“…งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 มีงบบุคลากรและงบประมาณค่ารักษาพยาบาล คิดเป็นประมาณร้อยละ 39.40 ของงบประมาณทั้งหมด และงบประมาณในส่วนนี้อาจจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ ดังนั้น หากมีการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะไม่เพียงมีผลต่อภาระงบประมาณในปีที่มีการปรับเท่านั้น แต่จะเกิดผลกระทบผูกพันกับภาระการคลังในระยะยาว…”
...........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ
โดยเฉพาะในส่วนการปรับ ‘อัตราเงินเดือนแรกบรรจุ’ ดังกล่าว ให้ผู้ที่ปฏิบัติงานที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และให้ผู้ที่ปฏิบัติงานที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี นั้น (อ่านประกอบ : งบเพิ่ม 1.6 หมื่นล.! ครม.เคาะปรับ‘เงินเดือนแรกบรรจุ’ขรก.-จบ‘ป.ตรี’รับ 1.8 หมื่นบาทปี 68)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุป ‘รายงานผลการศึกษาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ’ ที่ สำนักงาน ก.พ. นำเสนอต่อ ครม. ก่อนที่ ครม. จะมีมติเห็นชอบตามรายงานผลการศึกษาฯดังกล่าว ดังนี้
@ปรับ‘เงินดือนแรกบรรจุ’ขรก. เชื่อมโยงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
รายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
การดำเนินการ
สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศษฐกิจการคลัง (สศค.)
ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 วันที่ 10 และวันที่ 23 พ.ย.2566 สาระสำคัญของการประชุมความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้
แนวคิดเบื้องต้นในการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สำนักงาน ก.พ. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การพิจารณาปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัย มติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
ดังนั้น ประเด็นที่จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการเป็นสำคัญ โดยมิได้หมายถึงการปรับบัญชีเงินเดือนหรือการปรับเงินเดือน ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแนวทางการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในระยะที่ผ่านมาในช่วงปี พ.ศ.2555-2557 (ตามนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท) ประกอบกับข้อมูลจากรายงานผลสำรวจอัตราค่าจ้างในภาคเอกชน (Starting Rate Survey) พบว่า ปัจจุบันอัตราแรกจ้างของพนักงานรายเดือนที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ วุฒิปริญญาตรี (เฉลี่ยทุกสาขาวิชา) อยู่ที่ 18,910 บาท
ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาปรับปรุงอัตราเงินดือนแรกบรรจุของวุฒิปริญญาตรี (ปัจจุบัน 15,000 บาท) ให้สอดคล้องกับอัตราตลาด รวมถึงพิจารณาปรับเงินเดือนของคุณวุฒิอื่นๆ ให้สอดคล้องกันด้วย
สำนักงาน ก พ. จึงได้นำหลักการและวิธีการที่เคยคำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2555-2557 มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพิจารณา โดยเบื้องต้นอาจพิจารณาได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 ทยอยปรับเงินเดือนแรกบรรจุ (ทุกคุณวุฒิ) เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี และปรับเงินเดือนให้แก่ผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนเพื่อชดเชยผลกระทบจากการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในปีที่ 1 ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท และปีที่ 2 ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท รวมไม่น้อยกว่า 13,000 บาท
แนวทางที่ 2 ปรับเงินเดือนแรกบรรจุ (ทุกคุณวุฒิ) เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี และปรับเงินเดือนให้แก่ผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนเพื่อชดเชยผลกระทบจากการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท
@ห่วง‘งบบุคลากรรัฐ’มีสัดส่วนสูง-ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวคิดเบื้องต้นในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่สำนักงาน ก.พ. นำเสนอแล้ว มีความเห็นและข้อสังเกตสรุปได้ ดังนี้
1.การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรพิจารณากำหนดหลักการและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า ต้องการรักษาคนก่ง คนดี ไว้ในระบบราชการ หรือต้องการดึงดูดบุคคลที่มีศักยภาพสูงเข้ามารับราชการ และจะต้องตอบคำถามที่สำคัญให้ได้ว่า การปรับอัดราเงินเดือนจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากน้อยเพียงใด
2.การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม และเป็นไปได้เนื่องจากการปรับอัตราคำแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้งย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนสินค้าและบริการ ดังนั้น การพิจารณาว่าควรปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอัตราใด จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับอัตราการปรับค่าแรงขั้นต่ำด้วย
3.การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอื่นๆ เช่น มาตรการการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ หรือมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เป็นต้น
เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณในส่วนของงบบุคลากรมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 มีงบบุคลากรและงบประมาณค่ารักษาพยาบาล คิดเป็นประมาณร้อยละ 39.40 ของงบประมาณทั้งหมด และงบประมาณในส่วนนี้อาจจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ
ดังนั้น หากมีการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะไม่เพียงมีผลต่อภาระงบประมาณในปีที่มีการปรับเท่านั้น แต่จะเกิดผลกระทบผูกพันกับภาระการคลังในระยะยาว และส่งผลให้สัดส่วนของบบุคลากรเพิ่มสูงขึ้นด้วย
4.การประมาณการงบประมาณในครั้งนี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่น ดังนั้น หากมีการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัยบายรัฐบาลแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินปรับอัตราเงินเดือนให้แก่พนักงานท้องถิ่นด้วย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม
อีกทั้งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดข้อเรียกร้องจากข้าราชการที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่มีการประมาณการไว้เป็นจำนวนมาก
5.ในช่วงปี พ.ศ.2555 นอกจากจะมีการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว กระทรวงการคลังได้มีการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285บาท ได้รับเงินเพิ่มการครองพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท
ทั้งนี้ กรณีจำนวนเงินเดือนรวมกันกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแล้วไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ใด้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจนถึงเดือนละ 10,000 บาทด้วย
ดังนั้น หากจะมีการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเพิ่มขึ้น ก็อาจจะต้องพิจารณาในส่วนของเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย โดยกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) จะรับประเด็นนี้ไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
6.หากจะมีการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการตามแนวทางที่ 1 (ทยอยปรับเงินเดีนแรกบรรจุเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 2 ปี) น่าจะมีความเหมาะสมและเป็นไปได้มากกว่า
ทั้งนี้ อัตราร้อยละในการปรับเพิ่มอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งหากเริ่มดำเนินการในปีที่ 1 โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2567 ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีผลใช้บังคับแล้ว
และอาจใช้งบประมาณเพียง 5 เดือน ซึ่งน้อยกว่าที่ได้ประมาณการไว้ โดยอาจจะพิจารณาใช้งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ ที่มีการตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 11,000 ล้านบาท หรืออาจจะพิจารณาขอแปรญัตติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2557 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ม.ค.2567
ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีที่ 2 (ปีงบประมาณ พ.ศ.2568) ส่วนราชการต่างๆ อาจเสนอตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่หากข้อมูลที่จะใช้ในการขอตั้งงบประมาณยังไม่เรียบร้อย ก็อาจพิจารณาตั้งบประมาณไว้ในงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
@ปรับ‘เงินเดือนแรกบรรจุ’ปีละ 10%-'ป.ตรี'รับ 1.8 หมื่น
สรุปผลการศึกษา
สำนักงาน ก พ. เห็นควรรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบ ระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
วัตถุประสงค์
เพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ และเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยผู้ใด้รับผลกระทบซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ
หลักการ
อัตราเงินเดือนแรกบรรจุมีความเหมาะสมและแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา และอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน
และอัตราเงินเดือนหลังการปรับ จะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากจนเกินควร
เป้าหมาย
ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี
และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย
แนวทางดำเนินการ
1.การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) ดังนี้
2.การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับใช้พร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
กลุ่มเป้าหมาย
ครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ
ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ
การมีผลใช้บังคับ
ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2568
ประมาณการงบประมาณ
การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการ เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากประมาณรายจำยประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป
การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชีพชั่วคราว
เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในช่วงปี พ.ศ.2555 กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เห็นควรพิจารณาปรับเพดานเงินเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท
และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เตือนละ 11,000 และปรับเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท
การปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวในครั้งนี้ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และผู้รับบำนาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ต่อไป
@ชงยุบตำแหน่งว่างกรณี‘เกษียณ’-ยกเลิก‘ยืมตัวช่วยราชการ’
การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ
นอกจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการแล้ว สำนักงาน ก.พ เห็นควรมีมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย
โดยเบื้องต้นอาจพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ดังต่อไปนี้
1.การบริหารจัดการอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)
คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยความเห็นชอบของ ครม. จะเป็นผู้กำหนดมาตรการ/แนวทาง/นโยบายในการกระตุ้นให้ส่วนราชการเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน
โดยการยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณของตำแหน่งในสายงานสนับสนุน (เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการจัดทำและดำเนินการตาม Digital Transformation Plan ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ถูกยุบเลิกตามแนวทางดังกล่าว (เต็มจำนวน) โดยส่วนราชการจะจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 1 สัญญาจ้าง (ไม่เกิน 4 ปี) ทั้งนี้ หากมีเหตุผลและความจำเป็น คพร. อาจพิจารณาให้ต่อสัญญาได้เป็นรายกรณี
2.การบริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ
เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า ปัจจุบันส่วนราชการต่างๆ มีการอนุมัติให้ข้าราชการไปช่วยราชการในส่วนราชการอื่นเป็นจำนวนมาก การช่วยราชการในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการต้นสังกัด
ดังนั้น เพื่อให้การใช้กำลังคนภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด (Workforce Optimization) จึงเห็นควรมีมาตรการเพื่อจำกัดการช่วยราชการให้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น/หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น
โดย ครม.อาจมีมติเป็นหลักการในทำนองเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2554 (เรื่อง การปรับปรุงอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2545 (เรื่อง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการให้ข้าราชการไปช่วยราชการ)
กล่าวคือ ให้ทบทวนหรือยกเลิกการช่วยราชการทั้งหมด และต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการผู้ใดไปช่วยราชการที่ใด ให้เสนอขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย
@ออก‘มาตรการเชิงบังคับ’เชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคน
3.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ในฐานะต้นสังกัดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศหรือฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลเป็นของตนเอง ทำให้ข้อมูลกำลังคนภาครัฐประเภทต่างๆ กระจายตัวอยู่ในแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลขาดข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายกำลังคนภาครัฐให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการใช้ประโยชน์กำลังคนภาครัฐ ตลอดจนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดไปยังภารกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
จึงเห็นควรมีมาตรการเชิงบังคับให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนกับระบบโปรแกรมกลางด้านสารสนเทศทรัพยากรบุคคล (DPIS Center) ของสำนักงาน ก.พ. ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
4.การพัฒนาระบบค่าตอบแทนภาครัฐในระยะต่อไป
สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนภาครัฐให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาวการณ์
โดยมุ่งเน้นให้ระบบค่าตอบแทนภาครัฐเป็นเครื่องมือในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ การจ่ายค่าตอบแทนที่สะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง (Performance Based Pay) ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของ รายงานผลการศึกษาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ’ ที่ สำนักงาน ก.พ. เสนอต่อ ครม. ก่อนที่ ครม. 'เศรษฐา ทวีสิน' จะมีมติเห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
อ่านประกอบ :
งบเพิ่ม 1.6 หมื่นล.! ครม.เคาะปรับ‘เงินเดือนแรกบรรจุ’ขรก.-จบ‘ป.ตรี’รับ 1.8 หมื่นบาทปี 68
ชำแหละงบปี 67 ‘รบ.เศรษฐา’ตัดงบ‘ก.เกษตร’-‘กลาโหม’เพิ่ม1.9% ค่าใช้จ่าย‘จนท.รัฐ’1.2 ล้านล.
ย้อนดู 5 รัฐบาล จาก‘ทักษิณ-ประยุทธ์’ ขึ้นเงินเดือน‘ขรก.’ 6 ครั้ง-รายจ่ายขยับแตะ 6 แสนล.
นายกยันขึ้นเงินเดือนขรก.เป็นการศึกษา ไม่ได้ให้เพิ่มทันที-ตั้งคกก.ย่อยแก้ปัญหา EEC
‘ปานปรีย์’ นัด 11 พ.ย. 66 ประชุมศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการนัดแรก
ครม.สั่ง‘ปานปรีย์-สำนักงาน ก.พ.’ ศึกษา‘ความเป็นไปได้-ผลกระทบ’ปรับขึ้นเดือน‘ขรก.-จนท.รัฐ’