"...นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นาง ม. (ชื่อย่อ) ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชำและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้ง เป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง เนื่องจาก นาง ม. ผู้รับจ้าง ไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทำตามรายการใบเสนอราคา และใบสั่งจ้าง ของ สำนักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทำเอกสารกรว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้ นางม. ลงชื่ออย่างเดียว..."
สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมไทย และสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงข้าราชการสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก!
กรณีปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมนางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์เจตนาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ และแผนยุทธการ จับสด นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา พร้อมของกลางเป็นเงินจํานวน 80,000 บาท ขณะส่งมอบคาโต๊ะทำงานที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา มานำเสนอ โดยละเอียดอีกครั้ง ดังนี้
@ จุดเริ่มต้นเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 21.00 น. นาย ส. (ชื่อย่อ) นักวิชาการประจำสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มาพบ ร.ต.อ.ภูสิทธิ์ บุตรแสง พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีกับ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ระบุพฤติการณ์ที่เป็นความผิดกล่าวคือ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อนุมัติให้จัดทำโครงการจัดพิธีกรรมทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งใช้เงินงบประมาณ ของสำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในจำนวน 80,000 บาท
@ เอาชื่อ ป้าลูกน้องรับงานเท็จ
โดย นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นาง ม. (ชื่อย่อ) ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชำและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้ง เป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง
เนื่องจาก นาง ม. ผู้รับจ้าง ไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทำตามรายการใบเสนอราคา และใบสั่งจ้าง ของ สำนักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด
โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทำเอกสารกรว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้ นางม. ลงชื่ออย่างเดียว
ต่อมาวันที่ 6 ก.ย.2565 เงินงบประมาณโครงการดังกล่าวเข้ามา 80,000 บาท นางจุรีพรฯ จึงให้เจ้าหน้าที่การเงินทำฎีกา เบิกเงิน โดยให้โอนเงินค่าจ้าง 80,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของ นาง ม. ผู้รับจ้าง
จากนั้น นางจุรีพร ได้สั่งการผ่าน นายพีรพล หรือปู ทองดี ฝ่ายพิธีการซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ นางจุรีพรฯ โทรมาสั่งให้ผู้แจ้งไปบอกให้ นาง ม. ทำการถอนเงินสดจำนวน 80,000 บาท ออกมา เพื่อจะนำไปมอบให้ นางจุรีพร ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 7 ก.ย. 2565 ซึ่งผู้แจ้งเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยมิชอบ
@ ทำมาแล้วหลายครั้ง
มีข้อมูลระบุว่า นางจุรีพร เคยมีพฤติกรรม ทุจริตในลักษณะดังกล่าว หลายครั้งแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทำให้ผู้แจ้งและนาง ม. ซึ่งทราบถึงพฤติกรรมทุจริตดังกล่าว เกรงว่าตนเองจะมีความผิดไปด้วย
จึงได้แจ้งเบาะแสให้กับทาง สำนักงาน ป .ป.ช. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทราบเรื่อง และจึงมาร้องทุกข์/กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เพื่อให้ดำเนินคดี กับนางจุรีพรฯ ตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่ ร.ต.อ.ภูสิทธิ์ บุตรแสง รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปปป. ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนประจำ บก.ปปป. ได้พิจารณาพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกระทำของ นางจุรีพร ขันตี ตำแหน่ง วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นความผิดฐาน
1. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของ ผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียตามกฎหมายอาญา มาตรา 147
2.เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามตามกฎหมายอาญามาตรา 157
3. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็น การเสียหายแก่รัฐตามกฎหมายอาญา มาตรา 151 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
จึงได้รับคำร้องทุกข์ /กล่าวโทษดัง กล่าวไว้ดำเนินการสอบสวนต่อไป และ ให้ผู้ร้องทุกข์ /กล่าวโทษ ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
พร้อมแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว พิจารณาเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของจังหวัดมีพฤติกรรมทุจริต ยักยอกเงินงบประมาณไปโดยทุจริต จึงได้มีคำสั่งให้วางแผนใช้วิธีการจับกุมขณะส่งมอบเงิน จำนวน 80,000 บาท บาท เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์เจตนาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว จึงได้นำธนบัตรที่ได้จากการถอนเงินธนาคารไทยพาณิชย์ของ นาง ม. จำนวน 79,188 บาท (หักค่าภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว จำนวน 812 บาท) เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 เวลาประมาณ 14.44 น. มาลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการส่งมอบให้ผู้ถูกกล่าวหา
เป็นธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 79 ฉบับ
รัฐบาลไทย ฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับ
รัฐบาลไทย ฉบับละ 20 บาท จำนวน 4 ฉบับ
เงินเหรียญ 5 บาท 1 เหรียญ
เงินเหรียญ 1 บาท 3 เหรียญ
@ บุกรวบตัวจับสดคาโต๊ะทำงาน
จนกระทั้งวันที่ 7 ก.ย.2565 เวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำเงินสด จำนวน 79,188 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานแล้ว ไปส่งมอบให้กับ นางจุรีพร ขันตี โดยมีเจ้าหน้าที่ของทั้งสามหน่วยงานได้วางกำลังซุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ และเมื่อได้ส่งมอบเงินเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปยังห้องทำงานจุดส่งมอบเงินทันที พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา โดยได้ตรวจค้นพบว่ามีเงินสดจำนวน จำนวน 79,188 บาท วางอยู่บนโต๊ะ ทำงานของ นางจุรีพรฯ สอบถามแล้ว
@ เจ้าตัวยังให้การปฏิเสธ
นางจุรีพรฯ อ้างว่าเป็นเงินที่รับไว้จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด
เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบเงินสด 79,188 บาทบนโต๊ะดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่าหมายเลขบนธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ ลงบันทึกประจำวันไว้ทุกฉบับ จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบว่าเป็นความผิดฐาน
1. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย (ตาม ป.อาญา มาตรา 147)
2. เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม (ตาม ป.อาญา มาตรา 157)
3. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ (ตาม ป.อาญา มาตรา 151) หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษดัง กล่าวไว้ดำเนินการสอบสวนต่อไป และ ให้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ เบื้องต้นในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การภาคเสธ ซึ่งพนักงานสอบสวน บก.ปปป.จะได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้วส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป
@ อิศรา คุ้ยเจอโชว์ข่าว-ภาพจัดงานในเว็บ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ าได้มีการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ พิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระบุว่า วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ สภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี และบุคลากร ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมพิธี
โดยในเวลา 09.30 น. ประธานในพิธีจุดธูปเทียนที่หน้าเครื่องบวงสรวงสังเวย บัณฑิตอ่านโองการบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ และเวลา 10.00 น. พระครูสิริชัยมงคล รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล ประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวสัมโมทนียกถา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประธานในพิธี และวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเครื่องสักการะ ภัตตาหาร และปัจจัยไทยธรรม
การจัดพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี ตลอดจนสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ของไทย โดยพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติ
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ และแผนยุทธการ จับสด นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา พร้อมของกลางเป็นเงินจํานวน 80,000 บาท ขณะส่งมอบคาโต๊ะทำงานที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ผลการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ของ นางจุรีพร ขันตี และผู้เกี่ยวข้องจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ มิให้หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการไทยรายใด กระทำผิดซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง