ครม.เห็นชอบปรับ ‘อัตราเงินเดือนแรกบรรจุ’ ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ จบ ‘ป.ตรี’ ได้เงินเดือน 1.8 หมื่นบาทในปี 68 ใช้งบเพิ่ม 1.6 หมื่นล้าน พร้อมปรับ ‘เพดาน’ เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวฯ ช่วย 'จนท.รายได้น้อย' ใช้งบปีละ 3 พันล้าน
..................................
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากระดับ 15,000 บาท ในปัจจุบัน เป็นไม่ต่ำกว่า 18,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี (ปี 2567-2568) หรือปรับขึ้นเงินเดือนปีละ 10%
สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ซึ่งปัจจุบันมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 9,400 บาท ให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 2 ครั้ง โดยมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 11,380 บาท ภายในเวลา 2 ปี ,ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีวุฒิการศึกษาในระดับ ปวส. ซึ่งปัจจุบันมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 11,500 บาท ให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 2 ครั้ง โดยมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 13,920 บาท ภายในเวลา 2 ปี
ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งปัจจุบันมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 17,500 บาท ให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 2 ครั้ง โดยมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 21,180 บาท ภายในเวลา 2 ปี และข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 21,000 บาท ให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 2 ครั้ง โดยมีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 25,410 บาท ภายในเวลา 2 ปี
“การปรับเงินเดือนข้าราชการครั้งนี้ ไม่ได้ปรับทั่วหน้า คนที่รับราชการมาแล้ว จะไม่ได้ปรับเงินเดือนยกขึ้นทั้งแผง จะปรับแค่เงินเดือนแรกบรรจุเท่านั้น” นายชัย กล่าว
ส่วนการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ให้ข้าราชการปัจจุบันที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 18,000 บาท ได้รับการชดเชยย้อนหลัง โดยจะมีการปรับเงินเดือน 2 ครั้ง พร้อมๆกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2
นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้ผู้ที่ได้เงินเดือนไม่ถึง 14,600 บาท ได้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีกไม่เกิน 2,000 บาท และเมื่อรวมเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพฯแล้ว จะต้องไม่เกิน 14,600 บาท ส่วนผู้ที่ได้เงินเดือนไม่ถึง 11,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวฯเพิ่มจากเงินเดือน แต่เมื่อรวมเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพฯแล้ว จะต้องไม่เกิน 11,000 บาท
นายชัย กล่าวว่า การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 โดยงบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จะอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท ส่วนการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 2 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2568 โดยงบประมาณในปีที่ 2 (12 เดือน) จะอยู่ที่ 8,800 ล้านบาท ส่วนการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะใช้งบประมาณปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ ให้ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 ระหว่าง 10,340-11,380 บาท และปีที่ 2 ระหว่าง 11,380-12,520 บาท จากปัจจุบัน 9,400-10,340 บาท ,ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 ระหว่าง 12,650-13,920 บาท และปีที่ 2 ระหว่าง 13,920-15,320 บาท จากปัจจุบัน 11,500-12,650 บาท
ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 ระหว่าง 16,500-18,150 บาท และปีที่ 2 ระหว่าง 18,150-19,970 บาท จากปัจจุบัน 15,000-16,500 บาท ,ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 ระหว่าง 19,250-21,180 บาท และปีที่ 2 ระหว่าง 21,180-23,300 บาท จากปัจจุบัน 17,500-19,250 บาท
และผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอง ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 ระหว่าง 23,100-25,410 บาท และปีที่ 2 ระหว่าง 25,410-27,960 บาท จากปัจจุบัน 21,000-23,100 บาท
อ่านประกอบ :
ย้อนดู 5 รัฐบาล จาก‘ทักษิณ-ประยุทธ์’ ขึ้นเงินเดือน‘ขรก.’ 6 ครั้ง-รายจ่ายขยับแตะ 6 แสนล.
นายกยันขึ้นเงินเดือนขรก.เป็นการศึกษา ไม่ได้ให้เพิ่มทันที-ตั้งคกก.ย่อยแก้ปัญหา EEC
‘ปานปรีย์’ นัด 11 พ.ย. 66 ประชุมศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการนัดแรก
ครม.สั่ง‘ปานปรีย์-สำนักงาน ก.พ.’ ศึกษา‘ความเป็นไปได้-ผลกระทบ’ปรับขึ้นเดือน‘ขรก.-จนท.รัฐ’