ป.ป.ช.ลุยแล้ว! เตรียมแจ้งกระทรวงวัฒนธรรม รายงานผลการสอบสวนวินัย จุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด อยุธยา หลังมีข่าวถูกตัดสินโทษแค่วินัยไม่ร้ายแรง ทั้งที่ถูกจับสดคดีทุจริตรับเงิน 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา เผยข้อกม.หากไม่เห็นด้วย อาจเรียกสํานวนมาไต่สวนเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกจับกุมขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในช่วงเดือน ก.ย. 2565 ปัจจุบันได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิม หลังผลการสอบสวนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
- ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง
- ข้อมูลลับ! วธ.อยุธยาได้คืนตำแหน่ง อ.ก.พ.หักล้างผลสอบวินัย จากไล่/ปลดออก เหลือ ตัดเงินเดือน
- เผยเหตุ 'ปลัดฯยุพา' สั่งลงโทษ วธ.อยุธยา ถูกจับสดแค่ตัดเงินเดือน-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี!
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้รายงานผลการดำเนินสอบสวนกรณี นางจุรีพร ขันตี มาให้รับทราบผลเป็นอย่างไร ทำไมนางจุรีพร ถึงถูกตัดสินลงโทษแค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพื่อนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป
"ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ อาจเรียกสํานวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดําเนินการไต่สวนเองได้" แหล่งข่าวระบุ
สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 65 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดําเนินการไปตามหน้าที่และอํานาจของตนและรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการและภายในกําหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
มาตรา 66 ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดําเนินการตามรายงานตามมาตรา 65 หรือมีกรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดําเนินการนั้นจะไม่เที่ยงธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสํานวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดําเนินการได้ โดยจะดําเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนําผลการไต่สวนหรือสอบสวนของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้