"...ข้อเท็จจริงคือ นางจุรีพรมอบหมายให้ลูกน้องไปดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบราชการ มีออกไปสั่งจ้าง เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ติดต่อผู้รับจ้างไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่สามารถยกเลิกการจ้างได้เช่นเดียวกัน ...แต่เขาก็ไม่รอจนวันสุดท้ายเพราะจะเสียหายต่อราชการ ดังนั้นเขาจึงให้เจ้าหน้าที่ช่วยกัน โดยเขาสำรองเงินออกไป แต่เผอิญตอนหลังทางลูกน้องติดต่อผู้ประสานงานกับผู้รับจ้างได้ เขาก็เลยบอกว่าเดี๋ยวเบิกเงินแล้วเดี๋ยวเอาเงินมาให้ เพื่อเอามาจ่ายกับวธ.จังหวัด(วัฒนธรรมจังหวัด)กับลูกน้องที่จ่ายเงินไปก่อน ... ถามกลับว่า อย่างนี้เรียกว่าทุจริตหรือไม่..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกจับกุมขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในช่วงเดือน ก.ย. 2565 ปัจจุบันได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิม หลังผลการสอบสวนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า ในการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 ที่ประชุมได้มีการพิจารณารายงานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง กรณี นางจุรีพร ขันตี เป็นทางการ และมีมติว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน
อย่างไรก็ดี การพิจารณาเรื่องดังกล่าว สวนทางกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมากเห็นควร ลงโทษในระดับปลดออก
ส่วนฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อยเห็นควร ลงโทษในระดับไล่ออก
แต่ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งดังกล่าว กลับมีมติให้ลงโทษนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เท่านั้น โดยในการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดภารกิจ มอบหมายให้นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นประธานแทน ขณะที่ผู้แทน ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ด้วย
ส่วนเหตุผลที่ ปลัดกระทรวงฯ กลับมติคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน นางจุรีพร ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เป็นเพราะในช่วงเดือน ก.ค.2566 นางจุรีพร ได้ทำบันทึกถึง ปลัดกระทรวงฯ แจ้งให้ทราบว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีนางจุรีพร ที่กองบังคับการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งไปให้เพื่อพิจารณาดำเนินคดีทางอาญา และความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางจุรีพร ในทุกข้อกล่าวหา
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
- ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง
- ข้อมูลลับ! วธ.อยุธยาได้คืนตำแหน่ง อ.ก.พ.หักล้างผลสอบวินัย จากไล่/ปลดออก เหลือ ตัดเงินเดือน
- เผยเหตุ 'ปลัดฯยุพา' สั่งลงโทษ วธ.อยุธยา ถูกจับสดแค่ตัดเงินเดือน-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี!
- ลุยแล้ว! ป.ป.ช.เตรียมแจ้งก.วัฒนธรรม รายงานผลสอบ จุรีพร ถูกจับสดผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสได้สัมภาษณ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ถึงข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นทางการ
รายละเอียดทั้งหมด ปรากฏนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
"ข้อเท็จจริงกรณีนางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกจับกุมขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท ในช่วงเดือน ก.ย. 2565 ปัจจุบันได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมหลังผลการสอบสวนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง เป็นอย่างไร
ผู้สำนักข่าวอิศรา เริ่มต้นเปิดประเด็นด้วยคำถามนี้
