครงการและเป็นผู้ตรวจรับพัสดุตรวจรับ งานจ้างและเสนอรายงานให้ทราบ เพื่อดําเนินการเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง นางจุรีพร ขันตี ก็มิได้ทักท้วง และอนุมัติเบิกจ่ายค่าจ้างให้นางมาลี ศรีนาราง (ผู้รับจ้าง) และภายหลังนางมาลี ศรีนาราง (ผู้รับจ้าง) ได้มอบ เงินค่าจ้างดังกล่าวให้นายสันติธร เต้าทอง (ผู้กล่าวหา) เอาไปให้นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ที่ห้องทํางาน วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจเข้าจับกุมดําเนินคดีที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น
เห็นว่า การกระทําดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่เนื่องจากนางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ทราบว่าผู้รับจ้างไม่มาทํางานตามใบสั่งจ้าง ก่อนวันจัดงานเพียง 2 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลากระชั้นชิด ประกอบกับใบสั่งจ้างมิได้กําหนดวันเริ่มทํางานของผู้รับจ้างดังนั้น ก่อนวันจัดงานผู้รับจ้างจะเริ่มทํางานวันใดก็ได้
เมื่อถึงวันจัดงานปรากฏว่าผู้รับจ้าง ไม่มาปฏิบัติงานจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาและจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ได้ทัน และเพื่อมิให้สํานักงานวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียหาย เนื่องจากได้เตรียมงานและประสานหน่วยงานอื่น ๆ บางส่วนแล้ว อีกทั้งได้มี หนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานเปิดงาน รวมทั้งมีหนังสือเชิญหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการ ต่าง ๆ ในจังหวัดมาร่วมงานแล้ว จึงจําเป็นต้องแก้ไขปัญหา โดยให้เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยาดําเนินการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวแทนผู้รับจ้าง จนการจัดงานสําเร็จเรียบร้อยบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดี
สําหรับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างนั้น เห็นว่าเป็นการแก้ไขเยียวยาให้ตนเองและผู้ใต้บังคับ ซึ่งปฏิบัติงานแทนผู้รับจ้าง และสํารองเงินจ่ายไปก่อนหรือจะนําไปจ่ายกรณีก่อหนี้ผูกพันไว้เท่านั้น ซึ่งจากรายงานการสอบสวน มีรายการค่าใช้จ่าย จํานวน 39 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,000 บาท ประกอบไปด้วยรายการค่าใช้จ่ายที่มีในประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการและใบสั่งจ้าง จํานวน 19 รายการ และรายการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่มีในประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการและใบสั่งจ้าง จํานวน 20 รายการ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีทั้งที่มีเอกสารหลักฐานการจ่าย และไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่าย ซึ่งถ้าไม่มีการ เบิกเงินค่าจ้างดังกล่าวก็คงจะไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ค่าจ้างจัดงาน และอาจทําให้ราชการเสียหาย
พฤติการณ์ของนางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) ดังกล่าว เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้ เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทาง ราชการ ตามมาตรา 82 (2) สมควรลงโทษตัดเงินเดือนนางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 เดือน
แต่เนื่องจากเรื่องนี้คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า นางจุรีพร ขันตี (ผู้ถูกกล่าวหา) กระทําผิดวินัย อย่างร้ายแรง ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 47 วรรคสอง ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 56 (2) กําหนดให้ ผู้สั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาว่านางจุรีพร ขันตี กระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ และไม่ว่าผู้สั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนจะเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ก็ตาม ก็ให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 (ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงซึ่งผู้ถูกกล่าวหา สังกัดอยู่ เพื่อพิจารณาคดีต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หากเห็นชอบโปรด
1. เห็นชอบให้ลงโทษตัดเงินเดือนนางจุรีพร ขันตี 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 เดือน
2. มอบกองกลาง กลุ่มบริหารงานบุคคล นําเรื่องเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณา ตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัย พ.ศ. ข้อ 56 (2)
3. มอบกองกฎหมาย ดําเนินการดังนี้
3.1 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการพลเรือนสามัญ รายนายพีรพล ทองดี