ขณะที่ นางยุพา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ตอบคำถามเป็นประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 ได้มีการจัดงานจริง งานในวันนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยามาเป็นประธาน ไม่ใช่การจัดทิพย์
ประเด็นที่ 2 เรื่องการดำเนินงาน เนื่องจากก่อนถึงวันจัดงาน ลูกน้องของนางจุรีพรไม่สามารถติดต่อผู้รับจ้างจัดงานได้ เขาเลยต้องแก้ปัญหาเอง คิดว่าวันนั้นคงวุ่นวายไม่น้อย เพราะว่าต้องซื้อทุกอย่างกระทันหัน
นางยุพา กล่าวย้ำว่า "ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะเวลาประชุมเน้นย้ำเสมอ ในยุคที่เป็นปลัดก็มีไล่ออกไปหลายคน ถ้าใครไม่ดีจริง ไม่ได้เข้าข้างลูกน้องเลย เป็นธรรมเสมอ
"เราก็เข้าใจว่าตามระเบียบเขาก็ไม่สามารถหาใครมาแทนได้ทันที เพราะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ด้วย แล้วก็งานก็ต้องทำ ไม่งั้นราชการเสียหาย เพราะเชิญพราหมณ์ เตรียมพิธี ทำอะไรทุกอย่างแล้ว แล้วอยู่ ๆ มายกเลิกก็คงเป็นไปไม่ได้ แล้วในฐานะที่นางจุรีพรเป็นหัวหน้าส่วนราชการ นั่นคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าต้องทำเช่นนี้ ฉะนั้นต้องดูที่เจตนาว่าเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะทุจริตอันใด"
นางยุพา กล่าวต่อว่า "ต่อมาก็เข้ามาในส่วนการสอบสวนทางวินัย ในระบบของงานราชการไม่ว่ากระทรวงใดก็ตาม หัวหน้าส่วนราชการหากมีข้อสงสัยหรือประเด็นที่ต้องการสืบหาข้อเท็จจริง ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา หรือเรียกว่าการสอบสวนทางวินัย หลังจากที่มีการสอบสววทางวินัยแล้ว การตัดสินเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า อ.ก.พ.กระทรวง ซึ่งมีทุกกระทรวง โดยคณะกรรมการที่อยู่ในอ.ก.พ.กระทรวงก็จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก อีกส่วนหนึ่งเป็น อ.ก.พ. ที่กระทรวงพิจารณาคัดเลือก เป็นกรรมการที่ภายในระดับผู้บริหารเลือกกันเอง ฉะนั้นเชื่อได้ว่ากรรมการจากภายนอกของเรามีทั้งด้านกฎหมาย ด้านการบริหาร ด้านงานวัฒนธรรม"
"ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมก็โชคดี ที่ได้อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ส่วนกรรมการคนอื่น ๆ ก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารบุคคล ซึ่งก็รู้ระเบียบในงานบริหารบุคคลอยู่แล้ว ซึ่งกรรมการท่านนี้เป็นอดีตผู้ตรวจราชการของกระทรวงวัฒนธรรม ก็ย่อมรู้จักกับข้าราชการทุกคน รวมถึงรายนี้ด้วยเช่นกัน
"จึงเชื่อมั่นได้ว่าการพิจารณาของคณะกรรมการ ไม่ได้พลิกหรือมีอะไรแต่อย่างใด"
นางยุพา ชี้แจงอีกว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอ.ก.พ. ทุกกระทรวง โดยปกติแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะเป็นประธาน แต่ในวันนั้นเผอิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมติดภารกิจ จึงแจ้งผ่านมาทางเลขาว่าให้ปลัดเป็นประธาน แต่ในการประชุมในวันนั้นไม่ได้มีวาระนี้เพียงวาระเดียว มีหลายวาระ เรื่องของนางจุรีพรเป็นหนึ่งในวาระ
"พอเข้าสู่กระบวนการพิจารณากรณีของนางจุรีพร ดิฉันในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ตามกฎหมายดิฉันจะไม่อยู่ในที่ประชุม ต้องออกไป เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตนเองก็ต้องปล่อยอิสระ ให้กรรมการเลือกประธานกันเอง ซึ่งในนั้นก็มีการเลือกประธานมาหนึ่งท่านแล้วก็มีการพิจารณา"
ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นางยุพา กล่าวย้ำว่า "การพิจารณาก็เป็นไปโดยอิสระ ไม่ได้ไปอะไรเลย เพราะพี่ไม่อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ก็ไม่ทราบว่าถกเรื่องอะไรอย่างใดกัน แต่เข้าใจว่าทุกท่านก็มีความรู้ความเข้าใจทั้งในหลักกฎหมาย แล้วก็ในเรื่องของข้อเท็จจริง ณ สถานการณ์ตรงนั้นของคนที่เป็นผู้บริหาร เขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร บวกกับก่อนหน้านี้ทาอัยการมีหนังสือมาถึงผู้บัญชาการการสอบสวนของทางอยุธยา เรื่องของการสั่งไม่ฟ้อง คือท่านดูแบบนี้เหมือนกัน ดูแบบที่กรรมการของ อ.ก.พ.ดู ซึ่งพอดูแล้วสองอันมีความเห็นเหมือนกัน จริง ๆ แล้วถามว่าผิดขั้นตอนหรือไม่ ก็ผิดในเรื่องของกระบวนการตรงนั้นก็ว่ากันไป แต่ถึงขั้นร้ายแรงชนิดที่ต้องไล่ออกหรือปลดออก มันไม่ได้ถึงขั้นนั้น"