3.2 ทําหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดําเนินการตามอํานาจและหน้าที่ กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายนายสันติธร เต้าทอง"
หลังมีการเสนอเรื่องนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เห็นชอบตามข้อ 1 ให้ลงโทษตัดเงินเดือนนางจุรีพร ขันตี 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 เดือน และมอบตามเสนอ ข้อ 2, 3
ต่อมาเรื่องก็ถูกนำเสนอเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม และมติลงโทษ นางจุรีพร แค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน และยมีคำสั่งให้ นางจุรีพร สามารถย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมได้ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
วิโรจน์ ใจอารีรอบ
จากข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งในส่วน บันทึกการจับกุมตัว นางจุรีพร ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปปป., ป.ป.ช. และรายงานการสอบสวนทางวินัยกรณีนางจุรีพร ขันตี ข้างต้น
จะพบข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการหลัก คือ
1. พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นางจุรีพร ตามบันทึกการจับกุมตัว กับรายงานการสอบสวนทางวินัยของกระทรวงวัฒนธรรม มีความแตกต่างกันแบบหนังคนละม้วน
กล่าวคือ ในการสอบสวนของ ปปป.และ ป.ป.ช. ระบุว่า นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นางมาลี ศรีนาราง ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชำและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้ง คือ นายสันติธร เต้าทองเป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง เนื่องจาก นางมาลี ผู้รับจ้าง ไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทำตามรายการใบเสนอราคา และใบสั่งจ้าง ของ สำนักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทำเอกสารกรว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้ นางมาลี ลงชื่ออย่างเดียว
จากนั้น นางจุรีพร ได้สั่งการผ่าน นายพีรพล หรือปู ทองดี ฝ่ายพิธีการซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ นางจุรีพรฯ โทรมาสั่งให้ผู้แจ้งไปบอกให้ นางมาลี ทำการถอนเงินสดจำนวน 80,000 บาท ออกมา เพื่อจะนำไปมอบให้ นางจุรีพร ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งผู้แจ้งเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยมิชอบ นอกจากนี้มีข้อมูลระบุว่า นางจุรีพร เคยมีพฤติกรรม ทุจริตในลักษณะดังกล่าวหลายครั้งแล้ว
แต่ในรายงานการสอบสวนทางวินัยของกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อแก้ไขเยียวยาให้ตนเองและผู้ใต้บังคับ หลังจากที่ผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการงาน ส่วนเงินจำนวน 80,000 บาท ก็เป็นเงินค่าใช้จ่ายนั้นให้เจ้าหน้าที่ชวยกันออกไปก่อนแล้วจึงมาขอเบิกคืนจากนางจุรีพร ขณะงานก็มีการจัดจริง สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่กำหนดไว้ ส่วนนายสันติธร เต้าทอง (ผู้กล่าวหา) ถูกระบุว่า มีพฤติการณ์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของข้าราชการกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน และถูกนางจุรีพร ว่ากล่าวตักเตือน
คำถามคือ ยุทธการจับสด นางจุรีพร ของ ปปป. และ ป.ป.ช. มีจุดอ่อนมากมายขนาดนี้เลยหรือ?
2. อย่างไรก็ดี การสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม กองกฎหมาย ก็ยังมีความเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมซึ่งเหมาะสมแก่กรณี ที่กองกฎหมาย เห็นว่าการกระทำของนางจุรีพร เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่เหตุอันควรลดหย่อนโทษ จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามความเห็นคณะกรรมการเสียงข้างน้อย
3. ความเห็นของ นายวิโรจน์ ใจอารีรอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายจาก นางยุพา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ความเห็นในคดีนี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บทลงโทษของ นางจุรีพร จากผิดวินัยร้ายแรง ต้องถูกลงโทษไล่ออก เหลือเพียงแค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เท่านั้น
4. สำหรับคดีอาญา ที่ปรากฏข้อมูลว่า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 พิจารณาคดีนี้แล้วมีคําสั่งไม่ฟ้อง นางจุรีพร ผู้ต้องหา ทุกข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทางกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร?
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุดจากเอกสารหลักฐานต่างๆ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เป็นอย่างไร คงต้องรอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ออกมาชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชนอีกครั้ง