นางยุพา กล่าวอีกว่าพอหลังที่มีการประชุมเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเลขาก็ทำรายงานขึ้นมาแจ้งตนเองและรัฐมนตรีว่ามติการประชุมเป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือถึงรัฐมนตรีในวันที่ 31 ต.ค. หลังจากที่มีการประชุมก็มีการทำหนังสือชี้แจง นำเรียนข้อเท็จจริง หรือเรียกว่าเป็นรายงานการประชุม ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของนางจุรีพรเพียอย่างเดียว แต่มีทุกเรื่องที่ประชุมในวันนั้น ยกเว้นวาระของนางจุรีพรที่ปลัดอย่างตนเองไม่ได้อยู่
"พี่อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงนี้หรือกระทรวงใดก็ตาม ถ้าเกิดเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราต้องออก แม้กระทั่งการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งด้วยเช่นกัน ถ้าพี่มีส่วนได้เสียพี่ต้องออกเหมือนกัน นี่เป็นระเบียบของ ก.พ. อยุ่แล้ว อาจจะเข้าใจผิดว่าพี่อยู่ตรงนั้น แต่ยืนยันว่าพี่ไม่ได้อยู่ แล้วกรรมการก็พิจารณาโดยอิสระอยู่แล้ว" นางยุพา กล่าวย้ำ
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปถามถึงที่มาของภาพเหตุการณ์จับสดนางจุรีพร ที่มีเงินสด 80,000 บาทวางบนโต๊ะ มีข้อเท็จจริงอย่างไร
นางยุพา ตอบว่า ข้อเท็จจริงคือ นางจุรีพรมอบหมายให้ลูกน้องไปดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบราชการ มีออกไปสั่งจ้าง เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ติดต่อผู้รับจ้างไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่สามารถยกเลิกการจ้างได้เช่นเดียวกัน
"เนื่องจากในระเบียบเขาไม่ได้บอกว่าจะต้องส่งงานวันที่ 22 งานจัดวันที่ 23 ก็ยังไม่ถึงวันที่ 23 คุณไปออกใบยกเลิกการจ้างคุณก็ผิด ก็ไม่สามารถยกเลิกการจ้างได้ แต่เขาก็ไม่รอจนวันสุดท้ายเพราะจะเสียหายต่อราชการ ดังนั้นเขาจึงให้เจ้าหน้าที่ช่วยกัน โดยเขาสำรองเงินออกไป"
"แต่เผอิญตอนหลังทางลูกน้องติดต่อผู้ประสานงานกับผู้รับจ้างได้ เขาก็เลยบอกว่าเดี๋ยวเบิกเงินแล้วเดี๋ยวเอาเงินมาให้ เพื่อเอามาจ่ายกับวธ.จังหวัด(วัฒนธรรมจังหวัด)กับลูกน้องที่จ่ายเงินไปก่อน"
นางยุพา ถามกลับว่า อย่างนี้เรียกว่าทุจริตหรือไม่
ก่อนจะระบุว่า "พอวางเงินแล้วมาจับเลย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีเรื่องภายในระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย ซึ่งพี่ก็ต้องตั้งกรรมการสอบต่อว่าเหตุใดจึงประสานผู้รับจ้างแล้วไม่รับผิดชอบ แล้วเหตุใดไปรับเงินมาให้กับวัฒนธรรมจังหวัด แล้วนำตำรวจมาจับวัฒนธรรมจังหวัดก็มีข้อสงสัย แต่ไม่เป็นไรเพราะเป็นกระบวนการที่ทางจังหวัดและพี่ต้องพิจารณา "
"เหตุที่ให้รับกลับมาทำงานเพราะมติสิ้นสุดแล้วว่าเราให้เขาโดนตัดเงินเดือน แล้วเราก็ต้องมีคำสั่ง ไม่งั้นราชการเสียหาย เพราะให้เขาหยุดราชการมานานหลายเดือน สำหรับรัฐมนตรีก็ได้รายงานไปแล้ว" นางยุพากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมด นี่คือ คำชี้แจงของ นางยุพา ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา ล่าสุด ต่อกรณีการสอบสวน นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ดังที่กล่าวไปข้างต้น
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบเอกสารหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนคดี นางจุรีพร จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ในกระทรวงวัฒนธรรม
รายละเอียดเป็นไปตามคำชี้แจงของ นางยุพา หรือไม่
จะทยอยนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป